ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สค.พม.ร่วมกับสถาบันรามจิตติ แถลง“ผลการใช้พลังข้อมูลสร้างความเข้มแข็งครอบครัวในพื้นที่นำร่อง”

วันที่ลงข่าว: 05/07/16

วันนี้ (4 ก.ค. 2559) เวลา 14.15 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วย ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ร่วมกันแถลงข่าว“ท้องถิ่นกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัวด้วยพลังข้อมูลและกลไกการจัดการเชิงพื้นที่” ณ ห้องประชุม Venus โรงแรม Miracle Grand เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

 

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า การแถลงข่าว “ท้องถิ่นกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัวด้วยพลังข้อมูลและกลไกการจัดการเชิงพื้นที่” ในวันนี้ เป็นการนำเสนอผลการดำเนินงานตามโครงการ โครงการพัฒนากลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้าง ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ซึ่ง สค. ได้ดำเนินงานร่วมกับสถาบันรามจิตติมาตลอดทั้งปี 2558 (ก.ค. 58 – มิ.ย. 59) ซึ่งดำเนินการในศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัด (นครสวรรค์, ศรีสะเกษ, ระยอง, ราชบุรีและพังงา) เป็นการนำร่องการใช้ประโยชน์ของข้อมูลความรู้ ทุนที่หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มีอยู่มาใช้เป็นฐานในการตัดสินใจในการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมถึงการบูรณาการงานทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาครอบครัวอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม

 

นายเลิศปัญญา กล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันทิศทางการดำเนินงานของ สค. มุ่งเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายในการทำงานทุกระดับ ตลอดจนการพัฒนาระบบให้เกิดความเชื่อมโยง และการดึงพลังภาคีทุกภาคส่วนมาร่วมทำงาน เช่น ในครั้งนี้สถาบันรามจิตติได้เข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาในการทำงานด้านครอบครัวโดยมุ่งใช้ข้อมูล ความรู้ นำไปสู่การออกแบบกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับโจทย์ ความต้องการและบริบทของแต่ละพื้นที่ พร้อม ๆ กับการสร้างและพัฒนานวัตกรรมเพื่อการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ทาง สค. ก็จะได้สนับสนุนโครงการดังกล่าวให้เกิดความต่อเนื่องเป็นรูปธรรม โดยหวังว่าผลการดำเนินงานจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีไปสู่ครอบครัวและชุมชน และหวังว่าพลังของการทำงานบูรณาการทั้งด้านข้อมูลความรู้ เครือข่ายและการดึงทรัพยากรต่าง ๆ ในชุมชนมาช่วยในการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถขับเคลื่อน และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทางและสามารถต่อยอดขยายพื้นที่ และขยายผลในระยะยาวต่อไปได้

 

ดร.จุฬากรณ์ เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินโครงการพัฒนากลไกการเชื่อมต่อข้อมูลและการทำงานเชิงพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ได้เน้นไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวในครอบครัว 4 ลักษณะ ได้แก่ ครอบครัวฐานะยากจน ครอบครัวที่มีผู้พิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง ครอบครัวลักษณะเฉพาะ เช่น ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่ผู้สูงอายุดูแลเด็กตามลำพัง ครอบครัวผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง รวมถึงครอบครัวที่พบเหตุการณ์กระทำความรุนแรงในครอบครัว โดยพบว่า 1 ใน 3 ครอบครัวที่เด็กถูกทิ้งอยู่กับคนแก่ มีฐานะยากจน และยังพบปัญหาครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีเด็กเยาวชน ที่อยู่ในบริบทเสี่ยงอาจเผชิญกับปัญหา เช่น ความรุนแรง เพศ พฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงส่งสัญญาณการทำงานแก้ปัญหาหรือการเยียวยา แต่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเชิงรุกที่ต้องตอบโจทย์และทันต่อสถานการณ์แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงต้องมีการบูรณาการข้อมูลและการวิเคราะห์ประเด็นสำคัญเร่งด่วนในพื้นที่ร่วมกัน นอกจากนี้ยังพบว่า รูปแบบของการทำงานเชิงพื้นที่นั้นไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ดังนั้นจึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละพื้นที่จึงจะทำให้เห็นแนวทางการทำงานแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ ดร.จุฬากรณ์ กล่าวในตอนท้าย

 

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนา “บทเรียนการขับเคลื่อนกลไกท้องถิ่นในการเชื่อมต่อข้อมูลสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของครอบครัวเชิงพื้นที่" การแถลงข่าว “ท้องถิ่นกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งครอบครัวด้วยพลังข้อมูลและกลไกการจัดการเชิงพื้นที่” ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยตัวแทนจาก ศพค. นำร่องที่เข้าร่วมโครงการจาก 5 จังหวัด (นครสวรรค์ ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ พังงา) และตัวแทนภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่ขับเคลื่อนงานร่วมกับ ศพค. หน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครอบครัว สื่อมวลชน บุคลากรจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำร่องทั้ง 5 จังหวัด คณะทำงานโครงการ และบุคลากรของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รวม 100 คน

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181