ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: สิทธิที่เป็นจริงของผู้พิการ : แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕

วันที่ลงข่าว: 31/05/16

แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นแผนแม่บทที่กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านคนพิการของประเทศไทยให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีระยะเวลา ๕ ปี ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนงานด้านคนพิการต่างๆ ภายใต้แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มีความสอดคล้อง เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ คำแถลงนโยบาย ตลอดจนอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

 

สาระสำคัญของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหลักการสำคัญในการสร้างสังคม ที่บูรณาการเพื่อคนพิการและทุกคนในสังคม ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิทธิอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ

 

วิสัยทัศน์ "คนพิการดำรงชีวิตอิสระ ร่วมกับทุกคนในสังคมอย่างมีความสุข สามารถ เข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน"

 

พันธกิจ ๔ ประการ ได้แก่ ๑) สร้างสังคมบูรณาการเพื่อคนพิการและทุกคนในสังคม ๒) เสริมพลังคนพิการให้เข้าถึงระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ๓) ส่งเสริมการขับเคลื่อน องค์กรด้านคนพิการและเครือข่ายอย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ และ ๔) สร้างสังคมให้มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการ ยุทธศาสตร์ ๕ ประการ ประกอบด้วย ๑) ส่งเสริม การเข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ๒) สร้างสภาพแวดล้อม พัฒนาเทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสารที่ คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ๓) สร้างเสริมพลังอำนาจให้แก่คนพิการและผู้ดูแลคนพิการ ๔) ส่งเสริมศักยภาพและความ เข้มแข็งขององค์กรด้านคนพิการและเครือข่าย และ ๕) สร้างเสริมเจตคติ เชิงสร้างสรรค์ต่อความพิการและคนพิการ

 

ทั้งนี้ ได้มีการขับเคลื่อนแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕-  ๒๕๕๙ โดยมีเป้าประสงค์ ๙ ข้อ คือ ๑.) คนพิการและผู้ดูแลคนพิการสามารถ เข้าถึงสิทธิโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ๒.) กฎหมาย กลไก และวิธีปฏิบัติ ที่เป็นอุปสรรคได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ๓.) สังคมมีสภาพแวดล้อมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ๔.) คนพิการเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้จากระบบบริการด้านสุขภาพ การศึกษา อาชีพ กีฬา และการท่องเที่ยว รวมถึงสร้างระบบการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ๕.) กลไกด้านการเงินและการคลังได้รับการพัฒนาให้เกิดแหล่งรายได้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพ ๖.)การศึกษาวิจัยด้านคนพิการได้ถูกนำไปพัฒนานโยบาย ด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ อย่างเป็นรูปธรรม ๗.) องค์กรด้านคนพิการ ผู้นำคนพิการและเครือข่ายทุกระดับทุกพื้นที่มีศักยภาพสามารถขับเคลื่อนงานด้านคนพิการให้เกิดประสิทธิผลต่อเนื่องและยั่งยืน ๘.) คนพิการมีความมั่นใจ ตระหนักในสิทธิ คุณค่า และศักดิ์ศรีของตนเอง รวมถึงมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ๙.) สังคมมี ความรู้ความเข้าใจคนพิการและมีส่วนร่วมลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

จนถึงปัจจุบันที่เป็นระยะเวลาช่วงท้ายของแผน ซึ่งจะต้องมีการประเมินผล ทบทวน ความสำเร็จ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคจากการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การกำหนดประเด็นหรือทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕  ต่อไป คณะกรรมาธิการ สังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาและเห็นว่าการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านคนพิการ ซึ่งจะเป็นการกำหนดทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการในอนาคต จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการพิจารณา ศึกษาการขับเคลื่อนงานตามแผนพัฒนา คุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๕-๒๕๕๙ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ ต่อการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๕ เสนอหน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

 

คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ จึงได้ร่วมกับสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านคนพิการในงานสมัชชาคนพิการระดับภูมิภาค จำนวน ๔ ภาค ทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ความคิดเห็น จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการดำเนินงานตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔  พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะในการกำหนดทิศทางการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ ซึ่งได้มีการรวบรวมและประมวลข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความเห็นดังกล่าว และได้จัดทำเป็นร่างข้อเสนอแนะต่อแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๕ แล้ว

 

บางส่วนของข้อเสนอแนะของเครือข่ายคนพิการในการดำเนินงานแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙ ที่ได้รับมาแล้ว อาทิ  ๑.) ควรขยายเครือข่าย คนพิการให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น และกระจายออกสู่อำเภอต่างๆ ให้ทั่วถึงเพื่อให้เกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ๒.) ควรจัดสรรเบี้ยความพิการให้กับคนพิการเหมือนกับเบี้ยผู้สูงอายุ ตามลำดับช่วงอายุและเพิ่มเติมเบี้ยให้กับผู้ดูแล คนพิการด้วย ๓.) ควรสนับสนุนกายอุปกรณ์หรือเครื่องช่วยความพิการที่มีคุณภาพให้เพียงพอกับจำนวนคนพิการที่มีอยู่จริงในสังคม และควรมีบริการรับซ่อมกายอุปกรณ์ของคนพิการตลอดอายุการใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ๔.) ควรพัฒนาอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการให้มีความมั่นคง และสนับสนุนงบประมาณในการฝึกอาชีพ พร้อมทั้งจัดหาตลาดรองรับ  ๕.) ควรพิจารณาเงินกู้โดยการดำเนินการที่รวดเร็ว และเหมาะสมกับเวลาในการประกอบอาชีพ ๖.) ควรสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีและการติดต่อสื่อสารสำหรับคนพิการ อาทิ คนพิการทางการมองเห็น คนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีประจำจังหวัด ๗.) ควรสนับสนุนอาสาสมัคร (อสม.) หรือผู้ช่วยผู้ดูแลคนพิการ ช่วยเหลือดูแลคนพิการที่มีอาการทางจิตให้รับประทานยาสม่ำเสมอเพื่อช่วยให้คนพิการทางจิตมีอาการที่ดีขึ้น ๘.) ควรสนับสนุนผู้ดูแลคนพิการให้เข้าร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ของคนพิการด้วย เพื่อช่วยเก็บเกี่ยวองค์ความรู้

 

เพื่อให้ร่างแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕  ได้รับความเห็น ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม และเกิดความสมบูรณ์ ครอบคลุมในทุกมิติ คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ จึงเห็นควรจัดการสัมมนา เรื่อง "ทิศทางของแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ สู่การทำสิทธิให้เป็นจริงและ การสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน" ใน วันจันทร์ที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ระหว่างเวลา ๑๓.๓๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑-๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒

 

วัตถุประสงค์การสัมมนา

๑.สร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการติดตาม ประเมินผลการขับเคลื่อนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แห่งชาติ ฉบับที่ ๔ และข้อเสนอแนะต่อการจัดทำแผน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕

 

๒.ระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อทิศทางในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ จากเครือข่ายองค์กรด้านคนพิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

๓.รวบรวม สังเคราะห์ และจัดทำ ข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติฉบับที่ ๕ เสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ทั้งนี้ วิทยากรที่ร่วมการสัมมนา คือ นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการ สังคมฯ คนที่หนึ่ง นางอาทิชา นราวรวัชร อนุกรรมาธิการ กิจการคนพิการ นายสมชาย เจริญอำนวยสุขอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ผศ.ดร.ปกรณ์ ศิริประกอบ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก ๙) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสมบูรณ์ อัพภาสกิจ  ผู้ประสานงาน เครือข่ายวิจัยภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๖

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม

 

หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

อ่านต่อได้ที่ : http://www.ryt9.com/s/nnd/2430494

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 28 พฤษภาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก