ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: สังคมบูรณาการเพื่อการเข้าถึงและเสริมพลังของคนทั้งมวล

วันที่ลงข่าว: 27/06/16

คนทุกคนในสังคมต้องสามารถเข้าถึงการได้รับบริการสาธารณะโดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขา ผู้นั้นจะเป็นชาย หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่ง คนที่มีรสนิยมทางเพศหลากหลายตามที่เขาเหล่านั้น ต้องการ รวมถึงคนพิการทุกประเภท ภายใต้สังคมบูรณาการ

 

บูรณาการ คือการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันโดยรวมหรือการผสมผสานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ส่วนคำว่า สังคมบูรณาการ (Inclusive Society) หมายความว่า สังคมเดียวกันโดยรวมหรือผสมผสานส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกันโดยไม่แบ่งแยกออกจากกัน เพื่อจุดประสงค์คือความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ของสังคม

 

นายมณเฑียร บุญตัน รองประธาน คนที่ 1 ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ได้กล่าว ในการสัมมนาเรื่อง สังคมบูรณาการเพื่อคนพิการและทุกคนในสังคม ว่าหากกำหนดให้คนพิการเป็นตัวชี้วัดความสุขของสังคม ย่อมจะเป็นสิ่งที่ดี ต่อสังคม ดังนั้นจึงต้องขจัดการเลือกปฏิบัติโดย ไม่เป็นธรรมต่อคนพิการให้หมดไป และส่งเสริม ความเสมอภาคให้มากขึ้น เพราะการเลือกปฏิบัติจะทำให้ผู้พิการสูญเสียโอกาส และเสียเปรียบ การที่จะทำให้สังคมมีความร่มเย็นเป็นสุขได้นั้นทุกคนต้องมีความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน

 

ส่วนเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเข้าถึง (Accessibilities) การได้รับบริการต่างๆ ของคนพิการ อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ การจัดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น โดยหลักการก็คือ การทำให้ที่อยู่อาศัย การขนส่งสาธารณะ สามารถเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีและสารสนเทศได้

 

จึงเห็นสมควรให้นำเรื่องดังกล่าวไปบัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อให้มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และต้องสร้างกลไกหรือตัวเชื่อมสำหรับการบริการ ต่างๆ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐแบบบูรณาการร่วมกัน ในรูปแบบศูนย์บริการคนพิการทั่วไปโดยไม่สังกัดกระทรวง ทบวง กรม โดยให้ทำหน้าที่ส่งเสริมความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมสาธารณะต่างๆ ได้ และเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อผลักดันให้คณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการมีฐานะเป็นคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และมีการปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นมืออาชีพ มีอิสระ มีธรรมาภิบาล เพื่อป้องกันการเรียกเงิน งบประมาณคืนโดยรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558

 

สถานีพัฒนาสังคมสัปดาห์นี้ นำเสนอ ข้อเสนอแนะจากเวทีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 ของสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และจากการประชุมนี้ได้คัดเลือกให้นายมณเฑียร บุญตัน เป็นนายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยด้วย

 

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บรรยาย เรื่อง นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการว่า กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมุ่งเน้นเรื่องสำคัญ ดังนี้ให้โอกาสสำหรับคนพิการเข้าถึงบริการ สาธารณะต่างๆ ที่รัฐหรือองค์กรต่างๆ จัดให้ เช่น ทางลาด ลิฟต์ เป็นต้น และส่งเสริมการสร้างศักยภาพโดยการรณรงค์ให้ภาครัฐและภาคเอกชน ทำการจ้างงานคนพิการในอัตราส่วน 100 ต่อ 1 คน แต่ยังพบว่ามีภาครัฐและภาคเอกชนบางแห่งอ้างว่าไม่ทราบว่ามีกฎหมายให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้เพราะว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้บัญญัติให้การรับรองไว้แล้ว นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนบางแห่งยังอ้างว่า คนพิการไม่มีคุณสมบัติตรงตามตำแหน่งที่กำหนดไว้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาศักยภาพ คนพิการเพื่อรองรับกับตำแหน่งงานเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐและภาคเอกชนควรให้โอกาส คนพิการได้ประกอบอาชีพในตำแหน่งอื่นๆ ที่คนพิการ สามารถประกอบอาชีพได้ เช่น งานด้านธุรการ งานด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มทักษะและหาตัวช่วยในการดำรงชีวิตให้คนพิการ รวมถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศสำหรับ คนพิการ ให้งบประมาณช่วยเหลือจากกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทั้งในส่วนของ เงินกู้ยืม และงบประมาณช่วยเหลือสร้างบ้าน โดยใน พ.ศ. ๒๕๕๘ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ ให้งบประมาณสนับสนุนการสร้างบ้าน จำนวน ๒,๔๘๔ หลัง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา

 

และที่สำคัญคือต้องให้เกียรติคนพิการ คนพิการต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป และให้กำลังใจกับคนพิการ

 

นายอนุชา รัตนสินธุ์ นายกสมาคมสภา คนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากการทำงานในฐานะนายกสมาคมสภาคนพิการ ทุกประเภทแห่งประเทศไทยได้รับความร่วมมือ จากองค์กรหลายๆ องค์กรเป็นอย่างดี แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับคนพิการทุกประเภทจะดีขึ้นกว่าในอดีตก็ตาม แต่ก็ยังปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีและสารสนเทศ และสิ่งอำนวย ความสะดวกสาธารณะอื่นๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญและมีผลกระทบโดยตรงต่อคนพิการทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายยังมีข้อจำกัดด้านการสื่อสารอยู่ จึงส่งผลให้คนพิการไม่ได้รับการจ้างงานอย่างเต็มที่

 

โดยส่วนใหญ่แล้วคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายจะได้รับการจ้างงานในหน่วยงานส่วนกลางมากกว่าในหน่วยงานส่วนภูมิภาค ดังนั้นจึงขอเสนอให้นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภท แห่งประเทศไทยคนต่อไปมุ่งเน้นและคำนึงถึงการ จ้างงานให้ครอบคลุมคนพิการที่อยู่ในสภาคนพิการ ทุกประเภทในแต่ละจังหวัดด้วย และการทำงานต่อไป ในอนาคตข้างหน้าคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกันแบบ บูรณาการกับคนพิการทุกประเภท นอกจากนั้นยังเห็น ควรให้สภาคนพิการทุกประเภทในแต่ละจังหวัดมีการจัดโครงสร้างภายในองค์กรเช่นเดียวกับสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเภทไทยเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านคนพิการต่อไป

 

นางนุชจารี สว่างวรรณ กรรมการและ นายทะเบียน สมาคมสภาคนพิการทุกประเภท แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในมุมมองขององค์กรเพื่อ ผู้บกพร่องทางจิตหลายๆ องค์กรควรทำงานร่วมกัน แบบบูรณาการ ส่วนองค์กรใดที่มีความเข้มแข็ง อยู่แล้ว ก็จะทำหน้าที่เป็นองค์กรที่คอยให้ความช่วยเหลือ องค์กรที่ยังไม่มีความเข้มแข็งหรือองค์กรที่เกิดใหม่ มีข้อสังเกตว่าสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตนั้น มีเครือข่ายอยู่ทุกจังหวัด แต่ในบางจังหวัดยังไม่มีความพร้อมและความเข้มแข็งเพียงพอ อีกทั้งยังจะต้องเผชิญกับปัญหาและข้อจำกัดทางด้านครอบครัวและสังคม ในขณะเดียวกันสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยและองค์กรเพื่อผู้บกพร่องทางจิตในระดับภูมิภาคก็ได้พยายามผลักดันและสร้างความเข้าใจให้กับครอบครัวและสังคมมาโดยตลอด เพื่อที่ จะทำให้ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางจิตสามารถ กลับมายืนอยู่ได้ในสังคม

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการประกอบอาชีพของผู้บกพร่องทางจิต ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนน้อยมาก โดยส่วนใหญ่แล้วอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้บกพร่องทางจิตก็คืออาชีพอิสระ เพราะว่าผู้ป่วยจะต้องบริโภคยาอยู่ตลอด และ ผลจากการบริโภคยาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการง่วงนอนและอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานใน ระบบได้

 

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ อุปนายก คนที่ 1 สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญสำหรับคนพิการคือ อุปสรรค ทั้งที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมและความยากจน จึงไม่สามารถทำให้คนพิการสร้างสภาวะที่จะหลุดพ้น จากความยากจนได้ ดังนั้นคนพิการต้องพยายาม ลดอุปสรรคโดยการปลดเปลื้องตนเองออกจาก ความยากจน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน จากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อกระจายสู่ท้องถิ่นให้ได้ ดังนั้น จึงเห็นควรผลักดันเรื่องดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 5

 

นายศุภชีพ ดิษเทศ อุปนายก คนที่ 4 สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บทบาทขององค์กรด้านคนพิการในการ ขับเคลื่อนสังคมบูรณาการเพื่อคนพิการและทุกคน ในสังคมภายหลังจากที่มีการบังคับใช้กฎหมาย ด้านคนพิการตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน องค์กรด้านคนพิการได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด เพื่อที่จะให้คนพิการได้รับโอกาสเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบว่ามีอุปสรรคสำหรับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับภูมิภาค และยังขาดแคลน งบประมาณอุดหนุนจากหน่วยงานภาครัฐอยู่ นอกจากนี้ องค์กรด้านคนพิการต่างๆ ควรจะมีการทำงานร่วมกัน แบบบูรณาการ

 

หมายเหตุ ขอแสดงความยินดีกับ นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ที่ได้รับการเลือกเป็นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติ วาระปี 2560-2563 โดยมีการคัดเลือกเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ประชุมรัฐภาคี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities-CRPD) สมัยที่ 9 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายมณเฑียร ผู้สมัครจากประเทศไทยได้รับเลือก ให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 25 มิถุนายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก