ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ร่าง รธน.ในมุม 'ผู้พิการ' อย่างหลงลืม 'สิทธิประชาชน'

วันที่ลงข่าว: 04/03/16

เห็นหน้าเห็นตากันไปแล้วกับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ซึ่งก็ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในด้านบวก คือเป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนมาเพื่อ “ป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น” เพราะมีกติกาควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มงวด แต่ในด้านลบคือเป็นรัฐธรรมนูญที่ส่วนของ “สิทธิและเสรีภาพของประชาชน” ที่ริเริ่มมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และเพิ่มเติมให้มากขึ้นในฉบับ 2550 ได้หายไป

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการทวงถามเรียกร้องเนื้อหาดังกล่าวจากหลายฝ่าย โดยหนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มคนพิการ” ที่ต้องถือว่าเป็น “ผู้ด้อยโอกาส”ในสังคม เป็นกลุ่มต้องการความช่วยเหลือส่งเสริมเป็นพิเศษจากภาครัฐ ดังเช่นในงานสัมมนา “เสียงสะท้อนของคนพิการไทยต่อร่างรัฐธรรมนูญ”11 ก.พ. 2559 ณ อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน กรุงเทพฯ เป็นอีกเวทีที่มีคนพิการเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

 

ว่าที่ ร.ต.สุทัศน์ ศูนย์กลาง อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้การร่างหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือจัดทำนโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ต้องมีการปรึกษาหารือกับสภาคนพิการ ซึ่งก็มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเสียก่อน มิใช่ต่างคนต่างทำ เพราะที่ผ่านมาบางครั้งนโยบายก็ทำสวนทางกันเอง และย้ำว่า..

 

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไรก็ตาม..สิ่งที่กำหนดไว้ดีแล้วขอให้เอากลับคืนมา!!!

 

“ผมเป็นคนปกติมาก่อน มีการเจ็บช้ำน้ำใจพอสมควร ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่สิ้นสุดที่ความพิการ ผมไม่ได้ขอสิทธิเหนือคนอื่น แค่อยากเรียกร้องสิทธิที่ถูกลิดรอน ที่ถูกเหยียบย่ำให้กลับคืนมา จะได้อยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีด้วยกัน ดีใจที่มีคนเห็นหัวอกพวกเรา เราเรียกร้องเพื่อคนที่ต้องตกระกำลำบากให้อยู่อย่างมีความสุขอย่างคนอื่นๆ ผมไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่เรียกร้องเพื่อลูกหลานในอนาคตต่อไป” ว่าที่ ร.ต.สุทัศน์ กล่าว

 

เช่นเดียวกับ นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (แบบสรรหา) ในฐานะผู้พิการทางสายตาอีกราย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิของคนพิการ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคนพิการจะมีสิทธิมากกว่าผู้อื่น..

 

แต่สำหรับสังคมไทย..ถ้าไม่เขียนไว้ ไม่มีการเอ่ยถึง ก็จะกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ “ถูกลืม” อยู่เสมอ!!!

 

“วิธีการที่จะได้รับการนึกถึงคือการบัญญัติไว้ในกฎหมาย ถ้าไม่ได้บัญญัติ แม้นว่าจะถือว่าสิทธิโดยปริยายในฐานะเป็นคนไทย ก็มักจะถูกมองข้ามเสมอ ในปี 2540 จึงเป็นปีแรกที่มีการพูดถึงสิทธิของคนพิการไว้ถึง 5 ที่ด้วยกัน ธงที่เราสามารถปัก ไม่ใช่เฉพาะคนพิการ แต่หมายถึงธงสำหรับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกหมู่เหล่า คือเรื่องการเสนอหลักการที่ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ

 

ในมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้ นอกจากนี้คนพิการยังถูกเอ่ยถึงในมาตรา 55 ได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ สวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ และพูดถึงเรียนนโยบายพื้นฐานของรัฐ ได้รับการสงเคราะห์พัฒนา แต่ที่สำคัญคือเรื่องการมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมาย” นายมณเฑียร ระบุ

 

ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีเพิ่มเติมในส่วนของคนพิการให้มากขึ้นไปอีก คือ มาตรา 40 เรื่องของการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และ มาตรา 49 สิทธิทางการศึกษา ให้คนพิการได้รับงบประมาณเพื่อให้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษาได้ ซึ่งเรื่องของการศึกษานี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อคนพิการสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับชั้นสูงๆ ได้มากขึ้น ในอนาคตคนเหล่านี้ย่อมพึ่งพาตนเองได้..

 

ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือสังคมแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป!!!

 

“สิ่งที่เราต้องการขอเพิ่ม คือสิทธิองค์กรภาคประชาสังคมได้รับการสนับสนุน รัฐต้องสนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย สิทธิคนพิการต้องเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จริง และการทำบัญชีรายชื่อ สส. ต้องคำนึงถึงคนพิการด้วย” นายมณเฑียร กล่าวย้ำ

 

เหตุใดการระบุเรื่องของสิทธิและเสรีภาพอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ นางสุนี ไชยรส อดีตรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (ส.ส.ร.2540)เล่าว่า เมื่อครั้งช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้ออกรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พบว่าประชาชนต่างรู้สึก “อัดอั้น”เกี่ยวกับประเด็นสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างมาก และต้องการให้เขียนลงในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนไม่ต้องตีความ

 

“ทำไมรัฐธรรมนูญปี 2540 ถึงเขียนไว้ละเอียดมาก เขียนเรื่องสิทธิกระจุกกระจิกกันไปหมดเลย เป็นเพราะว่าเรารับฟังความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ไปฟังแล้วก็พบว่าพี่น้องประชาชนอัดอั้นตันใจ และอยากจะบอกเลยว่ากรุณาเขียนให้มันชัดไปเถอะ เรื่องสิทธิเป็นขั้นพื้นฐาน เวลาตีความพี่น้องประชาชนเข้าไม่ถึง ทุกคนอยากให้เขียนให้ละเอียด เพราะจะได้ช่วยพี่น้องทุกกลุ่ม รวมถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม แม้แต่เรื่องของคนพิการ”นางสุนี ระบุ

 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้สร้าง “ผลสะเทือน” แก่สังคมไทยอย่างมหาศาล อดีต ส.ส.ร. 2540 รายนี้ กล่าวว่า ไม่เฉพาะแต่

คนพิการ แต่รวมถึงประชาชนคนเล็กคนน้อยทุกกลุ่ม ต่างมีความ “ตื่นตัว” ลุกขึ้นมาเรียกร้องทวงถามสิทธิเสรีภาพอันพึงมีพึงได้ เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐไทยประกาศว่าสนับสนุน “สิทธิมนุษยชน” ในเวทีระดับนานาชาติ

 

“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ถือเป็นเรื่องใหญ่..ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองดูแล!!!

 

“เดี๋ยวนี้ประชาชนคนพิการทุกกลุ่มเลย ถือรัฐธรรมนูญ ท่องรัฐธรรมนูญ จับตัวรัฐธรรมนูญเอามาใช้ประโยชน์ มีความตื่นตัวเรื่องสิทธิ เพราะมันเป็นหลักการ ขั้นพื้นฐาน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ได้หมายถึงแค่คนพิการ มันหมายถึงคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย วันนี้พี่น้องชนเผ่าจำนวนเป็นล้านคนที่กำลังต่อสู้ ซึ่งในนั้นมีคนพิการด้วย คนทุกกลุ่มก็มีสิทธิเป็นคนพิการ

 

เพราะฉะนั้นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะมันจะคลุมไปหมดทุกคนเลยในยามที่เกิดวิกฤติขึ้นมา ถ้าไม่บัญญัติหมวดทั่วไปว่าด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันเป็นการชี้นำรัฐธรรมนูญทุกฉบับเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมีทิศทางไปอย่างไร ในเรื่องสิทธิเสรีภาพและเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ถูกเรียกร้องทุกกลุ่ม” นางสุนี ฝากทิ้งท้าย

 

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ข้อท้วงติงที่ปรากฏมากที่สุดคงหนีไม่พ้นหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่หายไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนพิการเท่านั้นที่เรียกร้องให้นำกลับคืนมา แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มชุมชนท้องถิ่น ในประเด็นสิทธิการมีส่วนร่วมในโครงการขนาดใหญ่ที่อาจก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทว่าเสียงสะท้อนจากคนเล็กคนน้อยเหล่านี้จะนำไปสู่การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนถึงวันลงประชามติได้มากน้อยแค่ไหน..

 

คงต้องติดตามกันต่อไป!!!

 

 

อารีรัตน์ คุมสุข

SCOOP@NAEWNA.COM

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 3 มีนาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก