ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พม. เร่งขับเคลื่อนให้คนพิการมีงานทำอย่างต่อเนื่องจัดการประชุมแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ

วันที่ลงข่าว: 08/04/16

วันนี้ (7 เม.ย.59) เวลา 12.30 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ในการเข้าถึงสิทธิการมีงานทำของคนพิการในหน่วยงานของรัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ การสร้างความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ และการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เป็นบุคลากรด้านบริหารงานบุคคลและกฎหมาย ในสังกัดกรมต่างๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอิสระ และสถาบันการศึกษา ที่มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รวมจำนวนทั้งสิ้น 350 คน

 

นายไมตรี กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลด้านความมั่นคงของชีวิตและสังคม โดยการเสริมสร้างให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ การให้การสงเคราะห์ การจัดการศึกษา การจัดสวัสดิการ รวมถึงการจัดหาอาชีพให้แก่คนพิการ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ และโดยที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ได้กำหนดสิทธิของคนพิการไว้อย่างครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้คนพิการไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน หรือองค์กรด้านคนพิการ รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการภาคเอกชน ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คน ต้องจ้างคนพิการ 1 คน หรือ 100 :1 ตามมาตรา 33 และสนับสนุนการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพิการตามมาตรา 35 และกรณีสถานประกอบการเอกชนใดไม่ดำเนินการใน 2 วิธีข้างต้น ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้ เพื่อให้คนพิการจะได้มีอาชีพมีงานทำ สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ตลอดจนเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

 

นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า จากการที่พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ได้มีผลใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกประเภท ส่งผลให้มีการแบ่งหน่วยงานของรัฐเป็น 4 ประเภท คือ 1)กระทรวง 2)องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3)รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ 4)หน่วยงานอื่นของรัฐ เช่น องค์การมหาชน หรือองค์กรอิสระ ได้จ้างงานคนพิการเข้าทำงาน จำนวน 1,313 คน และจัดให้สัมปทาน จำนวน 398 คน รวมกันเพียง 1,711 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.54 เท่านั้น ขณะที่สถานประกอบการเอกชนได้รับคนพิการเข้าทำงานแล้ว จำนวน 29,787 คน จัดให้สัมปทาน 6,331 คน และส่งเงินเข้ากองทุนแทนการจ้างคนพิการ จำนวน 19,443 คน รวมเป็น 55,561 คน ซึ่งถือได้ว่าสถานประกอบการเอกชนได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้วถึงร้อยละ 90.44

 

จากสถานการณ์ผลการจ้างงานคนพิการดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งร่วมมือกันเพื่อหาแนวทาง และวิธีการที่จะทำให้คนพิการสามารถเข้าทำงานกับหน่วยงานของรัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม และทั่วถึง ซึ่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกถือว่าการมีงานทำเป็นการให้โอกาสทางสังคมที่ดีที่สุดแก่คนพิการ และส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการอีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้หน่วยงานของรัฐซึ่งมีผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 ร้อยคนขึ้นไป รับคนพิการที่สามารถทํางานได้เข้าทำงานตามมาตรา 33 หรือให้สัมปทานตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ให้ครบตามอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนดภายในปีงบประมาณ 2561 โดยให้รายงานผลการปฏิบัติหรือนำเสนอแผนการดำเนินงานทุก 1 ปี และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เป็นผู้รวบรวมรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

 

"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายร่วมกับกระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการมีอาชีพ การมีงานทำของคนพิการ เนื่องจากจะทำให้คนพิการมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองของคนพิการอย่างยั่งยืน เป็นการเปลี่ยนคนพิการจาก "ภาระ” ให้เป็น "พลัง” ของครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ทำให้คนพิการรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เกิดความภาคภูมิใจ และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐทุกประเภทได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติ อีกทั้งจะได้ร่วมกันกำหนดแนวทางที่เหมาะสมในการปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป ” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก