ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ทึ่ง!ชายพิการสู้ชีวิต เปิดอู่ซ่อมรถทุกชนิดยัน 10 ล้อ ไม่มีลูกมือ หาเลี้ยงชีพตัวเองกว่า 50 ปี

วันที่ลงข่าว: 28/04/16
นายวันโชค แดงโชติ ผู้พิการขาทั้ง 2 ขา ได้รับฉายา "ปรมาจารย์เครื่องยนต์"
 
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่า ที่บ้านเลขที่ 59 บางนาเหนือ ซอย 2 หมู่ 12 ต.คอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ พบเฒ่าผู้พิการขาทั้ง 2 ข้าง แต่มีความสามารถในการซ่อมเครื่องยนต์รถบรรทุกขนาด 4 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ รถไถ รถตัก รถเคลน รถยก รวมถึงรถดัดแปลงเพื่อการเกษตรขนาดเล็ก ยึดอาชีพนี้มานานกว่า 50 ปี เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง โดยไม่มีลูกมือคอยให้การช่วยเหลือ จนคนทั้งหมู่บ้านทึ่งในความสามารถ ถึงขนาดตั้งฉายาว่าเป็น “ปรมาจารย์เครื่องยนต์” ด้วยการใช้มือทั้ง 2 ข้าง พยุงร่างกายให้สามารถเคลื่อนตัวไปไหน มาไหน ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว นอกจากมีความสามารถซ่อมเครื่องยนต์ได้แล้ว ยังมีความสามารถในการขับรถยนต์ได้ด้วย จนได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้พิการตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในชีวิต
จึงรุดเดินทางไปหาเฒ่าผู้พิการขาทั้ง 2 ขา ที่ได้รับฉายา "ปรมาจารย์เครื่องยนต์" ได้พบกับนายวันโชค แดงโชติ อายุ 65 ปี เจ้าของอู่โชคชัยการช่าง กำลังเปลี่ยนตลับลูกปืนใหม่เพื่อใส่ลงไปในก้านลูกสูบเครื่องยนต์คูโบต้าสำหรับใช้ในการเกษตรให้กับลูกค้า เนื่องจากตลับลูกปืนก้านสูบของเก่ามันแตก ส่งผลทำให้เครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับการเกษตรไม่สามารถวิ่งได้ ด้วยท่าทางที่อารมณ์ดี และมีลูกค้านั่งเฝ้ารออยู่
 
นายวันโชค กล่าวว่า อู่แห่งนี้ทำงานเพียงคนเดียวโดยไม่มีผู้ช่วยหรือลูกจ้างคอยช่วยเหลือ บริการรับซ่อมรถยนต์ทุกชนิด อาทิ รถแม็คโคร รถไถ รถตัก รถเคลน รถอีแต๋น รถบรรทุกตั้งแต่ 4 ล้อ 6 ล้อ 10 ล้อ ทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน นอกจากซ่อมเครื่องยนต์แล้ว ยังรับเชื่อมเหล็ก และกลึงอะไหล่เครื่องยนต์ให้กับลูกค้าด้วย โดยมีลูกค้าขาประจำภายในหมู่บ้าน และต่างถิ่นจากอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ศรีนคร จ.สุโขทัย และ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ หากจังหวัดไกลก็จะเป็นจ.ตาก โดยมีลูกค้าขับรถมารับและส่งที่อู่ การซ่อมเครื่องยนต์หากเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ ก็จะใช้ลอกชักดึงเครื่องลงมาที่พื้น แล้วบันไดเหล็กช่วยในการถอดเครื่องยนต์ที่เสียออกมาซ่อม
 นายวันโชค กล่าวต่อว่า ตนมีญาติพี่น้องชายหญิงทั้งหมด 4 คน ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ พ่อและแม่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นน้องคนสุดท้อง เกิดมาร่างกายไม่ครบส่วนเหมือนคนทั่วไป ที่ชาวบ้านเรียกว่าพิการไม่สมประกอบ เนื่องจากขาไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง มีขาซ้ายสั้นและมีนิ้วเท้าไม่ครบ ส่วนขาด้านขวาด้วนเกือบถึงสะโพกโดยมีติ่งเนื้อยื่นมาให้เห็นเพียงนิดเดียว อายุ 8 ขวบ เจ้าของบริษัทรถลากไม้ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขอนำไปเลี้ยง ภายในบริษัทมีรถจำนวนหลายคัน รถคันไหนเสียช่างนำมาซ่อมแก้ไขเพื่อให้วิ่งได้ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงเดินเข้าไปคลุกคลีอยู่ใกล้กับช่าง ได้สัมผัสอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ที่ถูกนำมาซ่อมและวางอยู่บนพื้น ฝึกหัดหมุนน็อตเข้าออก ถอดและใส่ประกอบชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ จากขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่จนทำให้จำได้หมด
 นายวันโชค กล่าวด้วยว่า เมื่ออายุ 10 ขวบ รับเบี้ยเลี้ยงค่าขนมครั้งละ 90 บาท จากการถอดอะไหล่ออกมาให้ช่างตรวจดู หากเสียจะซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่แทน จากนั้นจะนำชิ้นส่วนประกอบใส่เข้าไป ช่วงอายุได้ 13-17 ปี มีความชำนาญในการทำงานคล่องขึ้น จึงรับเงินค่าจ้างเป็นรายเดือนละ 5,000 บาท ต่อมาจึงออกหาประสบการณ์เป็นช่างในจังหวัดระยอง พร้อมฝึกเป็นช่างกลึง ช่างเชื่อมโลหะและเหล็ก มีความรู้ความสามารถ จึงทำงานอยู่บริษัทเอกชนในหลายจังหวัดรวมทั้งอุตรดิตถ์ มีรายได้ต่อวันละ 700 บาท ระหว่างนี้มีครอบครัวและมีลูกชาย 2 คน ฝึกลูกชายทั้งคู่ให้เป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ปัจจุบันคนโตบวชอยู่ใกล้บ้าน ส่วนคนเล็กเป็นช่างยนต์ทำงานอยู่ต่างจังหวัด ภรรยาก็แยกทางกันกลับไปอยู่บ้านแม่ที่ทองแสนขัน
 
 “ผมหันมาเปิดอู่อยู่ใกล้บ้านญาติพี่น้อง เพื่อเลี้ยงชีวิตตนเองบนเนื้อที่ดิน 5 ไร่ พร้อมกับอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือช่างที่ลงทุนไป 300,000 บาท รายได้แต่ละวันไม่แน่นอน พอมีเก็บเหลือบ้างเอาไว้ใช้ยามจำเป็น ช่วงที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว ยอมรับตอนนี้อายุมากขึ้น สิ่งที่ภาคภูมิใจในชีวิตมากที่สุดคือ การได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นบุคคลพิการตัวอย่าง ประจำปี 2527 ในฐานะผู้ประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต สมควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลทั้งหลาย ให้ไว้ ณ วันที่ 22 กันยายน 2527 โดย ศาสตราจารย์ ประภาศน์ อวยชัย ประธานสภาสังคมสงเคราะห์ นับเป็นเกียรติประวัติให้แก่วงศ์ตระกูลเป็นอย่างมาก” นายวันโชค กล่าว
 
 ปัจจุบันได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท และเบี้ยพิการอีกเดือนละ 600 บาท นอกจากมีความสามารถในการซ่อมรถยนต์ทุกชนิดแล้ว ยังมีความสามารถในการขับรถทุกชนิดได้ด้วย ด้วยการดัดแปลงเพิ่มเติมส่วนคัดเร่งเครื่องยนต์และคันเบรค สำหรับใช้มือซ้ายเร่งเครื่องยนต์ และใช้ดึงเบรครถยนต์ รวมถึงคลัชให้มีขายาวขึ้นมามากกว่าเดิม สามารถใช้ขาด้านซ้ายในการเหยียบคลัชเพื่อเปลี่ยนเกียร์ได้ ใช้สำหรับขับไปซื้ออุปกรณ์อะไหล่รถยนต์ในเมืองด้วยตนเอง
 
 “ชีวิตเกิดมาไม่เคยรู้สึกท้อกับร่างกายที่พิการ อยากให้ข้อคิดผู้พิการด้วยกันว่า อย่าได้ท้อถอยต่อชีวิตขอให้สู้ในส่วนที่เราทำได้ เพื่อเลี้ยงดูตนเองไม่หวังพึ่งพาใคร เว้นแต่ไม่ไหวจริงต้องพึ่งพาอาศัยก็ว่ากันไป คนเราเกิดมาแล้วจำเป็นต้องสู้ ใจสู้หนักแค่ไหนทุกอย่างก็ผ่านได้หมด ไม่ว่าจะเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างกลึง ช่างเชื่อม หรือแม้นแต่ขับรถยนต์เป็นด้วยตนเอง ทั้งที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือรู้หนังสือมาเลย ชีวิตนี้เหมือนนิยาย ใครจะรู้ว่ามีความสามารถขนาดนี้หากไม่ได้มาสัมผัส ทั้งนี้เกิดจากการต่อสู้ ชีวิตไม่สิ้นหวังถ้าคิดสู้ กำลังใจเท่านั้นที่ทำให้มีวันนี้ได้” ปรมาจารย์เครื่องยนต์ กล่าว
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ออนไลน์ วันที่ 22 เมษายน 2559

Video ประกอบข่าวประจำวัน

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก