ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สถานีพัฒนาสังคม: การประชุมสมัชชาคนพิการระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๙

วันที่ลงข่าว: 05/04/16

คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นต่อนโยบายสาธารณะด้านคนพิการ ระดับภูมิภาค จำนวน ๔ ครั้ง ๔ ภูมิภาค

 

ผลจากการประชุมระดับภูมิภาค ได้นำไป เสนอในเวทีประชุมสมัชชาคนพิการระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๙ ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพมหานคร และได้ยื่นข้อเสนอที่เป็นมติของสมัชชาคนพิการระดับชาติ ปี ๒๕๕๙ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สาระสำคัญจากการประชุมเวทีประชุมสมัชชาคนพิการระดับชาติ  มีดังนี้

 

๑.การประชุมสมัชชาคนพิการเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในครั้งนี้ ได้ดำเนินการระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓ เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นความพยายามที่จะให้รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินได้ทราบว่าคนพิการมีปัญหา มีความต้องการจำเป็น ตลอดจนมีวิสัยทัศน์ที่จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ดังนั้น การพบกันของคนพิการในวันนี้ เพื่อสรุปความเห็น ข้อเสนอแนะของคนพิการ แล้วส่งมอบให้รัฐบาล โดยผู้แทน คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมของคนพิการที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

พลังคนพิการ เป็นพลังที่คนพิการได้สะสมมาเป็นเวลาช้านาน เป็นพลังที่เกิดจากความทุกข์ เป็นพลังที่เกิดจากปัญหา เป็นพลังที่เกิดจากการที่คนพิการรู้ว่ากำลังมีปัญหาอะไร รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหา และเกิดจากการที่คนพิการที่ประสบปัญหาเดียวกัน ทั้งปัญหาความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาค ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ ปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนา การไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร การไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพ แวดล้อมและบริการต่างๆ เมื่อคนพิการรู้ปัญหาแล้วไม่ได้นิ่งเฉย มีการจัดการตนเอง มีการรวมกลุ่มกัน เมื่อคนพิการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่น มีการ จัดการตนเองที่ดี มีธรรมาภิบาล มีวิสัยทัศน์ ร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน เกิดเป็นพลังขึ้น เป็นพลัง แห่งความใฝ่รู้ร่วมกัน วิเคราะห์ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ท้ายที่สุดเกิดการสังเคราะห์ ค้นพบแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือ มรรควิธีในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอธิบายตามหลักอริยสัจ ๔ คือ รู้จักทุกข์และสาเหตุแห่งทุกข์แล้ว คือ ความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาค การถูกเลือกปฏิบัติ ไม่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ตามสิทธิของคนพิการ แม้กฎหมายจะบัญญัติสิทธิ ต่างๆ ของคนพิการไว้แล้ว แต่สิทธิก็ยังคงอยู่ ในกระดาษ สิทธิยังอยู่ในชั้นหนังสือ สิทธิยังอยู่ในห้องสมุด สิทธิที่ยังอยู่ในที่เก็บซ่อน ดังนั้น เมื่อรู้สาเหตุของปัญหาแล้ว คนพิการจึงมีการรวมตัวกัน มีการจัดการตนเอง พลังงานของการจัดการตนเองของคนพิการ ได้ผ่านการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีก ในสมัชชาคนพิการแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ซึ่งได้มีการจัดตั้งสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ทุกครั้งที่มีสมัชชาคนพิการแห่งชาติ จะมีญัตติและมีมติความเห็นร่วมเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ยังไม่มีตัวบทกฎหมาย มาจนกระทั่งมีกฎหมายเฉพาะของคนพิการ เริ่มจากกฎหมายกึ่งเวทนานิยมเชิงสงเคราะห์กึ่งฟื้นฟู มองว่าปัญหาคนพิการอยู่ที่ตัวคนพิการเองเป็นเรื่องของความบกพร่อง เสียหาย ชำรุด แต่ต่อมาเมื่อกระแสสิทธิ มนุษยชนเบ่งบานขึ้น กระแสประชาธิปไตยเบ่งบานขึ้น กระแสสิทธิคนพิการในฐานะที่เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน เป็นที่ยอมรับนับถือมากขึ้น คนพิการไทยมีการตื่นรู้ มากขึ้นทราบว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวคนพิการเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ถูกกำหนดขึ้นโดยเงื่อนไข ทางสังคม หนทางเดียวที่จะแก้ไขคนพิการ คือ จะต้องแก้ไขเงื่อนไขทางสังคม

 

ดังนั้น จึงมีการรวมตัวกัน จัดการตนเองจนกระทั่งเป็นปึกแผ่น มีข้อเสนอแนะต่างๆ จนนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎกติกา จนกระทั่ง มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ มีพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ เป็นกฎหมายเฉพาะมีการแก้ไขกฎหมาย อื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย มีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการแห่งชาติ ถึงฉบับที่ ๔ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้สิทธิคนพิการทางกฎหมายและเอกสารของไทยไม่ได้เป็นสองรองใคร แต่จะทำสิทธิคนพิการดังกล่าวให้เป็นจริงได้อย่างไร จึงต้องมีพลังขับเคลื่อนที่ก้าวไปไกล ยิ่งกว่า จึงต้องมีสมัชชาในครั้งนี้ เพื่อทำสิทธิให้เป็นจริง เป็นการรวบรวมสรรพกำลัง มองข้ามปัญหาเฉพาะสำหรับคนพิการไปถึงปัญหาที่กว้างกว่านั้น เมื่อคนพิการซึ่งถือเป็นคนจนที่สุด หากสามารถเปลี่ยนแปลงสังคม สามารถขจัดเงื่อนไขทางสังคม ที่เป็นอุปสรรคสำหรับคนพิการได้ สังคมโดยรวมก็จะ เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีคนพิการ เป็นตัวชี้วัด จึงนำมาสู่ข้อหัวทั้ง ๓ ประการ คือ

 

ประการที่ ๑.การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ คือ ความเสมอภาค ความเท่าเทียม และขจัดการเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นแก่นของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นแก่นสาระสำคัญของอนุสัญญาหรือสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศทุกฉบับ รวมถึงอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

 

ประการที่ ๒.การเข้าถึงสภาพแวดล้อม ซึ่งหมายรวมถึงตั้งแต่สภาพแวดล้อมที่จับต้องได้ไปจนถึงจับต้องไม่ได้ ทั้งอาคารสถานที่ ขนส่งสาธารณะ ข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร ผลิตภัณฑ์ และบริการทั้งปวง ซึ่งต้องก้าวไกลไปถึงหลักการการออกแบบที่เป็นสากล เป็นมิตร เป็นธรรม เป็นสากล เป็นอารยะ คำนึงถึงความต้องการจำเป็น ของคนทุกคนทุกกลุ่ม

 

ประการที่ ๓.การขับเคลื่อนศูนย์บริการคนพิการ ซึ่งเทียบได้ว่าเป็นกลไกประชารัฐ คือ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานบริการ ในการแปลงสิทธิให้เป็นจริง โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การให้น้ำหนักที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ซึ่งขับเคลื่อนโดยองค์กรด้านคนพิการ

 

เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กลไกทั้ง ๓ ประการ จะเป็นพลังที่คนพิการนั้น แสดงตนเป็นแบบอย่าง ทั้งตัวบทกฎหมายในการส่งเสริมความเสมอภาคและการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม หลักการที่จะสร้างหลักประกันในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ไม่ว่าคนนั้นจะมีความพิการมากหรือน้อยเพียงใด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ตลอดจนกลไกที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันเพื่อจัดทำกลไกการนำบริการหรือนำสิทธิไปถึงมือประชาชน คือ การมีหุ้นส่วนร่วมกัน ข้ามกระทรวง ทบวง กรม ข้ามเนื้อหาที่หลากหลายทั้งด้านสังคม อาชีพ การศึกษา สุขภาพ และเทคโนโลยี สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จในศูนย์เดียว คือ ศูนย์บริการคนพิการ และเชื่อได้ว่าถ้ากลไกทั้งในเชิงของกฎหมายก็ดี ทั้งในเชิงของการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในด้านการพัฒนาและการจัดสภาพแวดล้อมก็ดี ทั้งกลไกการให้บริการแบบบูรณาการข้ามกระทรวง ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนก็ดี เชื่อว่าสิทธิคนพิการจะเป็นจริง และเมื่อสิทธิ คนพิการเป็นจริงขึ้นมาได้ สังคมก็จะเรียนรู้ถึงการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เพราะเชื่อว่าการขับเคลื่อนด้วยพลังภายในของคนพิการ โดยมีกัลยาณมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมกัน นั้น จะเป็นพลังน้อมนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อการปฏิรูปสังคมไทย ให้ไปสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันที่แท้จริง แม้จะมองว่าเป็นความฝัน แต่คนพิการได้ทำความฝันให้เป็นจริง หลายอย่างในสังคมนี้แล้ว จึงขอถือโอกาสนำ ข้อเสนอแนะต่างๆ นี้ไปสู่รัฐบาล และหวังว่ารัฐบาลจะรับฟังเสียงจากพิการ ซึ่งมีพลังที่ไม่ยอมจำนน เพื่อร่วมกันปฏิรูปสังคมนี้อย่างแท้จริง ให้เป็นสังคมที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป ขอพลังแห่งความมุ่งมั่นในความใฝ่รู้  พลังแห่งความมุ่งมั่นที่จะยิ้มสู้ พลังแห่งความเป็นผู้รับใช้ และพลังแห่งความเป็นผู้ไม่ยอมจำนน จงอยู่กับทุกคนทุกท่านตลอดไป และขอให้สังคมไทยจงเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกัน มีภูมิคุ้มกัน มีภูมิต้านทานความเสี่ยงภัย ทั้งปวง และเราจะชนะไปด้วยกัน

 

๒.มติสมัชชาคนพิการระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๙

๑.การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ นำเสนอโดย นายธีรยุทธ สุคนธวิท ผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ สรุปได้ ดังนี้

 

๑) ให้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นกลไกหลักในการ ประสานบูรณาการ ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างแรงจูงใจให้ทุกส่วนราชการ หน่วยงานอิสระ องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและ ใช้ประโยชน์ได้ ให้ครบทุกแห่ง ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๑

 

๒)ให้สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เสนอแก้ไขปรับปรุงร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ในประเด็นการจัดสภาพแวดล้อม สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ มาตรา ๒๐ (๖) มาตรา ๒๒ และมาตรา ๓๗ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

 

๓) ให้สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

 

๔) ให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต คนพิการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการจัดทำมาตรฐาน เกณฑ์การประเมินคุณภาพ และมีการตรวจสอบติดตามการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

 

๕) ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดสร้างสภาพแวดล้อมสาธารณะด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ทุกคนรวมถึงคนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ได้ ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

 

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ถนนอู่ทองใน ดุสิต กทม. 10300 email : dek_senate@hotmail.co.th หรือ Facebook: กมธ.พัฒนาสังคม หรือ กลุ่มงานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็กฯ วุฒิสภา โทร.02-831-9225-6  แฟกซ์ 02-831-9226

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 2 เมษายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก