ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หนังสือดีเด่น12เรื่องที่พ่อแม่ควรให้‘ลูก’อ่าน

วันที่ลงข่าว: 04/03/16

ลุ้นระทึก จนนาทีสุดท้าย หนังสือดีเด่นที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ลูกได้อ่าน ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่่โรงแรมบียอนด์ สวีท กรุงเทพฯ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) ร่วมมือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดแถลงผลการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2559

 

“ในปีนี้มีหนังสือที่ผู้ผลิตส่งเข้าประกวดทั้งหมด 497 เรื่อง เพิ่มจากปี 2558 เพียงเล็กน้อย โดยปีนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่าหนังสือที่ส่งเข้ามาประกวดเป็นหนังสือที่มีคุณภาพค่อนข้างสูง คณะกรรมการต้องใช้เวลาการพิจารณาอย่างมากเพราะหลายเล่มยากที่จะตัดสินใจในการให้รางวัล แต่ที่น่ายินดีคือทำให้การตัดสินการประกวดหนังสือในครั้งนี้มีจำนวนรางวัลดีเด่นครบถ้วน และมีรางวัลชมเชยที่มีจำนวนมากพอสมควร” ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2559 ระบุ

 

ผลการพิจารณาตัดสินหนังสือดีเด่น ประจำปี 2559 มีหนังสือที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 53 เรื่องจาก 497 เรื่อง แบ่งเป็น รางวัลดีเด่น 13 รางวัล เรื่อง รางวัลชมเชย 40 รางวัล ดังนี้ หนังสือสารคดี  รางวัลดีเด่น เรื่องพระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนา มหายานแบบตันตระนิกายวัชรยาน หนังสือนวนิยาย  รางวัลดีเด่น เรื่องพลิ้วไปในพรายเวลา หนังสือกวีนิพนธ์ รางวัลดีเด่น เรื่องคำน้อย หนังสือรวมเรื่องสั้น รางวัลดีเด่น เรื่องนิทานกล่อมประสาท หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี รางวัลดีเด่น เรื่องกระต่ายกับพระจันทร์ หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ประเภท 1.หนังสือบันเทิงคดี รางวัลดีเด่น เรื่องบันทึกส่วนตัวซายูริ

 

หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ประกอบด้วย 1.ประเภทบันเทิงคดี รางวัลดีเด่น เรื่องห้องเรียนไม่มีฝา  2.ประเภทสารคดี รางวัลดีเด่น เรื่อง OUT IN AFRICA 3.ประเภทบทร้อยกรอง  รางวัลดีเด่น เรื่องดอกไม้ในดวงใจ ประเภทหนังสือการ์ตูน และหรือนิยายภาพสำหรับเด็ก รางวัลดีเด่น เรื่องรามเกียรติ์ อวสานทศกัณฐ์ ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป รางวัลดีเด่น เรื่องปิยราชกุมารี (Beloved Princess) รางวัลชมเชย ประเภทสำหรับเด็ก รางวัลดีเด่น เรื่องรามเกียรติ์ อวสานทศกัณฐ์

 

นางสุกัญญา งามบรรจง ผู้อำนวยการ สวก. กล่าวว่า สพฐ.มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการกระจายหนังสือที่ดีมีคุณภาพ มีสาระประโยชน์สู่สาธารณชนให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีนิสัยรักการอ่าน และส่งเสริมให้ผู้ผลิตซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ผู้วาดภาพประกอบ และบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสส่งผลงานเข้ารับการประกวด ส่งผลให้วงการผลิตหนังสือที่ดี มีคุณภาพ มีมาตรฐานสากล ทำให้ผู้ผลิตมีการพัฒนารูปแบบและเนื้อหาสาระให้น่าสนใจ และทำให้ประชาชนมีหนังสือที่มีคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้นในท้องตลาด สามารถเลือกอ่านได้ตามความสนใจ

 

“อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับรางวัลการประกวดหนังสือดีเด่น จะได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ในวันที่ 29 มีนาคม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  กรุงเทพมหานคร” นางสุกัญญา กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์คมชัดลึกออนไลน์ วันที่ 3 มีนาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก