ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กกต. ติวเข้ม นโยบายการออกเสียงประชามติ ปลัดอำเภอ-ผช.จังหวัด

วันที่ลงข่าว: 20/06/16

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมบางกอกพาเลส ประตูน้ำ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมโครงการสัมมนาเพื่อชี้แจงขั้นตอนการออกเสียงประชามติและมอบนโยบายการสนับสนุนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งจัดโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมีปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบการออกเสียงประชามติทุกอำเภอและผู้ช่วยจ่าจังหวัดทุกจังหวัด รวมกว่า 954 คน เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ นายสมชัย กล่าวตอนหนึ่งว่า ภารกิจของการจัดการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ไม่ใช่เรื่องที่กกต.จะสามารถทำสำเร็จได้เพียงลำพัง แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน ซึ่งกลไกของกรมการปกครองนับว่ามีความหมายที่จะช่วยให้การทำประชามติเกิดความสำเร็จ โดยหน้าที่ของฝ่ายจัดการออกเสียงเราไม่สนใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านแต่ต้องการให้เกิดข้อยุติว่าสังคมคิดอย่างไรกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากผลออกมารับคือจบออกมาไม่รับก็คือจบไม่ใช่มาก่อกวนหรือเป็นปัญหาต่อกัน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และไม่ว่าผลของการทำประชามติจะออกมาในแนวทางใดก็ขอให้สบายใจได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในปี 2560 แน่นอน

 

นายสมชัย กล่าวว่า หลักการออกเสียงประชามติ กกต.เราชูคำว่า"ยุทธศาสตร์ 3 ป." ซึ่งประกอบด้วย ป.ที่หนึ่ง ประชาชนสะดวก คือมีการขยายเวลาการลงคะแนนออกเสียงประชามติไปจนถึงเวลา 16.00 น. เปิดช่องทางการลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกเขตจังหวัดผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมีแอพพลิเคชั่นดาวเหนืออำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางไปยังหน่วยออกเสียงประชามติ ซึ่งแอพตัวนี้กกต.ไทยทำเป็นที่แรกของโลก รวมทั้งแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สามารถพาคนที่ไว้ใจเข้าไปยังหน่วยออกเสียงได้ 1 คน จัดหน่วยลงคะแนนเคลื่อนที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ ส่วนป.ที่สอง ประชามติเที่ยงธรรม คือทำให้ฝ่ายที่เห็นเหมือนเห็นต่างมีความเท่าเทียมกันให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน กฎ กติกา ของการจัดการออกเสียงต้องถูกรักษาไว้อย่างเที่ยงธรรมไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ การแสดงความคิดเห็นต่างๆสามารถทำได้บนพื้นฐานของการไม่พูดเท็จ ไม่หยาบคาย และไม่ปลุกระดม

 

นายสมชัย กล่าวต่อว่า มีคนสอบถามมามากว่าบุคคลระดับสูงของพรรคเพื่อไทย(พท.)ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กพร้อมกันว่าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่างๆผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติหรือไม่ ส่วนตัวถือว่าไม่ผิด เพราะเป็นการแสดงออกส่วนบุคคลตามเสรีภาพแต่หากตรวจพิสูจน์ว่าการกระทำดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองคือพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายทำเองโดยคนของพรรค ก็อาจจะตอบว่าไม่ผิดกฎหมายประชามติแต่อาจผิดคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ที่กำหนดห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งนี้ หากผิดคำสั่งคสช.ซึ่งเปรียบเหมือนกฎหมาย ทางนายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะเป็นผู้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ป.ที่สาม คือประชาธิปไตยคุณภาพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะคือการทำให้ประชาชนรู้สาระร่างของรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจไปหย่อนบัตรเพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหวังว่าทุกคนจะเป็นกลไกสำคัญช่วยประเทศในการเดินสู่ทางออกของประเทศที่เหมาะสมทุกอย่างอยู่ในมือทุกคนถ้าทำเต็มที่ความสำเร็จเกิดขึ้นแน่นอน

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 16 มิถุนายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก