ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ครูหยุย มองเด็กเลลิกเรียนกลางคันยังเป็นปัญหาเรื้อรัง-พร้อมแฉเหตุ

วันที่ลงข่าว: 20/06/16

17 มิ.ย.59 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณากระทู้ถามเรื่องการแก้ปัญหาเด็กนักเรียนออกนอกระบบการศึกษากลางคัน โดย นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช.เป็นผู้ตั้งถาม โดยระบุว่า การศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างให้สังคมมีความเข้มแข็ง คนไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยรัฐเองได้มีนโยบายให้ความสำคัญทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษาทางเลือก

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พบว่ามีนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในระบบ ได้มีการออกจากระบบการศึกษากลางคันเป็นจำนวนมาก โดยสถิติจากกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าในปี 2555 มีเด็กนักเรียนออกกลางคัน 32,799 คน ปี 2556 ออกกลางคัน 12,165 คน ปี 2557 ออกกลางคัน 8,814 คน ในจำนวนนี้ได้มีการจำแนกอnอกเป็นระดับประถมศึกษาจำนวน 1,760 คน ระดับมัธยมต้น 4,290 คน และมัธยมปลาย 2,764 คน แม้สถิติแต่ละปีจะลดลง แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งน่าสนใจ ถ้าเราเชื่อว่าตัวเลขนี้เป็นจริง ก็ถือว่าเป็นปัญหาพอสมควรว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

 

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ตนได้ค้นงายวิจัยหลายชิ้นจึงสามารถสรุปสาเหตุหลักๆที่ทำให้เด็กต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน 4 เรื่อง คือ 1.การอพยพตามผู้ปกครอง ประเด็นนี้เป็นที่สนใจเมื่อ 7 - 8 ปีที่แล้ว ตนได้ทำโครงการสอนหนังสือตามไซด์งานก่อสร้าง ก็พบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ตามพ่อแม่มาเป็นคนงานก่อนสร้าง ทำให้ออกจากระบบการศึกษากลางคัน แต่ระยะหลังคนงานก่อสร้างจะเป็นชาวต่างด้าวเสียเป็นส่วนมาก ดังนั้นปัจจุบันอาจจะมีอยู่บ้าง แต่ตัวเลขอาจไม่มากนัก 2.คือการหาเลี้ยงครอบครัว เนื่องมาจากความกตัญญูของเด็กจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคอีสาน โดยที่พ่อแม่เด็กไม่อยู่ เด็กจึงอยู่กับตาและยาย เด็กจึงต้องทำหน้าที
ปรนนิบัติดูแลหาเลี้ยง ซึ่งเด็กที่หาเลี้ยงครอบครัวอย่างนี้จำนวนหนึ่ง เมื่อถึงเวลาก็ต้องออกจากระบบการศึกษา มาเงินหาทองอย่างจริงจัง 3.คือเรื่องการมีครอบครัว ตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเด็กอยู่ โดยเฉพาะมัธยมต้นซึ่งมีตัวเลขสูงมาก และ สุดท้ายคือ 4.เรื่องการต้องคดี ซึ่งต้องไปอยู่ในสถานพินิจ

 

นายวัลลภ กล่าวว่า สองข้อหลังเป็นปัญหาใหญ่ทีทำให้เด็กต้องออกจาการศึกษากลางคัน แต่ภาพรวมทั้งหมดสาเหตุทั้ง 4 ประการ เป็นเรื่องใหญ่มาก ตนจึงอยากถามรัฐมนตรีว่ารัฐบาลมี

นโยบายหรือยุทธศาสตร์จัดการปัญหาเด็กออกจากการศึกษากลางคันอย่างไร มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอย่างไร เพราะมีบางกรณีที่การให้ตัวเลขของแต่ละหน่วยงานในกระทรวงเดียวกันไม่ตรงกัน และสุดท้ายคือการแก้ปัญหานี้ได้มีการประสานงานกับเครือข่ายอื่นมาร่วมแก้ไขอย่างไร

 

ด้าน พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กนักเรียนออกจากระบบการศึกษา จึงได้มีการสั่งการในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนที่ออกนอกระบบการศึกษา โดยให้เร่งรัดนักเรียนเหล่านั้นกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนด 10 ยุทธศาสตร์ ในการปฏิรูปการศึกษาซึ่งการแก้ปัญหาเด็กออกจากระบบการศึกษานั้นอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 8 คือ การสร้างโอกาสทางการศึกษา มีเป้าหมายประชาชนทุกกลุ่มทุกวันได้รับโอกาสในการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และใช้ยุทธศาสตร์ที่ 7 ในการบริหารจัดการโดยการ
บูรณาการร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา ทั้งการจัดการในระดับพื้นที่อย่างเป็นเอกภาพ เสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างภาพรัฐและภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยได้มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลให้เป็นระบบกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาเด็กออกนอกระบบการศึกษา

 

พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้จัดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เด็กตกหล่น คือเด็กที่อยู่ในวัยเรียน แต่ไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษาใดๆเลย และ เด็กออกกลางคัน คือเด็กที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาแล้วออกจากระบบการศึกษาในขณะที่ยังศึกษาไม่จบ ที่ผ่านมาหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้สำรวจข้อมูลรายบุคคล ดำเนินการติดตามให้เด็กเข้ารับการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กออกกลางคันคือการอพยพตามผู้ปกครอง โดยมีสถิติเพิ่มขึ้น 70% ในปี 2558 ซึ่งเป็น สพฐ.ได้ทำข้อมูลไว้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปรับตัว เช่น เรียนไม่ทันเพื่อน การอ่านและเขียนภาษาไทยต่ำกว่ามาตรฐาน ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กออกกลางคันเช่นกัน รวมทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาความยากจน ด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องอัพเดทที่สุดในปี 59 เพื่อจะได้นำมาวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

 

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้เราได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ 3 มาตรการ คือ 1.การค้นหากลุ่มเป้าหมาย ได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคลทุกหน่วยการศึกษา เพื่อค้นหานักเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา โดยจะทำเป็นรายจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาเป็นรายพื้นที่ 2.ติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะดำเนินการติดตามเด็กให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ 3.การป้องกันไม่ให้เด็กออกจากระบบการศึกษากลางคัน ได้มีการสร้างระบบดูและช่วยเหลือนักเรียน มีการเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อรับทราบปัญหาและกำหนดแนวทางแก้ไขรวมกัน เงินอุดหนุนการศึกษา เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน การช่วยเหลือกรณีพิเศษเช่นค่าพาหนะ การจัดรถรับ - ส่งนักเรียน โครงการจักรยานยืมเรียน การส่งต่อนักเรียนกรณีย้ายสถานศึกษาให้เป็นระบบ

 

นายวัลลภ กล่าวว่า ปัญหาคือวิธีปฏิบัติตามนโยบาย ตนขอเสนอเรื่องฐานข้อมูล ข้อเท็จจริงคือกรณีเด็กย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ระบบฐานข้อมูลไม่ได้สอดรับกัน เรื่องการมีส่วนร่วมที่ใช้จังหวัดเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรใช้กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้งเดินควบคู่กันไปด้วย หมายความว่ามีเด็กจำนวนมากที่อยู่เป็นกลุ่มๆ และเราจำแนกได้ว่าเช่น กลุ่มเด็กเร่ร่อน กลุ่มเด็กในชุมชนแออัด กลุ่มเด็กในสถานพินิจ กลุ่มเด็กพิการ เด็กพิการซ้ำซ้อน กลุ่มเด็กชาวเล เป็นต้น ถ้าเดินคู่กันจะทำให้การเข้าถึงทำได้หลากหลาย จัดการแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 20 มิถุนายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก