ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นั่งวีลแชร์ขึ้นรถไฟสายสีม่วง ส่อง"สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ"

วันที่ลงข่าว: 23/06/16
เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร
 
 มองผิวเผินผ่านสายตาคนทั่วไป ตั้งแต่ตัวอาคารสถานี รางรถไฟ สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างบันไดเลื่อนขึ้นลง ทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ห้องน้ำ ชานชาลา จนถึงตู้โดยสาร ทุกอย่างดูใหม่เอี่ยม หรูหรา สะดวกสบาย 
ทว่าในสายตาผู้พิการ การมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีม่วงกลับสร้างความหนักอกให้ เนื่องจากการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการยังเต็มไปด้วยอุปสรรคข้อจำกัดที่ทำให้"ไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก"
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สร้างขึ้นภายใต้งบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาท มีความยาว 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี กำลังอยู่ในช่วงทดลองวิ่ง คาดว่าจะเปิดใช้อย่างเป็นทางการเดือนส.ค.นี้

 
นั่งวีลแชร์ขึ้นรถไฟสายสีม่วง
เช้าตรู่ของวันจันทร์อันแสนวุ่นวาย ณ ป้ายรถประจำทางหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวสต์เกท นนทบุรี ผู้คนต่างรอรถเพื่อไปทำงานให้ทันเวลา ท่ามกลางการจราจรติดขัดแทบไม่ขยับเขยื้อน
ตอนนั้นเอง ภาพที่หลายคนไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตพลันปรากฎขึ้น ขบวนผู้พิการบนรถวีลแชร์นับสิบกำลังเข็นพาตัวเองเคลื่อนตัวไปอย่างเชื่องช้าและระมัดระวัง พวกเขาเลือกเสี่ยงลงไปบนถนน สวนทางกับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ที่แล่นผ่านมาอย่างน่าหวาดเสียว เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงฟุตบาทที่มีพื้นผิวขรุขระ ไม่ราบเรียบ แถมยังมีเสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ หาบเร่แผงลอยเกะกะกีดขวาง มุ่งหน้าไปยังทางเข้าสถานีตลาดบางใหญ่ ฝั่งที่มีการติดตั้งลิฟท์โดยสาร ซึ่งห่างออกไปถึง 350 เมตร ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะถึงสถานี จากนั้นจึงค่อยๆออกแรงเข็นรถขึ้นทางลาดสำหรับผู้พิการ แต่กลับต้องพบว่าลิฟท์โดยสารใช้การไม่ได้ เจ้าหน้าที่สถานีจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการแบกทั้งคนทั้งรถวีลแชร์ขึ้นบันไดอย่างทุลักทุเล ผ่านห้องน้ำผู้พิการที่ดูสะอาดเรียบร้อย ผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติที่ติดตั้งอยู่ในระดับสูงกว่าผู้พิการบนรถเข็นจะเอื้อมถึง ก่อนเข้าสู่ภายในโบกี้ด้วยการสะดุดเล็กน้อย เนื่องจากพื้นรถกับชานชาลาต่างระดับกัน สุดท้ายก็สามารถขึ้นรถไฟได้สำเร็จ รวมระยะเวลาทั้งสิ้นกว่า 30 นาที 
เมื่อฟุตบาทไม่สามารถใช้ได้ ผู้พิการต้องเสี่ยงลงไปเข็นบนถนนเพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าตลาดบางใหญ่ ท่ามกลางความวุ่นวายของเช้าวันจันทร์
 
ถ้าเป็นคนทั่วไปใช้เวลาไม่กี่นาที เดินเข้าสถานี ขึ้นบันไดเลื่อน ซื้อตั๋ว ขึ้นรถไฟเรียบร้อย แต่คนพิการต้องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ลำบากลำบนไม่รู้กี่ต่อกว่าจะได้ใช้บริการ
มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ชายพิการวัยสี่สิบเศษ ประธานคณะติดตามการทำงานระบบราง ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ บอกพลางปาดเหงื่อที่ชุ่มใบหน้า 
วันนี้เขานำผู้พิการนั่งวีลแชร์จำนวนกว่า 10 คน มาทำภารกิจจำลองสถานการณ์ชีวิตประจำวันของผู้พิการที่ต้องใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเข้าไปทำงานในเมือง หวังสะท้อนให้สังคมเห็นถึงความยากลำบากในการเดินทาง ขณะเดียวกันต้องการสำรวจตรวจตราสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการว่า แต่ละสถานีมีครบถ้วน ใช้งานได้จริงหรือไม่
มองผ่านกระจก วิวทิวทัศน์เบื้องล่างเรียงรายด้วยเรือกสวนแมกไม้เขียวขจี สลับกับบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวสุดลูกหูลูกตา ผู้โดยสารหลายคนพากันตื่นเต้นดีใจ ชื่นชมทัศนียภาพอันงดงามบนขบวนรถไฟสายใหม่ป้ายแดงที่อยู่ระหว่างช่วงทดลองใช้ฟรี ก่อนจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนหน้า
ปทุม สุดศรี ผู้พิการสาววัย 50 ชาวเมืองนนท์ เธอเล่าว่า ปกติใช้บริการแต่แท็กซี่มิเตอร์เพื่อเข้าเมืองไปทำงาน ค่าเดินทางวันละประมาณ 200 บาท วันไหนอยากไปเที่ยวห้างใหญ่ใจกลางเมืองก็ต้องเสียเงินในการเดินทางเพิ่มเป็น 300-400 บาท
วันนี้กำลังมีรถไฟฟ้ามาถึงบ้านแล้ว ดีใจมากๆค่ะ คิดว่าไปไหนมาไหนคงสะดวกขึ้น ประหยัดค่าเดินทางลงไปได้เยอะ รถก็ไม่ติด ไม่ต้องเสียเวลาเรียกแท็กซี่"เธอยิ้มกว้างอย่างมีความสุข 
ปทุม สุดศรี ผู้พิการวัย 50 ปีต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยยกขึ้นตู้โดยสาร เนื่องจากพื้นรถกับชานชาลาต่างระดับไม่เท่ากัน

 
ขณะที่ สว่าง ศรีสม ผู้พิการบนรถวีลแชร์อีกราย อาศัยอยู่ย่านรัชดาภิเษก แต่เขาบอกว่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ทีบ่อยนัก เนื่องจากสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการไม่สามารถใช้ได้จริง บางสถานีไม่มีทางลาด บางสถานีไม่มีลิฟท์ การจะรอให้เจ้าหน้าที่มาคอยช่วยเหลือทุกครั้งนับว่าเสียเวลามาก เมื่อระบบไม่เอื้อ จึงต้องใช้บริการแอพเรียกแท็กซี่ ซึ่งเปลืองเงินมาก
ความฝันของคนพิการคือ อยากออกจากบ้าน ไปใช้ชีวิต ไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ไปเที่ยวเหมือนคนทั่วไป โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองได้ เพียงแต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นั่นคือ ระบบขนส่งมวลชน เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวก แต่นี่ดูสิ ทางเท้าที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าก็พัง ไม่ราบเรียบ มีคนขายของ เสาไฟ ตู้โทรศัพท์กีดขวาง ต้องลงไปวิ่งบนถนน เสี่ยงโดนรถชน เพราะรถวีลแชร์อยู่ในระดับต่ำอาจทำให้รถใหญ่มองไม่เห็น กว่าจะขึ้นรถได้ต้องเผื่อเวลาเดินทางเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง ยิ่งชั่วโมงเร่งด่วนนี่ไม่ต้องพูดถึง"เขาส่ายหัวไปมาอย่างเซ็งๆ
แม้ทางการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ทุกสถานีคอยอำนวยความสะดวกให้คนพิการ คอยถือสัมภาระ พาขึ้นลิฟท์ ช่วยซื้อตั๋วโดยสาร พาขึ้นไปนั่งในขบวนรถไฟ จนถึงติดต่อประสานงานกับสถานีปลายทางให้เจ้าหน้าที่มารับช่วงต่อ แต่ผู้พิการทุกคนยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า อยากยืนหยัดพึ่งพาตัวเองมากกว่าคอยให้คนมาดูแลตลอดเวลา 
หลังจากเข็นวีลแชร์หาประตูทางเข้าฝั่งที่มีทางลาดและลิฟท์โดยสาร แต่ต้องพบว่าลิฟท์ใช้การไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยแบกขึ้นบันไดอย่างทุลักทุเล

เพราะการช่วยเหลือคนพิการที่ยั่งยืนที่สุดคือ ช่วยให้เขาพึ่งพาตัวเองได้ครับ
หลังจากเข็นวีลแชร์หาประตูทางเข้าฝั่งที่มีทางลาดและลิฟท์โดยสาร แต่ต้องพบว่าลิฟท์ใช้การไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยแบกขึ้นบันไดอย่างทุลักทุเล

สำรวจ"สิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ"
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) สร้างขึ้นภายใต้งบประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาท โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีความยาว 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี มีทางเข้าออก 64 ทางเข้าออก 
จากการสำรวจการเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ พบว่า การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ทุกสถานีล้วนมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก
หลังจากเข็นวีลแชร์หาประตูทางเข้าฝั่งที่มีทางลาดและลิฟท์โดยสาร แต่ต้องพบว่าลิฟท์ใช้การไม่ได้ สุดท้ายจึงต้องให้เจ้าหน้าที่ช่วยแบกขึ้นบันไดอย่างทุลักทุเล

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) มีความยาว 23 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 16 สถานี มีทางเข้าออก 64 ทางเข้าออก จากการสำรวจของภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ พบว่า ทุกสถานีล้วนมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก
 
มานิตย์ จำแนกปัญหาออกเป็น 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วยดังนี้
1.ติดตั้งลิฟท์และทางลาดไม่ครบทุกทางเข้าออกที่จำเป็น จากพื้นถนนสู่ชั้นจำหน่ายตั๋วจะมีทางเข้าออก 4 จุด แต่มีการสร้างลิฟท์และทางลาดเพียงแค่ 2 จุด วางไว้ทะแยงกัน 2 ฝั่งถนนละ 1 ตัว นั่นหมายความว่ามีการจัดทำลิฟท์และทางลาดเพียงครึ่งเดียว ปัญหาคือมี 3 สถานี ได้แก่ สถานีบางพลู สถานีแยกนนทบุรี 1 และสถานีบางซ่อน ถูกสร้างคร่อมอยู่บนทางแยก เมื่อมีลิฟท์และทางลาดไม่ครบทุกทางเข้าออก ทำให้ถูกตัดขาด ไม่สามารถสัญจรถึงกันได้
2.ใช้อุปกรณ์ผิดประเภททดแทนการติดตั้งลิฟท์และทางลาด ยกตัวอย่างสถานีบางพลูและสถานีพระนั่งเกล้า มีการติดตั้ง Platform Lift ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้เป็นเพียงอุปกรณ์ทดแทนกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเท่านั้น ปัจจุบันแทบไม่มีประเทศไหนใช้เพิ่มเติมแล้ว ที่น่าวิตกคือ สถานีมีความชันและสูงกว่า 8 เมตร การเลือกใช้ Platform Lift จึงมีโอกาสเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิตได้ 
3.จุดทางเชื่อมทางเดินลอยฟ้า (Skywalk) ทำให้คนพิการที่ใช้รถเข็นไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวก ยกตัวอย่างสถานีบางซ่อน ทางเชื่อมสถานีมีบันได 3 ตอน ตอนละ 10 ขั้นเป็นอย่างน้อย ซึ่งคนพิการทางด้านการเคลื่อนไหวที่ใช้รถเข็น คนที่เดินไม่สะดวก เช่น คนเจ็บ คนท้อง ผู้สูงอายุ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มีกระเป๋าเดินทางหนัก จะไม่สามารถเดินทางได้
4.ปัญหาพื้นที่ใต้สถานีไม่สามารถสัญจรได้ สภาพแวดล้อมทุกสถานีล้วนมีปัญหารอบพื้นที่คล้ายกันคือ ไม่มีทางลาด ทางเท้าเสียหาย หรือมีอุปสรรคต่างๆ เช่น ป้ายโฆษณา ตลาด เสาไฟฟ้า ตู้โทรศัพท์ รวมทั้งไม่มีจุดข้ามถนนหรือตรอกซอยที่ปลอดภัย
ยังไม่นับปัญหาเบ็ดเตล็ดอื่นๆ อาทิ ที่จอดรถคนพิการยังมีไม่ครบทุกสถานี เครื่องหมายนำทางผู้พิการตาบอดใช้งานไม่ได้จริง ไม่มีอุปกรณ์บอกข้อมูลด้วยเสียงสำหรับคนหูหนวก เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ตู้โทรศัพท์ และเคาท์เตอร์เซอร์วิสสูงเกินระดับสายตาคนนั่งพิการรถเข็น ห้องน้ำคนพิการยังไม่ตรงตามข้อกำหนดมาตรฐาน ความต่างระดับของพื้นรถกับชานชาลา เจ้าหน้าที่ยังขาดการประสานงาน เป็นต้น
ภาพรวมของปัญหาคือ รัฐยังไม่เข้าใจคนพิการอย่างแท้จริง เรื่องที่เราซีเรียสที่สุดคือการเข้าถึงสถานี ต้องให้เขาออกจากบ้านเดินทางไปสู่ระบบขนส่งมวลชน เพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ทำให้เขามั่นใจว่าจะสามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกไม่ติดขัด นี่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ยกตัวอย่างเรื่องลิฟท์ โครงการรถไฟสายสีม่วงมีงบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ถ้าก่อสร้างลิฟท์และทางลาดตัวละ 10 ล้านบาทให้ครบทุกทางเข้าออก 64 ทางเข้าออก 64 ตัวเท่ากับ 640 ล้านบาท คิดเป็นแค่ 1 % ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่านั้น ถือว่าขี้ประติ๋วมาก ไหนๆรัฐก็เสียเงินแบกรับภาระช่วยเหลือคนพิการอยู่แล้ว ทำไมไม่ช่วยให้คนพิการออกมาใช้ชีวิต ไปไหนมาไหนได้ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระสังคม ถ้าเขาทำงานเลี้ยงตัวเองได้ก็สามารถจ่ายภาษีคืนให้รัฐได้ด้วย นี่คือการแก้ปัญหาคนพิการที่ถูกต้องและยั่งยืนที่สุด

สถานีที่ถูกสร้างคร่อมอยู่บนทางแยก เช่น สถานีแยกนนทบุรี 1 เมื่อมีลิฟท์และทางลาดไม่ครบทุกทางเข้าออก ทำให้ถูกตัดขาด ไม่สามารถสัญจรถึงกันได้

ปัญหาทางเท้าขรุขระ ไม่ราบเรียบ เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง ถือเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก

ผู้พิการนั่งรถเข็นบอกเป็นเสียงเดียวว่า การใช้อุปกรณ์ Platform Lift ในสถานีที่มีความสูงชันถึง 8 เมตร เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเป็นอย่างยิ่ง
 
สร้างก่อนดีกว่าตามแก้ทีหลัง อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
ในฐานะประธานคณะติดตามการทำงานระบบรางมายาวนาน ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ มานิตย์บอกว่า ถ้าไม่สร้างระบบอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการให้ครบถ้วนถูกต้องและใช้งานได้จริงตั้งแต่ต้น การจะตามไปแก้ไขในภายหลังนั้นเป็นเรื่องยากลำบากมาก 
บทเรียนราคาแพงที่สุุดหนีไม่พ้นกรณีเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรุงเทพมหานครและรถไฟฟ้าบีทีเอสติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการให้ครบทั้ง 23 สถานีให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จนบัดนี้ล่วงเลยเวลาที่กำหนดแล้วยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากอุปสรรคนานัปการ ทั้งผังเมืองเปลี่ยน สถานประกอบการธุรกิจ คอนโด บ้านพักอาศัยผุดขึ้นเรียงรายจนยากต่อการขุดเจาะต่อเติม หนำซ้ำงบประมาณในการก่อสร้างก็เพิ่มทวีคูณเป็นหลายเท่าตัว
ถ้าสายสีม่วงไม่ทำให้เรียบร้อยตั้่งแต่เริ่มต้น สายสีอื่นๆที่กำลังจะทำอีกทั้งหมดสิบสายในอนาคตข้างหน้า ผมขอเรียกว่ามันเป็นหายนะของประเทศไทย เพราะมันเป็นความเสียหายระดับประเทศ การสร้างก่อนแล้วแก้ทีหลัง ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ความวุ่นวายก็จะเพิ่มขึ้น บทเรียนจากบีทีเอสมีให้เห็นแล้ว อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย"มานิตย์ประกาศเสียงดังหนักแน่น
ผู้พิการจำนวนไม่น้อยพึ่งพาตัวเองได้ ขอเพียงรัฐให้การสนับสนุนด้วยการสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เขาไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย
 
ขบวนรถไฟเคลื่อนเข้าสู่ชานชาลา เหล่าผู้พิการต่างช่วยกันปลดล็อคเข็มขัดนิรภัยในห้องโดยสาร ก่อนเข็นรถออกมา ลงลิฟท์ ลงทางลาดจนกระทั่งถึงฟุตบาทอันขรุขระเต็มไปด้วยหลุมบ่อและสิ่งกีดขวาง พวกเขาจำใจต้องลงไปบนถนนอีกครั้ง ท่ามกลางรถราแล่นสวนขวักไขว่
ไม่รู้ว่าภาพอันชวนหดหู่ใจเช่นนี้จะดำเนินต่อไปจนถึงเมื่อไหร่ อีกนานแค่ไหนที่ผู้พิการจะสามารถสัญจรระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยเฉกเช่นคนอื่นๆ นี่คือคำถามที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยควรรับฟังและหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
อย่าลืมว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน รวมถึงคนพิการด้วย เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้พวกเขาต้องตกขบวน.
ประชาชนทุกคนมีสิทธิและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน รวมถึงคนพิการ อย่าปล่อยให้พวกเขาตกขบวน
 
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ วันที่ 22 มิถุนายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก