ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เอไอเอส ร่วม รร.คนตาบอดแพร่ ตั้งศูนย์ Call Center เปิดโอกาสผู้พิการเข้าทำงาน ที่จังหวัดแพร่

วันที่ลงข่าว: 19/05/16

วันนี้ (18 พ.ค.59) ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ นางชูสม รัตนนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานเปิดศูนย์ปฎิบัติการ AIS Call Center แก่ผู้พิการในจังหวัดแพร่ โดยมีนางอัญชนา ก่อมาลัยพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดสันติจินตนา จ.แพร่ ,นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธีเปิด พร้อมทั้งเป็นผู้ให้ข้อมูลแนวนโยบายของทางบริษัทในการวางแผนรับผู้พิการหลายประเภทเข้าทำงานได้ตามความสามารถโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ศูนย์ปฏิบัติการเอไอเอสคอร์เซ็นเตอร์ที่ตั้งใหม่ถือเป็นแห่งที่ 9 มีผู้พิการประเภทดาวซิงโดม ผู้พิการออทิสติค และผู้พิการทางสายตามเข้าทำงานแล้วจำนวน 86 คน ซึ่งผู้พิการเหล่านี้ได้รับรายได้และสิทธิในการทำงานเทียบเท่าคนทำงานปกติ

นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า ความจริงแล้วประเทศไทยมีกฎหมายบังคับว่าถ้ากิจการใดมีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องรับผู้พิการเข้าทำงาน 2 คนอยู่แล้ว และถ้าบริษัทใดไม่สะดวกก็สามารถนำเงินชดเชยเข้ากองทุนได้โดยที่ไม่ต้องว่าจ้างผู้พิการ แต่ทางเอไอเอสเอง นั้นสามารถทำธุรกิจได้นั้นจากสังคม ดังนั้นจึงคิดช่วยเหลือสังคม ผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ส่วนที่ถือว่าพิเศษคือการดูแลผู้พิการ อาทิ กลุ่มดาวซิงโดม ออทิสติค ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้จนกลายเป็นภาระของสังคม ผู้พิการทางสายตา บริษัทจึงทำการศึกษาดูว่าคนกลุ่มเหล่านี้เป็นอย่างไร จึงทำการศึกษาพบว่าผู้พิการเหล่านี้มีความสามารถเมื่อนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเสริม เช่น แอพพลิเคชันตาทิพย์ แอพพลิเคชันอ่านข้อความ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนสอนผู้พิการทำให้การทำงานศูนย์คอร์เซนเตอร์โดยผู้พิการเกิดขึ้นได้ แนวคิดนี้เริ่มเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันถือเป็นศูนย์ที่ 9 แล้วที่จังหวัดแพร่ ซึ่งการทำงานของบริษัทจะเร่งเปิดศูนย์ดังกล่าวคาดว่าในอีก 2-5 ปีข้างหน้าจะสามารถเปิดได้เต็มทุกภาคของประเทศรองรับผู้พิการเข้าทำงาน อย่างไรก็ตามกิจกรรมดังกล่าวเป็นการนำร่องให้บริษัทต่างๆ ได้เห็นศักยภาพคนพิการที่สามารถทำงานได้เทียบเท่าคนปกติหรือดีกว่าด้วยซ้ำไป เป็นการกระตุ้นให้มีการรับผู้พิการเข้าทำงานมากขึ้น

ด้านนางธิภกร นันทะพงษ์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า การดูแลคนพิการในจังหวัดแพร่ บริษัทที่เข้าข่ายจ้างคนพิการเข้าทำงานคือมีพนักงานเกิน 100 คนขึ้นไป มีอยู่ 12 กิจการรับผู้พิการเข้าไปทำงานทั้งหมดตามเงื่อนไขของกฎหมาย อย่างไรก็ตามผู้พิการในจังหวัดแพร่ที่จดทะเบียนไว้มีอยู่ 20,000 คน ซึ่งผู้พิการที่ยังไม่ได้เข้าทำงานตามเงื่อนไขของกฎหมาย พม. ได้ตั้งศูนย์บริการผู้พิการทั่วไปในระดับท้องถิ่นแล้วจำนวน 15 แห่ง ซึ่งมีการทำแผนขยายผลภายในปี 2561 จะมีศูนย์บริการดังกล่าวเต็มพื้นที่คือ 83 แห่งในจังหวัดแพร่

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก