ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รัฐบาลอุ้มจ้างงานคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 07/06/16
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “มิติใหม่ของภาคธุรกิจกับการจ้างงานคนพิการในสถานประกอบการ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการอย่างถูกต้องและชัดเจน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการประมาณ 1.6 ล้านคน มีผู้มาลงทะเบียนต้องการทำงาน ประมาณ 200,000 คน มีตำแหน่งว่างสำหรับผู้พิการ 60,000 ตำแหน่ง โดยปี 2558 มีการจ้างงานผู้พิการ 39,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่การจ้างงานจะอยู่ในภาคเอกชนร้อยละ 92 โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มการจ้างงานอีก 10,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะมีการพูดคุยและสร้างความเข้าใจกับภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนในการจ้างงานผู้พิการ นอกจากจะช่วยให้ผู้พิการมีรายได้แล้วยังสามารถนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานไปลดหย่อนภาษีได้ร้อยละ 100 และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจด้วย ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์แต่ไม่มีการจ้างงานผู้พิการจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ รายละ 109,500 บาทต่อปี
 
 อย่างไรก็ตาม จะเร่งนำเงินกองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการที่ปัจจุบันมีถึง 10,000 ล้านบาท มาจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้น พร้อมขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 มาตรา 33 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐ ต้องรับคนพิการเข้าทำงานตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ การให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มีจำนวนลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100 : 1 มาตรา 34 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และมาตรา 35 กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา 34 นั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ เพื่อให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเห็นถึงความสำคัญของการมีอาชีพ การมีงานทำของคนพิการ รวมทั้งช่วยให้คนพิการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของคนพิการอย่างยั่งยืน
ที่มาของข่าว บ้านเมืองออนไลน์ 4 มิถุนายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก