ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สนช. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

วันที่ลงข่าว: 29/04/16

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมคนไทยสร้างโอกาสในการแข่งขันทางการค้าระดับชาติ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. วันนี้ (28 เม.ย.59) โดยเป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ....ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบดิจิทัลมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และด้านธุรกิจ ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความต้องการนำระบบเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ เพื่อสร้างมูลค่า ส่งเสริมให้คนไทยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างโอกาส ลดความเลื่อมล้ำช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการให้เข้าถึงและเชื่อมโยงข้อมูลสำคัญทั่วโลก รวมถึงลดการทำงานซ้ำซ้อนในการดำเนินการค้าและส่งเสริมกิจกรรมในด้านเศรษฐกิจและสังคมของภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ ได้เตรียมกำหนดให้ประกาศใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เตรียมการเริ่มจัดทำแผนนโยบายระดับชาติ เพื่อเสนอแนะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และนำเสนอแผนงานการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งตัวอย่างโครงการ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อให้การขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเกิดผลที่เป็นรูปธรรม

ขณะที่ สมาชิกอภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินี้ พร้อมเสนอว่า สิ่งที่สำคัญทางด้านนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ทันสมัยในการทำธุรกิจนั้น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลควรมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงในทุกด้านให้เกิดคุณภาพ ลดความซ้ำซ้อน และเกิดการบรูณาการอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน จะต้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ ให้กระชับลดการซ้ำซ้อน ลดการเกิดหน่วยงานใหม่ที่ส่งผลทางด้านงบประมาณให้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ ทั้งนี้ หลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 159 ต่อ 4 และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 23 คน พิจารณาแปรญัตติภายใน 15 วัน มีกรอบการทำงาน 60 วัน

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก