ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นายกรัฐมนตรี มุ่งหวังจะเชื่อมโยงไทย - ยูเรเซีย และอาเซียน - รัสเซีย เพื่อเพิ่มพูนการค้าการลงทุนให้เพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี

วันที่ลงข่าว: 23/05/16

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - รัสเซีย สมัยพิเศษ วันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2559 ณ เมืองโซชิ สหพันธรัฐรัสเซีย ว่ามีโอกาสพบกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งได้พูดคุยหลายเรื่อง โดยเฉพาะความร่วมมือไทย - รัสเซีย และยูเรเซีย ในหลายมิติ ซึ่งไทยมีโอกาสหลายเรื่อง ทั้งด้านอาหาร พลังงาน ความมั่นคงเศรษฐกิจ รวมถึงการศึกษา และการลงทุนร่วมกัน โดยมุ่งหวังเชื่อมโยงภูมิภาคยูเรเซียกับอาเซียน แต่หลายเรื่องยังเป็นอุปสรรค ดังนั้น ต้องกำจัดอุปสรรคให้ได้ ในส่วนของประเทศไทย จะดูว่าทำอย่างไรจะเชื่อมโยงทั้งสองภูมิภาคนี้ให้ได้โดยเร็ว เนื่องจากระยะทางที่ห่างไกลกัน จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง สิ่งที่ควรเริ่มต้นโดยเร็ว คือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่ลำพังประเทศไทยประเทศเดียว คงไม่สามารถทำได้มาก จะต้องร่วมมือกันด้วย โดยเฉพาะความคาดหวังที่จะเพิ่มปริมาณการค้าเป็น 5 เท่า ภายใน 5 ปี สำหรับสาขาการท่องเที่ยวและด้านอาหาร ที่ไทยมีศักยภาพ ต้องใช้ความสัมพันธ์พหุภาคี ระหว่างไทยกับอาเซียน และรัสเซียกับยูเรเซีย เพิ่มปริมาณการค้าให้เร็วขึ้น แต่ต้องกำจัดอุปสรรคด้านการเงิน การธนาคาร ซึ่งเสนอให้ใช้ระบบบัญชีในการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยจะมีการหารือในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประเด็นที่ต้องการให้ที่ประชุมรับทราบ คือ การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู อย่างจริงจัง ซึ่งไทยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และเรื่องที่ไทยร่วมกับรัสเซียแล้ว คือ การปราบปรามการทุจริต การฟอกเงิน และปัญหาอาชญากรรม

สำหรับการหารือทวิภาคี กับรัสเซีย และเมียนมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเศรษฐกิจการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งไทยและอาเซียน มุ่งหวังให้รัสเซียเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ ในเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาอาเซียน การลงทุน การวิจัยพัฒนา ที่จะทำให้แต่ละประเทศมีรายได้สูงขึ้น เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ ส่วนการหารือกับประธานาธิบดีเมียนมา ต่างเห็นพ้องจะร่วมมือกันมากขึ้น เดินหน้าเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การเปิดจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่านแดนพิเศษ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าขายระหว่างกันให้สูงขึ้น หากสามารถรวมตลาดกันได้ CLMV จะทำให้การพัฒนาก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยังมีโอกาสได้พบกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ซึ่งทั้งสองฝ่าย เห็นด้วยที่จะสานต่องานของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงการแก้ปัญหาด้านการเกษตร และการขายข้าว โดยหวังว่าข้าวไทยและเวียดนาม จะสามารถขายได้โดยไม่แย่งตลาดกัน ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือกับเวียดนามแก้ไขปัญหา รวมทั้งการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศที่ทำประมงเช่นเดียวกับไทย

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก