ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

'เสาวลักษณ์ ทองก๊วย'ผู้ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 23/05/16

เรียกว่าเป็นหญิงแกร่งที่มากความสามารถ สำหรับ "เสาวลักษณ์ ทองก๊วย" สตรี ผู้พิการเพียงกาย แต่จิตใจเป็นนักสู้ เพื่อให้ได้ความเสมอภาคในคนพิการ ทางรายการ "ผู้หญิงแนวหน้ากับคุณแหน" ทุกวันอาทิตย์ เวลา 16.00-16.25 น. ทางสถานี TNN2 ช่อง 784 โดยพิธีกร "ขิม-ทิพย์ลดา พูนศิริวงศ์" เห็นถึงความสำคัญของคนพิการ ได้พูดคุยกับเธอถึงเรื่องราวการทำงานเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

 

เสาวลักษณ์ ทองก๊วย เล่าว่า "จริงๆ มีหลายตำแหน่งมาก แต่ว่าสำคัญๆ ก็จะมีอยู่ 2 ตำแหน่งคือ เป็นนายกสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ และก็เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมัชชาคนพิการอาเซียน หน้าที่และงานที่รับผิดชอบ ในปัจจุบันหลักๆ ก็ทำงานเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เป้าหมายหลักคือในการสร้างกลไกที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ที่สามารถเอื้ออำนวยให้คนพิการทุกๆ เพศ ทุกๆ วัย แล้วก็ที่อยู่ในทุกๆ สถานะของสังคม สามารถที่จะเข้าถึงได้ แล้วก็ให้คนพิการสามารถที่จะเข้าถึงกลไก ปกป้องและคุ้มครองและบริการต่างๆ ที่ภาครัฐ ทำให้ คืองานมันจะออกไปในแนวงานพิทักษ์สิทธิ์ มากกว่า

 

เรื่องของความเสมอภาคของคนพิการนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาเราพูดถึงการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เราไม่ได้ หมายความว่าคนพิการจะอยู่คนเดียว อยู่โดดเดี่ยว แต่เราหมายถึงคนพิการสามารถที่จะอยู่ได้ในสังคม ในชุมชนที่บ้านเขาอยู่ ในชุมชนที่เขาเกิด แบบมีคุณภาพ สามารถที่จะตัดสินใจในสิ่งที่ ตัวเองต้องการ แล้วก็ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนและก็คนในครอบครัว เทียบเท่าเสมอเหมือนกับคนทั่วๆ ไป อันนี้คือเป้าหมายของการดำรงชีวิตอิสระ

 

ส่วนความเสมอภาคก็คือ ถ้าคนในชุมชนสามารถที่จะทำอะไรได้ เข้าถึงสวัสดิการอะไรได้ หรือว่ามีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอะไรที่เกี่ยวกับชุมชนได้ คนพิการควรจะมีความสามารถ และก็สามารถที่จะเข้าถึงได้เฉกเช่นคนทั่วๆ ไป

 

กับเรื่องที่ว่าความเสมอภาคของผู้พิการ ถามว่าสำหรับผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันไหม อันนี้น่าจะเป็นคำถามที่ถามกันทั่วโลก แล้วเป็นคำถามที่เขาเรียกว่าเป็นวาระแห่งชาติของหลายๆ ประเทศ อาจจะทุกประเทศทั่วโลกเลยก็ว่าได้ เพราะว่าเราอยู่ในโครงสร้างของชาย เป็นใหญ่ แน่นอนว่าในชุมชน ในสังคมของ คนพิการเองก็หนีไม่พ้นความจริงข้อนี้ คือในชุมชน คนพิการเองก็อยู่ในโครงสร้างของชายเป็นใหญ่ ฉะนั้นปัญหาเรื่องความเสมอภาคหญิง-ชายก็เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่เราระลึกอยู่เสมอว่ามันจะต้องได้รับการแก้ไข

 

ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมเลย เพราะเรามองในแง่ของกฎหมาย พอเราไปดูกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับคนพิการ เรามีพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการใช่ไหมคะ ปรากฏว่าในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดอะไร เกี่ยวกับมิติของสตรีเลยแม้แต่คำเดียว แม้แต่ ในมาตราที่พูดถึงเรื่องการเลือกปฏิบัติ ก็ไม่มีมิติของสตรี

 

แล้วพอย้อนกลับไป ณ ขณะนี้เรามีพระราชบัญญัติความเสมอภาคหญิงชาย พอเราเข้าไปดูในกฎหมายฉบับนี้ ปรากฏว่าเรื่องของคนพิการถูกรวมเข้าไปอยู่ในเรื่องของคนที่อยู่ ในภาวะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ด้อยโอกาส เราจะไม่เห็น คำว่าสตรีพิการ หรือว่าผู้ชายพิการอยู่ในนั้น

 

เพราะฉะนั้นพอเราดูแค่ในแง่ของระดับการมีตัวตน ในแง่ของกฎหมาย สตรีพิการขาดหายไป ขอใช้คำว่า แอพเซ้นต์ คือหายไปเลย ไม่รู้ไปอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นพอเราไม่สามารถที่จะ มีสถานะ มีตัวตนในกฎหมายได้ ที่เกี่ยวทั้งของ คนพิการ และที่เกี่ยวทั้งความเสมอภาคหญิง-ชายได้ เวลาเรามาปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ นำนโยบาย มาปฏิบัติ สตรีพิการก็จะต้องขาดหายออกไปจากภาคปฏิบัติ คือถ้ามีก็มีน้อยที่สุดจนแทบ จะมองไม่เห็นเลย

 

ปัญหานี้ในประเทศไทยกับปัญหาระดับสากล ถามว่ามีความแตกต่างกันไหม จริงๆ ในแง่ของปัญหามันเหมือนกันมาก มันคล้ายกันมากทีเดียว เพียงแต่ความแตกต่างอยู่ที่ผลบังคับใช้ของกฎหมาย และนโยบาย ในเรื่องการพัฒนาคนพิการเรามีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องของสิทธิของ คนพิการ ซึ่งเปรียบเสมือนพระคัมภีร์ หรือ พระไตรปิฎกในการพัฒนาคนพิการ ในพระไตรปิฎก ฉบับนี้ก็เขียนไว้บอกว่า อยู่ในข้อหนึ่งเลย อยู่ใน หลักการเลยว่าจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ และก็จะต้องคำนึงถึงความเท่าเทียมและความเสมอ ภาคหญิงชาย พร้อมกับต้องเคารพความมี ตัวตนของแต่ละคน

 

ทีนี้พอกลับมาที่ในประเทศไทย ประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิของคนพิการแล้ว เพราะฉะนั้น กฎหมายไทยก็จะต้องมีการปรับปรุงให้ สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิของ คนพิการ แต่ว่าอย่างที่เรียนไปตั้งแต่ต้นว่าในกฎหมายของไทยเป็นพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับคนพิการโดยตรง ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องสตรีพิการ เพราะฉะนั้นปัญหาของสตรีพิการในประเทศไทย ก็หนักหนาสาหัส คือมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขมากกว่าในประเทศต่างๆ ที่เขาได้ปักเป็นกฎหมาย แล้วก็ได้เห็นวาระหญิง-ชายในบริบทของความพิการ แล้วก็ได้มีการแก้ไขตั้งแต่กฎระเบียบ และก็มีกิจกรรมนำพา ซึ่งทำให้สตรีพิการ สามารถเข้าถึงกระบวนการต่างๆ ได้อย่างแท้จริง

 

กับเรื่องภาพลักษณ์เกี่ยวกับความ เสมอภาคของคนพิการ ความไม่เสมอภาคที่ได้รับถามว่าคืออะไรบ้าง คำว่าเสมอภาคเป็นนามธรรม ถ้าคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็จะไม่รู้ว่ามันคืออะไรใช่มั้ยคะ ทีนี้ให้ลองนั่งดูอย่างดิฉันเป็นคนพิการนั่งรถเข็น ที่จริงแล้วมันน่าจะ ถ้าเกิดดิฉันจะเดินทางความเสมอภาคของการเดินทางคืออะไรคะ ดิฉันก็ต้องสามารถที่จะใช้ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ที่มีอยู่ได้ เหมือนกับที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้

 

ดิฉันอาจจะเลือกใช้แท็กซี่ บางวันดิฉันอาจจะเลือกเข็นรถไปบนฟุตปาธ เพื่อที่จะไปป้ายรถเมล์ เพื่อต่อรถเมล์ขึ้นรถเมล์ บางวันดิฉันอาจจะลงจากรถเมล์จุดใดจุดหนึ่งแล้วก็ไปต่อที่รถไฟฟ้าใต้ดิน จากรถไฟฟ้าใต้ดินบางวันดิฉันอาจจะเดินทางไปศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ จากที่นั่นมีรถไฟฟ้าบีทีเอสไหม ของเหล่านี้ ถ้าเป็นท่านอื่นๆ ก็สามารถที่จะทำได้เลยอย่างอัตโนมัติในแต่ละวัน

 

แต่สำหรับคนพิการต้องมานั่งคิดว่า มันไปได้มั้ย รถเมล์ขึ้นได้ไหม มันมีทางลาดหรือเปล่า มีรถเมล์ที่มีทางลาดหรือไม่ ฟุตปาธวันนี้จะมีร้านขายของจอดเต็มไหม จะเจอมอเตอร์ไซค์เฉี่ยวหรือเปล่า วันนี้แท็กซี่จะปฏิเสธรับผู้พิการแบบดิฉันหรือไม่ นี่แหละค่ะคือความไม่เท่าเทียมแบบเป็นรูปธรรม คือการเข้าถึงสวัสดิการและบริการต่างๆ ที่เป็นสาธารณะอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น หรือเข้าไม่ถึงเลย หรือถ้าเข้าถึงก็จะต้องใช้เวลานานกว่า จ่ายเงินมากกว่า

 

ยกตัวอย่างกรณีเดินทางไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือไปเมืองทองธานี หรือ ไบเทค บางนา ดิฉันอาจจะต้องจ่ายค่าแท็กซี่ รวมกับค่าทางด่วน 300 กว่าบาท ในขณะที่ บางคนอาจจะเดินทางโดยรถเมล์เพียงแค่ 2 ต่อ ซึ่งจ่ายเงินไม่ถึงร้อยบาท นี่คือความไม่เท่าเทียม

 

แล้วความไม่เท่าเทียมตรงนี้แหละ เป็นตัว บ่อนทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะว่าคนพิการไม่สามารถที่จะเอาเงิน คือเงินตัวนี้ หรือเงินเหล่านี้ไม่สามารถที่จะมาสร้างทำให้คนพิการมีศักยภาพในเชิงเศรษฐกิจได้ เพราะจะต้องเอาไปซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก แล้วก็เกิดความเครียดในการบริหารพวกนี้ พอเกิดความเครียดทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของคนพิการก็ลดลง เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าทั้งหมด ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวคนพิการเลย มันอยู่ที่ สิ่งแวดล้อมภายนอก ณ ขณะนี้เราก็มีเครือข่าย คนพิการ นำโดย คุณกฤษณะ ละไล ทำเรื่อง อารยสถาปัตย์ อันนั้นก็เป็นหนึ่งในการลดความไม่เท่าเทียม ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกของคนพิการ ไม่ได้เกี่ยวกับคนพิการเลยแม้แต่นิดเดียว

 

จากการที่ได้ไปอภิปรายมาหลาย ประเทศทั่วโลกและก็ในประเทศไทยด้วย ถามว่า มีฟีดแบ๊กหรือผลตอบรับอย่างไรบ้าง คืองานบรรยายหลักๆ จะเป็นเรื่องความเสมอภาคของคนพิการ แล้วที่เหลือก็จะเป็นการจัดฝึกอบรม มีการจัดเวิร์กช็อปเพื่อรณรงค์เรื่องการสร้าง สังคมรวม สังคมที่คำนึงถึงคนพิการ ที่รวมคนพิการ เข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นงานส่วนใหญ่ก็จะทำกับ 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนพิการเอง กับกลุ่มภาครัฐ กับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับงานนโยบาย

 

ก็จะเห็นว่าผ่านกระบวนการมีการ ฝึกอบรมความเสมอภาคของคนพิการ เรามี สตรีพิการที่มาเป็นผู้นำมากมายในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน เรามีคนสตรีพิการรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเข้าใจกระบวนการการพัฒนา เพราะว่าการทำงานร่วมกับคนพิการ ใช้วิจัยอย่างเดียวไม่ได้แล้วสมัยนี้ ต้องเข้าใจวิถีทางของการพัฒนาเศรษฐกิจ แล้วก็กระบวนการการพัฒนาด้วย ว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการเมืองอย่างไร

 

ส่วนเรื่องแนวความคิดและการดำเนินชีวิต นั้น ก่อนอื่นก็จะต้องเรียนให้ทราบก่อนว่าดิฉัน ไม่ได้เกิดมาพิการ ดิฉันมาพิการทีหลัง เนื่องจากอุบัติเหตุตอนอายุ 27 ปี ก็หมายความว่าดิฉันได้ลิ้มรสของคำว่าความเสมอภาค ลิ้มรสของ คำว่าสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี มีงานทำที่ ทุกคนบอกว่าเป็นงานที่ดี เป็นผู้หญิงที่เก่ง และเป็นนักกิจกรรม

 

แต่พอมาพิการเรามองเห็นช่องว่าง ช่องว่างของความพิการและไม่พิการมันคืออะไร เพราะฉะนั้นมันทำให้เกิดแนวทางในการดำเนินชีวิต แบบใหม่ มองทุกอย่างละเอียดขึ้น มองทุกคน เป็นคน แล้วก็มีชีวิตแบบมีความหวัง แล้วเราคิดว่าเราน่าจะใช้สิ่งที่เรามีอยู่แล้วพยายามทำให้มันดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และมันจะ สะท้อนกลับมาที่ผลประโยชน์ของตัวเอง โดย ผ่านงานคนพิการนี่แหละ พอเราทำเรื่องสิ่งอำนวย ความสะดวก เช่น เรื่องรถเมล์ หรือที่ไปฟ้องร้อง ศาลปกครองเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอส สุดท้าย ถ้ามันมีลิฟต์เกิดขึ้นมาในทุกสถานี มันก็ไม่ใช่แค่คนพิการที่ชื่อ เสาวลักษณ์ หรือคนพิการอื่นๆ แต่ใครก็แล้วแต่ที่เดินไม่สะดวก สามารถที่จะใช้ได้ มันคือการพัฒนาสังคมค่ะ

 

สำหรับช่องทางการติดตามเรื่องราว ต่างๆ เกี่ยวกับคนพิการ สามารถติดตามได้ที่ เฟซบุ๊ค Saowalak Thongkuay พอเข้าไปแล้วจะเห็นรูปดิฉันอยู่บนโปรไฟล์ ไม่เคยปิด เพราะ เฟซบุ๊คมีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการนำเสนอ สร้างความตระหนักรู้ และก็นำเสนอกับสังคมใน กิจกรรมที่คนพิการทำ และก็การใช้ชีวิตประจำวัน ของคนพิการ และสตรีพิการผ่านเรื่องราวของ ตัวเองค่ะ"

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก