ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

5 หน่วยงานสุขภาพร่วมมือ เพิ่มผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา

วันที่ลงข่าว: 02/06/16

 สธ. ร่วม สภากาชาดไทย สปสช. กรมบัญชีกลาง และ สปส. ทำโครงการดวงตาสดใส เทิดไท้ 84 พรรษา มหาราชินี เร่งค้นหาผู้บริจาคกระจกตาเชิงรุก หวังเพิ่มการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาช่วยเหลือผู้ป่วยกระจกตาพิการให้มองเห็นอีกครั้งรวม 8,400 ดวงตา ใน 5 ปี

       

       วันนี้ (1 มิ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. ศ.กิตติคุณ นพ.ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการดวงตาสดใส เทิดไท้ 84 พรรษา มหาราชินี” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา และทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดไทย 60 ปี เพื่อระดมความช่วยเหลือผู้ป่วยกระจกตาพิการให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง

       

       นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยตาบอดจากการตาขุ่นสูงถึง 16,000 คน ต้องรอผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอีก 8,030 คน ซึ่งแต่ละปีผ่าตัดได้เพียง 800 คน รอคิวอีกปีละ 1,200 คน เนื่องจากขาดแคลนกระจกตา ส่งผลให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก การรักษาผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการที่ดี คือ การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา โดยนำกระจกตาของผู้เสียชีวิตมาเปลี่ยนให้ และแม้จะมีการคิดค้นกระจกตาเทียม แต่ก็ต้องใช้กระจกตาของผู้เสียชีวิตเป็นส่วนประกอบเช่นกัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้ง 5 หน่วยงานจึงร่วมกันจัดทำ “โครงการดวงตาสดใส เทิดไท้ 84 พรรษา มหาราชินี” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกระจกตาพิการที่ขึ้นทะเบียนทุกรายให้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา และกลับมามองเห็นอีกครั้ง

       

       นพ.โสภณ กล่าวว่า โครงการนี้จะดำเนินการในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2559 - 12 ส.ค. 2564 ให้ผู้ป่วยกระจกตาพิการที่ขึ้นทะเบียนจองดวงตากับศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา 8,400 ดวงตา โดย สธ. ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการและดำเนินกิจกรรมตามแผนงาน จัดตั้งศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตาอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และศูนย์รับบริจาคดวงตาในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ จัดให้มีผู้เจรจาขอบริจาคดวงตาเชิงรุก และพัฒนาระบบการจัดหา จัดเก็บ และการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้มีศักยภาพครอบคลุมทั่วประเทศ ส่วนสภากาชาดไทย จะเป็นศูนย์กลางรวบรวมผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา ดูแลข้อมูลในการจองดวงตา ผู้บริจาคดวงตา และผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา รวมทั้งตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานการจัดเก็บและบริการดวงตา โดยจะรายงานผลการดำเนินการและผลการจัดสรรดวงตาทุก 1 เดือน ส่วน สปสช. กรมบัญชีกลาง และ สปสช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายการจัดหา จัดเก็บ และรักษาคุณภาพดวงตา รวมถึงค่าชดเชยค่าบริการผ่าตัดปลูกถ่ายตามสิทธิ์ของผู้ป่วย

       

       ศ.กิตติคุณ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ข้อมูลจากศูนย์บริจาคดวงตา สภากาชาดไทยเมื่อ เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ได้รับการผ่าตัดกระจกตา 700 คน แต่มีผู้ขึ้นทะเบียนรอรับการผ่าตัด 8,030 คน ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าแต่ละคนกว่าจะได้รับการผ่าตัดต้องใช้เวลาในการรอคิวนานเฉลี่ย 2 - 3 ปี ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา สภากาชาดไทยได้อบรมเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ให้สามารถเก็บกระจกตาให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องใช้คือภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่สามารถทำได้ประมาณ 60 แห่ง

       

       นายมนัส กล่าวว่า เดิมเมื่อปี 2544 กรมบัญชีกลางให้สิทธิข้าราชการสามารถผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอยู่ที่ 5,000 บาท แต่จากนี้จะปรับเพิ่มเป็น 15,000 บาท และจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการได้ทราบสิทธิดังกล่าวต่อไป

       

       ด้าน นายโกวิท กล่าวว่า ผู้ประกันตนส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน มีพละกำลัง กว่า 13 ล้านคน ในจำนวนนี้พบว่ามีปัญหาเรื่องการมองเห็นบวก ลบ ประมาณ 70 คนต่อปี ซึ่งสปส. เห็นด้วยกับโครงการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาให้กับผู้ประกันตนเพื่อให้กลับมามองเห็น สามารถใช้ชีวิตและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยในส่วนของค่าใช่จ่ายจะล้อไปกับกรมบัญชีกลาง คือ เพิ่มเป็น 15,000 บาท และมีผลทันทีเลย เพราะมีการทำเอ็มโอยูกันไปแล้ว

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 2 มิถุนายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก