ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เชฟรอน ขยายฐาน “เมกเกอร์” ต่อยอดนวัตกรรมช่วยผู้สูงอายุและผู้พิการ

วันที่ลงข่าว: 03/06/16
ตัวอย่างผลงานแขนกลเพื่อคนพิการ โดยนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคแกลง จังหวัดระยอง

เปิดตัวแล้ว โครงการ “Enjoy Science : Young Makers Contest” ส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งในปีนี้ได้ อพวช.และ สอศ. ร่วมจัดประกวด “เมกเกอร์” หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ” พร้อมทริปร่วมงาน Maker Faire ในทวีปยุโรปและญี่ปุ่น มาจูงใจ 

             หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่าที่น่ายินดีมาก คือในปีนี้ เราได้หน่วยงานพันธมิตรเพิ่ม คือ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คาดว่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนนักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษาเข้ามาร่วมโครงการประกวดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการมากขึ้น
       คาดว่าการประกวดนวัตกรรมจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ หรือ 3 D ที่ได้พันธมิตรใหม่ อพวช.และ สอศ.จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์โดยนำเอาเครื่องมืออื่นๆ เข้ามาใช้ร่วมสร้างสรรค์ และทำให้เกิดผลงานที่มีคุณค่าจนสามารถต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จริงให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการซึ่งนับวันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
       “หากถามว่าผลงานแบบไหนถึงตรงเป้าหมาย ขอตอบว่างานสร้างสรรค์ควรนำไปใช้จริงๆ และราคาก็ต้องไม่แพงมาก เพื่อจะทำให้ผู้สูงอายุและผู้พิการได้รับประโยชน์ทั่วถึง ขอบอกเคล็ดไม่ลับแก่ผู้เข้าประกวด โดยการศึกษาถึงความต้องการของผู้ใช้ ว่าพวกเขาอยากได้อะไรซึ่งจะทำให้คิดงานสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุด” 
 
              กรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตัล และสังคมแห่งนวัตกรรม ดังนั้นขีดความสามารถของประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่านวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือ การส่งเสริมความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับเยาวชนในวงกว้างก็เป็นพันธกิจหนึ่งของ อพวช.ที่จะช่วยให้ประเทศพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งต่อไปพวกเขาคือผู้สร้างสรรค์ที่จะไปยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ทัดเทียมกันมากขึ้น การได้เข้ามาร่วมจัดประกวดในครั้งนี้จึงรู้สึกยินดีมาก 
ขณะที่ ดร.มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งเพิ่งจะเข้ามาร่วมในโครงการนี้เช่นกัน บอกว่าเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาอาชีวะมีโอกาสได้แสดงความสามารถของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนทักษะร่วมกับนักเรียนสายสามัญที่เข้ามาร่วมแข่งขันซี่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ สอศ. ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษามีความรู้และทักษะในสาขาสะเต็มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจะช่วยรองรับความต้องการแรงงานในสาขานี้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต 
 ด้าน ดร.อ้อมใจ ไทยเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ว่าจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก คาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 โดยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 15 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 9.4 ล้านคน และมีผู้พิการกว่า 2 ล้านคน จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมให้พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นที่มาของความร่วมมือในการจัดการแข่งขัน“Enjoy Science: Young Makers Contest” ในปีนี้
วิชั่นเนียร์ แว่นตาช่วยผู้พิการทางสายตาแยกแยะสีธนบัตร โดย นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
 
       โครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน เริ่มต้นในปี 2558 เป็นโครงการระยะยาว 5 ปี มุ่งพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเด็มทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ เพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มองเห็นวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ใกล้ตัว เพื่อพวกเขาจะได้รับแรงบันดาลใจ สนใจศึกษาต่อในสาขาสะเด็ม และเป็นกำลังคนที่สำคัญของประเทศในอนาคต 
 โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ 
       เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 30 มิถุนายน 2559 
       แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ นักเรียน-นักศึกษาสายอาชีพ (ระดับไม่เกินปวส.) และนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญ (ระดับไม่เกินปริญญาตรี) โดยประกวดเป็นทีม ทีมละ 3 คน ประกอบด้วยนักศึกษา 2 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน โดยแต่ละทีมจะต้องส่งข้อเสนอโครงการนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งบรรยายถึงผลงานที่ต้องการสร้าง รวมถึงเอกลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยและแผนการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนานวัตกรรม (ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท) ไปที่ contest@bangkokmakerfaire.com โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาความน่าสนใจและความเป็นไปได้ของโครงการ และคัดเลือกโครงการที่เข้ารอบจำนวน 40 ทีม (ประเภทละ 20 ทีม) ซึ่งจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประกวด ก่อนที่จะพัฒนาผลงานให้แล้วเสร็จและนำเสนอต่อคณะกรรมการสำหรับการตัดสินหาผู้ชนะในแต่ละประเภท ซึ่งรางวัลชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา และตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าชมงาน Maker Faire ในทวีปยุโรป และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจะได้รับทุนการศึกษา และตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าชมงานแสดงผลงานทางเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่น และยังมีรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1.5 ล้านบาท
       สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร พร้อมดูรายละเอียดและกติกาการเข้าแข่งขัน เพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokmakerfaire.com/contest หรือเพจเฟซบุ๊ก Enjoy Science: Young Makers Contest 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก