ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

รมว.พม เผยการประชุมคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 5 สร้างโอกาสการพัฒนาความร่วมมือสู่ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

วันที่ลงข่าว: 29/03/16

วันนี้ (28 มี.ค.59) เวลา 09.30 น. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการด้านการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการพัฒนาสังคม การเสริมสร้างศักยภาพสมรรถนะองค์กร การนำนวัตกรรมมาใช้ รวมถึงการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเยาวชนสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาแหงสหัสวรรษในสังคมให้มีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการใน 3 มิติ ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ และสังคมบูรณาการ พร้อมทั้งการป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมสำหรับคนรุ่นต่อไปในอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 120 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับอาวุโสจากประเทศสมาชิก สมาชิกสมบทของ ESCAP ผู้สังเกตการณ์จากองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล ผู้แทนองค์กรในระบบสหประชาชาติ และองค์กรภาคประชาสังคม

 

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษหลายเป้าหมาย เช่น การลดความยากจน การขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในการศึกษาทุกระดับ การพัฒนาระบบการค้าเสรี โดยมีนโยบายส่งเสริมการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของภารกิจการพัฒนาแห่งสหัสวรรษที่กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รับผิดชอบโดยตรง คือ เป้าหมายที่ 5 ด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งกระทรวงฯได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี การเพิ่มสัดส่วนแก่สตรีในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง การพัฒนาศักยภาพผู้หญิงให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และการเมือง

 

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยได้ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีบทบาทสำคัญในโครงการต่างๆ เช่น ภายใต้กรอบอาเซียน ประเทศไทยมีการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในประเด็น ดังนี้ 1) ความร่วมมือเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก 2) การส่งเสริมความเท่าเทียมและคุณภาพชีวิตคนพิการกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม ซึ่งประกอบด้วยญี่ปุ่น เกาหลี และจีน โดยส่งเสริมความเท่าเทียมและสวัสดิการสำหรับคนพิการ 3) การทำโครงการความร่วมมือของสมาคมสตรีศึกษาอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และ 4) ความร่วมมือด้านเด็กและเยาวชน ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีความร่วมมือในการจัดโครงการเรือเยาวชนอาคเนย์ และงานชุมชนเด็กแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นต้น

 

พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เล็งเห็นคุณค่าของการลงทุนกับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยได้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา และการปกป้องคุ้มครองเยาวชนที่มีความเปราะบาง ในส่วนของระบบการศึกษา จะต้องได้รับการประกันว่าหลักสูตรที่สอนนั้น ตอบสนองกับความต้องการในตลาดแรงงาน การดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นได้จาก ๑) การที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครอง และให้สวัสดิการพื้นฐานทางสังคมแก่เด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมตามวัย เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงวัยอื่นๆ ต่อไป ๒) การมุ่งพัฒนาสังคมแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้กลุ่มคนที่มีความเปราะบางได้รับความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ และ ๓) การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตที่เน้นส่งเสริมโอกาสและคุณภาพของการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ การเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย และการเข้าถึงบริการทางสังคม โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เป็นต้น

 

“การประชุมครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และเป็นโอกาสที่จะพัฒนาความร่วมมือกันในระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดดเด่นขึ้น ทั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก และการเป็นผู้นำของความพยายามบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดผลเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าต่อการลงทุนลงแรง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนบนโลก และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอนาคต” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวเสริมในตอนท้าย

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก