ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คอลัมน์: สถานีพัฒนาสังคม: คนพิการจำเป็นต้องสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่มีอุปสรรค

วันที่ลงข่าว: 23/05/16

กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อคนพิการ และทุกคน ภายใต้กฎหมายต่างๆ ที่รองรับและมีกลไก ที่ขับเคลื่อนผ่านทางคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งองค์กรด้านคนพิการ และผู้แทนจากทุกกระทรวง โดยมีแผนงานโครงการ ต่างๆ อาทิ  การติดตามการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ และเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ให้หน่วยงานภาครัฐจัดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ๕ ประเภท ได้แก่ ทางลาด ห้องน้ำ ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และบริการข้อมูล รวมถึง และติดตามการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสนับสนุนมาตรการผลักดันการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก ให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

 

โครงการชุมชนต้นแบบเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยจะขยายพื้นที่ให้ครบทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ และดำเนินการผลักดันการจัดระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อต่อคนพิการ เช่น รถเมล์ชานต่ำ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ ทั้งทางน้ำ ทางราง ทางอากาศ การจัดอบรมแนวทางการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ตามหลักการออกแบบที่เป็นสากล (Universal Design : UD) ให้กับสถาปนิก นายช่างโยธา ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การประกวด คัดเลือกสถานที่ดีเด่นที่เอื้อต่อคนพิการ การจัดทำ Application Thai Accessibility Places ที่จะแจ้งสถานที่ที่เอื้อและไม่เอื้อต่อคนพิการ การส่งเสริมสนับสนุนภาครัฐและเอกชนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ และโครงการปรับสภาพที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นว่าคนพิการสามารถดำรงชีวิตและเข้าถึงบริการได้อย่างอิสระ สะดวก และปลอดภัย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรคครบทุกมิติทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

 

การขับเคลื่อนโครงการสร้างชุมชนต้นแบบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกคน ซึ่งปี พ.ศ. ๒๕๕๘ เริ่มจากชุมชนต้นแบบเกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนำร่อง ๑๐ จังหวัด ได้แก่ นครพนม ขอนแก่น พิษณุโลก กาญจนบุรี ชลบุรี ตาก ภูเก็ต กระบี่ พังงา และน่าน โดย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ จะดำเนินการขยายพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเพิ่มจังหวัดใหม่ทั่วทุกภาค จำนวน ๒๒ จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่  นครปฐม นครนายก สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย กำแพงเพชร และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ บึงกาฬ มุกดาหาร เลย ร้อยเอ็ด สกลนครและอุบลราชธานี โดยพื้นที่จะดำเนินการส่วนใหญ่จะรวมถึงสวนสาธารณะหรือสถานที่ที่ท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด

 

ส่วน ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์อันธิกา สวัสดิ์ศรี ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สนใจศึกษาวิจัยในกลุ่มของต้นน้ำ กลุ่มนักศึกษาที่เรียนด้านออกแบบทั้งด้านการท่องเที่ยว คมนาคม และด้านไอซีที ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของนักออกแบบในประเด็นการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้เพื่อนำไปผลิตสิ่งต่างๆ และอุปกรณ์ ซอฟต์แวร์ หรือสภาพแวดล้อม

 

เพราะจากปัญหาที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิค แต่เป็นปัญหาในเชิงทัศนคติและความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งในขณะนี้ได้จัดทำโครงการประสานงานเครือข่ายทางวิชาการเกี่ยวกับการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งได้ทำการศึกษาว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ หลักสูตรด้าน Accessibility ข้ามพ้นไปจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เพียงคณะเดียวแล้วเข้าไปสู่ในคณะอื่นๆ ด้วย วิชานี้ควรถูกกำหนดไว้ ในหลักสูตรระดับอุดมศึกษาเช่นเดียวกับวิชาพื้นฐาน ทั่วไป เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้คนที่จะเตรียมไปทำงานในทุกสาขาอาชีพในอนาคตเพื่อให้ คำนึงถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย โดยในเบื้องต้น ให้คำนึงถึงคนพิการซึ่งมีข้อจำกัดมากที่สุดก่อน โดย จะประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อผลักดันประเด็นดังกล่าวต่อไป

 

นอกจากนี้ ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและบริการออกแบบ เป็นศูนย์ทำหน้าที่ในการประสานงานเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ มีการ ถอดแบบองค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงการออกแบบที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ มีการจัดทำโครงการร่วมกับเครือข่ายคนพิการ การฝึกอบรมคนพิการเพื่อทำการตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility Audit) ให้ได้มาตรฐาน เนื่องจากในปัจจุบันการตรวจสอบอาคารสถานที่ต่าง ๆ ยังมีมาตรฐานการตรวจสอบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะได้มีการศึกษาเพื่อจัดทำเป็นคู่มือมาตรฐานการตรวจสอบ และพิจารณาศึกษารูปแบบของสหวิชาชีพที่จะร่วมกันตรวจสอบสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เพื่อจัดทำหลักสูตรสำหรับรับรองผู้ที่จะไปทำหน้าที่ตรวจสอบหรือ Accessibility Auditor ในอนาคตจะได้มีการให้บริการรับปรึกษาและออกแบบทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างเครือข่ายจากหน่วยงาน ต่างๆ ร่วมกัน โดยจะมีทั้งมหาวิทยาลัยและเครือข่าย คนพิการที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาต่อไป

 

ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ กระทรวงไอซีทีควรติดตามและกำหนดตัวชี้วัด เช่น กรณีการจัดทำเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง อาทิ การจัดประกวดและมอบรางวัลสำหรับหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการได้ตามมาตรฐานที่กำหนด Accessibility for All คนพิการและผู้สูงอายุถือเป็นตัวชี้วัดที่มีนัยสำคัญ หากคนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ก็จะทำให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

 

ควรสนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในการจัดทำมาตรฐานระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทของประเทศไทย และใช้เป็นมาตรฐานในการจัดซื้อยานพาหนะขนส่งสาธารณะ และควรเชิญผู้แทนคนพิการแต่ละประเภทเข้าไปมีส่วนร่วมในจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงควรเร่งดำเนินการเพื่อให้ระบบขนส่งสาธารณะที่กำลังเกิดขึ้น อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วน

 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดทำมาตรฐานการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) ในทุกระบบ อาทิ อาคาร สถานที่ ระบบขนส่งสาธารณะ และระบบไอซีที

 

เห็นควรให้นำร่างกฎกระทรวงมหาดไทย "กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกของอาคารเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกคนสามารถเข้าถึงได้ พ.ศ. ...." มาร่วมกันพิจารณาอย่างละเอียด ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานด้าน Accessibility

 

การขับเคลื่อนโครงการสร้างชุมชนต้นแบบที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของทุกคน ซึ่งดำเนินการโดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยพื้นที่ดำเนินการส่วนใหญ่คือ สวนสาธารณะ วัด และสถานที่ท่องเที่ยว เห็นควรมีการประสานงาน ร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเสนอแนะแหล่งท่องเที่ยว ที่เหมาะสมในการดำเนินการตามโครงการ และ กระทรวงคมนาคมเพื่อช่วยดำเนินการปรับระบบคมนาคม ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินการโครงการดังกล่าว รวมถึง ควรมีการประสานความร่วมมือกับภาควิชาการเพื่อใช้ทรัพยากรและ องค์ความรู้ร่วมกัน

 

กลไกสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนงานด้าน Accessibility คือ หน่วยงานด้านระบบการศึกษา สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ครู อาจารย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในประเด็นดังกล่าว

 

สมาคมคนหูหนวกแห่งกรุงเทพมหานคร ควรได้รวบรวมข้อมูลและเสนอแนะประเด็นการเข้าถึงบริการการท่องเที่ยว ทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านคมนาคม ด้านการสนับสนุนอาชีพ เพื่อมี ส่วนร่วมในการพัฒนาและประชาสัมพันธ์แหล่ง ท่องเที่ยว ด้านการปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว และ ด้านเอกสารสำคัญ เป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้ ทุกหน่วยงานได้พิจารณาผนวกรวมกับการดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ทุกหน่วยงานเห็นสอดคล้องกันว่าประเด็น Accessibility เป็นประเด็นสาธารณะ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนพิการ แต่คนพิการและผู้สูงอายุควรเป็นตัวชี้วัด ความสำเร็จของ Accessibility ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่อง ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เป็นประเด็นที่ต้อง ร่วมมือกันข้ามกระทรวง ทบวง กรม ประเด็น Accessibility ถือเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนา ประเทศในอนาคต ที่ต้องมีการเชื่อมโยงและบูรณาการ ส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งด้านความรู้ งบประมาณ และมาตรการทางกฎหมาย

 

ควรนำเสนอประเด็น Accessibility ในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้เห็นถึงความคุ้มค่าการดำเนินงาน Accessibility จะทำให้คนที่รอความช่วยเหลือพิเศษ มีจำนวนลดลงไป จะส่งผลต่อระบบสวัสดิการไทย ให้ลงไปสู่คนที่มีความต้องการที่แท้จริง การจัดสวัสดิการ เฉพาะกลุ่มจะลดลงไปด้วย รวมถึงความได้เปรียบในเชิงเศรษฐกิจ อาทิ การนำประเด็น Accessibility มาใช้ประชาสัมพันธ์ในด้านการท่องเที่ยว รวมถึง ควรผลักดันให้ประเด็น Accessibility ได้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรวมถึงกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติด้วย

 

สรุป แนวทางการผลักดันให้ประเด็นการ สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility) ให้เป็นประเด็นสาธารณะร่วมกัน ได้นั้น ต้องสร้างความร่วมมือร่วมกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันจัดประชุม จัดสัมมนา เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับให้ประเด็น Accessibility เป็นประเด็นระดับชาติ เป็นประเด็นสาธารณะ เป็นประเด็นที่มีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ และ คนทั้งมวล เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติงานร่วมกัน มีความเชื่อมโยงมีกฎหมายและงบประมาณ สนับสนุน เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และในที่สุด จะนำไปสู่การผลักดันให้มีพระราชบัญญัติเพื่อการ เข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน (Accessibility For All Act : AAA)

 

ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่คณะกรรมาธิการ สังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โทร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๕-๖ โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๒๒๖

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 21 พฤษภาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก