ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รายงานพิเศษ : ‘บัวแก้ว’เช็ก’คนไทย’ พร้อมแค่ไหนรับประชาคมอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 03/04/16

ในช่วงปีที่ผ่านมาคนไทยได้ยินคำว่า “ประชาคมอาเซียน” กันจนติดหู ค่าที่ในบรรดาประเทศในประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศด้วยกัน ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการประชาสัมพันธ์และความตื่นตัวในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนสูงเป็นลำดับต้นๆ ยิ่งเมื่อประชาคมอาเซียนได้เริ่มขึ้นแล้วในขณะนี้ การเผยแพร่ข่าวสารความรู้และข้อมูลของประชาคมอาเซียนยิ่งเป็นไปอย่างกว้างขวาง กระนั้นก็ดีเราต้องยอมรับว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนของผู้คนในไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่เท่าเทียมกัน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศในการสำรวจความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพิ่งจัดงานเสวนา “คนไทยกับประชาคมอาเซียน : ความเชื่อมั่นในก้าวต่อไป” และเป็นการเปิดตัวรายงานการสำรวจ “ทัศนคติ การรับรู้ และความเข้าใจของประชาชนต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย”

 

นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่า แม้จะเป็นประชาคมอาเซียนแล้วแต่คนทั่วไปยังคงตื่นตระหนกและตื่นเต้นกันมาก เสมือนเดินเข้าไปในห้องมืดแล้วมีไฟเปิดขึ้นทันทีจนทำให้ตาพร่า ทั้งที่ในความจริงการรวมตัวของอาเซียนเกิดขึ้นมานานกว่า 49 ปีแล้ว เมื่อมีการลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ โดยการผลักดันของนายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และขณะเดียวกันการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนก็ไม่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ถือเป็นการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องมีการดำเนินการกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ด้านนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากคนไทยอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามอย่างจริงจังและการบูรณาการของทุกภาคส่วนในช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงสื่อมวลชน ที่ได้ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้กับประชาชนไทยอย่างแข็งขัน

 

ทั้งนี้ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่หลักในฐานะสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ เพื่อประสานงานและบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนในทั้งสามเสาของประชาคมอาเซียน ได้แก่ ประชาคมการเมือง-ความมั่นคง ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศ ประชาคมเศรษฐกิจ ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยกระทรวงพาณิชย์ และประชาคมสังคม-วัฒนธรรม ซึ่งดูแลรับผิดชอบโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้ยังได้เสริมสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในวงกว้างผ่านการบรรยาย งานสัมมนา กิจกรรมประชาสัมพันธ์ และโครงการสัญจรในจังหวัดต่างๆ

 

นายเสขกล่าวว่า ในส่วนของกรมสารนิเทศได้ดำเนินโครงการประชาสัมพันธ์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อแนวใหม่ ตั้งแต่ปี 2556 ตลอดระยะเวลา 3 ปี กรมสารนิเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องมีการประเมินผลโครงการเพื่อพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น จึงได้ริเริ่ม “โครงการสำรวจทัศนคติ การรับรู้ และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับความรู้ความเข้าใจของคนไทยก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยได้ดำเนินการสำรวจต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2558 โดยร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้าโพล ซึ่งจัดทำขึ้น 2 ครั้งในปี 2556 สถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบคโพลในปี 2557 และศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลในปี 2558 ที่เพิ่งผ่านมา

 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า เป็นที่น่ายินดีที่ผลการสำรวจโดยรวมในแต่ละปีสะท้อนให้เห็นว่าระดับความรู้ความเข้าใจของคนไทยต่อประชาคมอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเผยแพร่ผลสำรวจให้เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อสร้างความตื่นตัวและความเข้าใจแก่สาธารณชนในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ยังจะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินงานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำเป็นต้องปรับปรุงและพัฒนาในประเด็นใดและอย่างไรบ้าง ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมิติด้านการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และสามารถใช้โอกาสจากประชาคมอาเซียน รวมทั้งสามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบและความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวและความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดมากขึ้นด้วย

 

มาว่ากันถึงผลการวิจัยเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจที่ทำกันต่อเนื่อง 4 ครั้งใน 3 ปี พบว่าคนไทยที่เชื่อว่าตนเองมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยการสำรวจในปี 2556 ครั้งแรกอยู่ที่ 51.4% แต่ปรับขึ้นเป็น 61.4% ในครั้งต่อมา ขณะที่ในปี 2557 คนไทยระบุว่ามีความพร้อมถึง 79.7% และในปี 2558 ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 84.8% ทั้งนี้ในประเด็นเรื่องภาษาอังกฤษซึ่งดูจะเป็นของแสลงสำหรับสังคมไทยทุกยุคทุกสมัยปรากฏว่า 61.18% บอกว่าคนไทยพร้อม และมีเพียง 38.82% ที่มองว่าไม่พร้อม ส่วนคนที่มองว่าตนเองพร้อมมีสูงถึง 63.13% ที่บอกว่าตนเองไม่พร้อมมีเพียง 36.87% เท่านั้น

 

ขณะที่เมื่อสอบถามถึงความรู้ความเข้าใจใน 3 เสาหลักของอาเซียน คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจเสาเศรษฐกิจมากที่สุดด้วยคะแนน 3.86 จากคะแนนเต็ม 5 ตามด้วยเสาสังคมและวัฒนธรรมที่ 3.84 และ

 

เสาการเมืองความมั่นคงที่ 3.71 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับปากท้องและเรื่องใกล้ตัวอื่นๆ ย่อมมีความสำคัญสำหรับผู้คนมากกว่าเรื่องการเมืองและความมั่นคงที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งไกลตัวเขาออกไป กระนั้นก็ดีความรู้ความเข้าใจของประชาชนในภาพรวมของเสาทั้ง 3 ของอาเซียนก็ถือได้ว่าเพิ่มขึ้นในทุกด้านเมื่อเทียบกับครั้งที่มีการเริ่มทำการสำรวจใหม่ๆ

 

ในคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับความคาดหวังและความคิดเห็นต่อผลดีจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่าข้อดีที่มาพร้อมกับประชาคมอาเซียนคือประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับเสาเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดย 25.39% เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศและทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดี รายได้เพิ่มมากขึ้น มีการจ้างงานและการลงทุนเพิ่มขึ้น 14.77% เชื่อว่าจะส่งเสริมการค้าขายระหว่างกัน ทำให้ค้าขายสะดวกขึ้น สินค้าหลากหลายขึ้น และจะเป็นการเปิดประตูการค้าให้กับสินค้าเกษตรของไทย 14.11% เชื่อว่าจะส่งเสริมธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไทยมีอยู่ 9.31% เชื่อว่าจะส่งเสริมการท่องเที่ยวและมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 7.49% เท่านั้นที่มองว่าจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ประเพณี และความรู้ต่างๆ กับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

 

อย่างไรก็ดี คนไทยก็มีความห่วงกังวลในหลายเรื่อง ที่นำโด่งมาถึง 41.84% คือเรื่องโดนแย่งงานและผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ 16.76% คือความกังวลด้านมิจฉาชีพและปัญหาอาชญากรรมที่อาจเพิ่มขึ้น 12.88% คือกังวลเรื่องการได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการปรับตัวที่ควรต้องทราบ 9.57% กลัวเสียเปรียบเรื่องการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะสินค้าเกษตร 6.29% กังวลเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยถ้ามีคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศมากขึ้น

 

ทั้งนี้ กรุงเทพโพลสรุปผลวิจัยไว้อย่างน่าสนใจว่า คนไทยมีความกระตือรือร้นและตื่นตัวต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในภาพรวมจากความรู้สึกและจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับผ่านสื่อ ผ่านกิจกรรม และผ่านคนรอบข้างในระดับค่อนข้างมาก จนรู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมสูงกว่าความเป็นจริง แต่เนื่องจากคนไทยมีเอกลักษณ์ของความเป็นมิตรและเปิดรับเป็นพื้นฐาน และยังคุ้นเคยกับการรับนักท่องเที่ยวในฐานะประเทศที่เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวมานาน ความกังวลทั้งต่อการใช้ภาษาต่างชาติ และต่อการเปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติจึงเป็นสิ่งที่คนไทยรู้สึกว่าไม่กระทบและต้องปรับตัว คงมีเพียงข้อกังวลของสิ่งที่เป็นปัญหาเดิมจากความไม่เข้าใจหรือกังวลเรื่องผลกระทบต่อปากท้องและการดำเนินชีวิต ซึ่งเชื่อว่าที่สุดจะค่อยๆ คลายความกังวลในอนาคต

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มมติชนออนไลน์ วันที่ 3 เมษายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก