ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รมว.แรงงาน มอบ 9 แนวทางปฏิบัติราชการ ส่วนราชการในสังกัดกระทรวง 4 จังหวัดภาคใต้

วันที่ลงข่าว: 30/05/16

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบแนวทางปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดระนอง กระบี่ พังงา และ จ.ตรัง เน้นทำงานเชิงรุก ระดมสรรพกำลังในการปฏิบัติงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน แก้ไขปัญหาโดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่กระทบต่อประโยชน์สุขของประชาชน และมีความโปร่งใส ไร้ทุจริต

พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบแนวทางปฏิบัติราชการให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดระนอง กระบี่ พังงา และ จ.ตรัง ณ ห้องประชุมรัตนรังสรรค์ ศาลากลางจังหวัดระนอง ใน 9 ประเด็นดังนี้

1) การติดตามสถานการณ์แรงงานในพื้นที่ ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์แรงงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่กระทบต่อประโยชน์สุขของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงแรงงาน เช่น ปัญหาการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก การใช้แรงงาน ผิดกฎหมาย ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยให้เข้าไปดำเนินการแก้ไขในทันที และรายงานผู้บังคับบัญชาโดยด่วน หากเห็นว่าเกินกำลังในระดับจังหวัด ให้ขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง เพื่อระดมสรรพกำลังในการปฏิบัติงานและการแก้ไขปัญหา

2) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ไม่ใช่เป็นการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งงานคนไทย แต่นำเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อไม่ให้กิจการต้องหยุดชะงักซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตามจะต้องมีการควบคุมและบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่การนำเข้า การใช้งาน การควบคุมดูแล และการส่งแรงงานกลับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ขอให้เร่งดำเนินการเชิงรุก มีข้อมูลสถานประกอบการในพื้นที่ สถานประกอบการใดที่ยังไม่นำแรงงานมาจดทะเบียน ต้องเข้าไปช่วยเหลือสอบถามเหตุขัดข้องและแจ้งกำหนดเวลาที่ต้องปฏิบัติ โดยให้ถือเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน

3) การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ต้องไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับอย่างเด็ดขาด ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจะต้องทำงานเชิงรุกให้เห็นผลงานเป็นรูปธรรม โดยเน้นการบูรณาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ พัฒนาเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกับหลายๆ หน่วยงาน เช่น ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศร.ชล.) กรมเจ้าท่า กรมประมง เป็นต้น นอกจากนี้ ในการตรวจคุ้มครองแรงงานจะต้องให้ความสำคัญกับกิจการกลุ่มเสี่ยง และแรงงานในกิจการประมงทะเลอย่างเร่งด่วน รวมถึงการรณรงค์ขอความร่วมมือจากสถานประกอบการ หากพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ดำเนินการออกคำสั่งหรือดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด

4) การส่งเสริมการมีงานทำ เป้าหมายของรัฐบาล คือ คนไทยทุกคนจะต้องมีงานทำ ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะมีอัตราการว่างงานที่ต่ำมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ประสบปัญหาการว่างงาน และบางส่วนต้องทำงานในตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าคุณวุฒิหรือทักษะฝีมือ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนหรือมีคุณภาพชีวิตยังไม่ดีเท่าที่ควร เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องจัดหางานให้คนเหล่านั้นได้ทำงานที่เหมาะสมกับทักษะฝีมือและความสามารถ ต้องพยายามเข้าถึงผู้ที่ว่างงาน วิเคราะห์หาสาเหตุและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมและโครงการส่งเสริมการมีงานทำที่ได้ดำเนินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย กิจกรรมนัดพบแรงงานหรือกิจกรรมแนะแนวอาชีพ ให้สัมฤทธิ์ผลยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับแรงงานคนพิการที่ไม่สามารถทำงานในระบบได้ โดยการส่งเสริมอาชีพอิสระตามความสามารถและเหมาะสม รวมถึงแรงงานผู้สูงอายุ ต้องสร้างโอกาสในการทำงาน โดยเน้นลักษณะการทำงานที่ใช้ภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมมา ให้มีโอกาสในการถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นต่อไป เพื่อเป็นการสร้างรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้

5) การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ปัจจุบันเราได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเรามีต้นทุนแรงงานสูงแต่ผลิตภาพแรงงานต่ำกว่าประเทศอื่น นอกจากจะไม่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาประกอบกิจการแล้ว ยังอาจสูญเสียการลงทุนที่มีอยู่เดิมให้แก่ประเทศอื่นอีกด้วย ต้องเร่งยกระดับทักษะฝีมือแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานในภาพรวมของประเทศ โดยกิจกรรมโครงการเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ สอดคล้องกับการพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และต้องส่งเสริมให้มีการใช้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานในการพัฒนาทักษะฝีมือตนเอง

6) การคุ้มครองให้แรงงานได้รับการปฏิบัติและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย ปัจจุบันเราได้มีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องของสภาพการจ้าง ความปลอดภัยในการทำงาน กองทุนเงินทดแทนและการประกันสังคม

7) การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของประเทศมายาวนาน ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้ประกาศนโยบายกระทรวงแรงงานโปร่งใสไร้ทุจริต (Zero Corruption) โดยรณรงค์ 4 ม. คือ ไม่จ่าย ไม่รับ ไม่ยอม ไม่เพิกเฉย ซึ่งหากพบว่ามีกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น จะดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญาอย่างเด็ดขาด

8) การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ขอเน้นย้ำว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานทุกคน จะต้องเป็นนักประชาสัมพันธ์ ต้องช่วยสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน ให้รู้และเข้าใจว่ารัฐบาล และ คสช. กำลังดำเนินการในเรื่องใด ส่งผลดีกับประชาชนและประเทศชาติอย่างไร ต้องสามารถเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลในทุกๆ เรื่อง ซึ่งทำได้โดยทุกคนต้องติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ทำความเข้าใจแล้วนำไปอธิบายให้ความรู้ต่อประชาชน

9) เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ขอให้เข้าใจว่า คสช. และรัฐบาลต้องการให้ประชาชนตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้อย่างเสรี จึงได้ห้ามไม่ให้ทุกฝ่ายจัดกิจกรรม เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากจะมีการชี้แจงในรายละเอียดหรืออภิปรายถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและตัดสินใจตามความคิดเห็นของตนเอง ขอให้ทุกคนทำความเข้าใจแก่แรงงาน นายจ้าง ลูกจ้าง ถึงเจตนารมณ์ของ คสช. และรัฐบาลอย่างถูกต้อง และเชิญชวนให้ออกมาลงประชามติเพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตย โดยเสียงของประชาชน อย่างแท้จริงต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก