ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สพป.สิงห์บุรี เปิดการอบรมพัฒนาครูตามโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนร่วมและเรียนรวม ประจำปี 2559

วันที่ลงข่าว: 20/04/16

วันที่ (19 เม.ย.59) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี ชั้น 3 นายสัจจา สีปาน รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาครูตามโครงการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาเรียนร่วมและเรียนรวม ประจำปี 2559 “การพัฒนาทักษะภาษาไทยเพื่อการอ่านออกเขียนได้” โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มตามศักยภาพ และเหมาะสมกับตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ จากบริษัทอักษรเจริญทัศน์ นำโดย ดร.ดารณี ศักดิ์ศิริผล และคณะ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา มาตรา 10 กำหนดว่า การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษา ขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และวรรคสอง การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง ให้จัดตั้งแต่แรกเกิด หรือพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง สาระสำคัญของพระราชบัญญัติการศึกษา เกี่ยวกับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาของเด็กทุกประเภท ทำให้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ได้กำหนดหลักการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยว่า การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยต้องยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูควบคู่กับการให้การศึกษา โดยต้องคำนึงถึงความสนใจ และความต้องการของเด็กทุกคนทั้งปกติ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ และเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา รวมทั้งการสื่อสารและการเรียนรู้ หรือเด็กที่มีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแล หรือผู้ด้อยโอกาส เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา อย่างสมดุล โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย บูรณาการผ่านการเล่น และกิจกรรมที่เป็นประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เหมาะสมกับวัย และความแตกต่างระหว่างบุคคล ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กแต่ละคนได้มีโอกาสพัฒนาตนเองได้ตามลำดับขั้นของพัฒนาการสูงสุดตามศักยภาพ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข เป็นคนดีและคนเก่งของสังคม สอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา สภาพทางเศรษฐกิจ สังคม โดยความร่วมมือจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กร เอกชน สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น จากหลักการของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยแสดงให้เห็นว่าหลักสูตรให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยทุกประเภทรวมถึงเด็กที่มีต้องการพิเศษ

การจัดการเรียนร่วมจะประสบความสำเร็จเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับครูที่จะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อเด็กที่มีความต้องการพิเศษและการจัดการเรียนร่วม ครูต้องมีความตั้งใจในการสอน มีการวางแผนการสอนอย่างรอบคอบ จัดการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่น และควรมีแผนการจัดการเรียนรู้เป็นรายบุคคลสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และจัดบรรยากาศการเรียนการสอนให้มีลักษณะปกติ เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษมาเป็นภาระให้กับเพื่อนและครู และครูควรได้รับการอบรมฝึกฝนในเรื่องการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก