ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คุณค่าของหนังสืออยู่ที่ ‘การอ่าน’

วันที่ลงข่าว: 01/03/16

„หากลองถามว่า “คุณค่าของหนังสืออยู่ที่ไหน” เชื่อแน่ว่าคำตอบที่ได้จากแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันออกไป อาทิ เพื่อการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ความบันเทิง ความเพลิดเพลิน คลายเครียด และการหาช่องทางประกอบอาชีพ เป็นต้น ซึ่งในมุมมองส่วนตัวเห็นว่า คุณค่าของหนังสือที่สำคัญอยู่ที่ “การอ่าน” เพราะการอ่านคือการเปิดหน้าต่างแห่งโลกกว้างให้แก่ตนเอง เพราะหนังสือจะช่วยให้เราเกิดความรู้ ความคิด เปลี่ยนทัศนคติ เพิ่มมุมมองในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้าน และในทางกลับกันหากเรามีหนังสือนับร้อยนับพันนับหมื่นเล่มก็ตาม แต่ถ้าเราไม่หยิบขึ้นมาอ่าน ต่อให้หนังสือเหล่านั้นเป็นหนังสือดีมีคุณภาพขนาดไหนก็ไม่อาจจะก่อให้เกิดคุณค่าเกิดประโยชน์แม้แต่น้อย ปัจจุบันแม้วิทยาการและเทคโนโลยีได้พัฒนาก้าวไกลไปอย่างรวดเร็ว การเรียนรู้และการอ่านก็ไม่จำกัดอยู่กับหนังสือที่เป็นรูปเล่มเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาตามความต้องการจากสื่อเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสมาร์ทโฟน ซึ่งทุกคนจะพกอยู่ใกล้ตัวไปด้วยตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้อ่านอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังให้ความสำคัญกับการอ่านจากรูปเล่มหนังสือแบบเดิม ๆ ซึ่งคงมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป การเขียนหนังสือแต่ละเล่ม กว่าจะจัดพิมพ์ส่งมาถึงมือผู้อ่านได้ ผู้เขียนจะต้องกลั่นกรองคำนับร้อยพันหมื่นแสนนำมาร้อยเรียงเป็นข้อความจนออกมาเป็นหนังสือได้นั้น บางเล่มจะต้องใช้เวลาในการเขียนที่ยาวนาน และหนังสือดีมีคุณภาพที่กลุ่มผู้อ่านหรือบรรดาเหล่า “หนอนหนังสือ” เฝ้ารอคอยติดตามอ่านกันเป็นประจำทุกปี นั่นคือ หนังสือที่ชนะการประกวดที่จัดโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้มีการจัดประกวด “หนังสือดีเด่น” ขึ้นเป็นประจำทุกปี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะพระราชทานรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ในวันที่ 29 มีนาคม 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในปีนี้มีหนังสือกลุ่มต่าง ๆ ส่งเข้าประกวด รวมทั้งสิ้น 497 เรื่อง ในจำนวนนี้คณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินให้เป็นหนังสือที่สมควรได้รับรางวัล รวม 53 รางวัล เป็นรางวัลดีเด่น 13 รางวัล และรางวัลชมเชย 40 รางวัล สำหรับรางวัลดีเด่นแต่ละประเภท ได้แก่ หนังสือสารคดี เรื่อง ’พระพุทธรูปล้านนากับคติพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระนิกายวัชรยาน“ หนังสือนวนิยาย เรื่อง ’พลิ้วไปในพรายเวลา“ หนังสือกวีนิพนธ์ เรื่อง ’คำน้อย“ หนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่อง “นิทานกล่อมประสาท” หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี เรื่อง ’กระต่ายกับพระจันทร์“ หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ประเภทบันเทิงคดี เรื่อง ’บันทึกส่วนตัวซายูริ“ ประเภทสารคดี เรื่อง ’ข้าวหอมของมะลิ“ หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ประเภทบันเทิงคดี เรื่อง ’ห้องเรียนไม่มีฝา“ ประเภทสารคดี เรื่อง ’OUT IN AFRICA“ ประเภทบทร้อยกรอง เรื่อง ’ดอกไม้ในดวงใจ“ หนังสือการ์ตูนและหรือนิยายภาพสำหรับเด็ก เรื่อง ’รามเกียรติ์ อวสานทศกัณฐ์“ หนังสือสวยงาม ประเภททั่วไป เรื่อง ’ปิยราชกุมารี (Beloved Princess)“ ประเภทสำหรับเด็ก เรื่อง ’รามเกียรติ์ อวสาน ทศกัณฐ์“ ส่วนหนังสือส่งเข้าประกวดที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้แก่ หนังสือสารคดี มี 3 เรื่อง คือ “ทะเลไม่กว้างกว่าปีกนก” “มหาวิทยาลัยบนคันนา ชาวนาอัจฉริยะ 1 ไร่ 1 แสน” “ไม่มีขาใช่ว่าไม่มีลมหายใจ” หนังสือนวนิยาย มี 2 เรื่อง คือ “ข้ามสมุทร” “ลมหายใจแห่งดวงดาว” หนังสือกวีนิพนธ์ มี 3 เรื่อง คือ “ปัจจุบัน” “เภตรามหาชเล” “เหมือนฝนจะมา” หนังสือรวมเรื่องสั้น มี 3 เรื่อง คือ “ครั้งหนึ่ง...คิดถึงเป็นระยะ” “ดั่งเรือนร่างไร้องคาพยพ” “โปรโตซัวในลำไส้ปลวก” หนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี มี 3 เรื่อง คือ “ขึ้นอย่างไรนะ” “สนุกกับ 1 2 3 ชวนหนูนับพร้อมกันนะ” “อุทัยใจใฝ่ธรรม” หนังสือสำหรับเด็ก อายุ 6-11 ปี ประเภทบันเทิงคดี มี 3 เรื่อง คือ “กังหันที่อ่างขาง” “จอมปิศาจ” “ผ้าไหมกับใบชา เด็กเก่งกล้าพูด เด็กดีกล้าบอก” ประเภทสารคดี มี 3 เรื่อง คือ “เด็กรู้ไหม? ทำทานอย่างไรได้บุญมาก” “น้ำและอากาศ คุณค่าแห่งชีวิต” “พุทธประวัติ ฉบับจิตรกรรม” หนังสือสำหรับเด็กวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี ประเภทบันเทิงคดี มี 3 เรื่อง คือ “ดินสอแท่งสั้น” “ทั้งโลกนี้ มีคนแบบเธอเพียงคนเดียว” “สลินดงบายู” นอกจากนี้ หนังสือที่ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี มี 3 เรื่อง คือ “จนกว่าเด็กปิดตาจะโต” “บ้านทุ่งเมืองลุง” “LOST AND FOUND IN ICELAND ไอซ์แลนด์ ดินแดนแห่งแสงเหนือ” ประเภทบทร้อยกรอง มี 2 เรื่อง คือ “คติธรรมคำโคลง (พุทธศาสนสุภาษิตฉบับร้อยกรอง)” “แซมซาย” หนังสือการ์ตูนและหรือนิยายภาพ ประเภททั่วไป มี 3 เรื่อง คือ “ทศชาติชาดก พระเนมิราช พระมโหสถ และพระภูริทัต” “บ้าน 2 วันที่คิดถึง (อ่านว่า บ้านยกกำลังสอง วันที่คิดถึง)” “ศิลป์ซิตี้” ประเภทสำหรับเด็ก มี 3 เรื่อง คือ “การ์ตูนติวเตอร์เก่งวิทย์ ประถมปลาย เล่ม 6” “ล่าขุมทรัพย์อาเซียนเมียนมาร์” “อัศวินพิทักษ์ไดโนเสาร์ เล่ม 1 ตอน นักล่าเหนือกาลเวลา” หนังสือสวยงาม ประเภททั่วไป มี 3 เรื่อง คือ “การเดินทางของพระจันทร์ MY WATERCOLOR DIARY 2010-2015” “บรมนิวาสราชอนุสรณ์ : โครงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาส” “ลายคราม : เครื่องถ้วยจีนอย่างสยาม” ประเภทสำหรับเด็ก มี 3 เรื่อง คือ “คาวี หลวิชัย” “มือน้อยทำได้” “สนุกกับ 1 2 3 ชวนหนูนับพร้อมกันนะ” การอ่านเปรียบเสมือนการเปิดหน้าต่างแห่งโลกกว้าง ดังเจตนารมณ์ของการประกวดหนังสือดีเด่น คือ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการผลิตหนังสือเกิดความกระตือรือร้นและมีจิตสำนึกในการที่จะผลิตหนังสือดี มีคุณค่า มีประโยชน์ และเป็นมาตรฐานสากล ทั้งในส่วนของรูปแบบและเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้อ่านได้อ่านหนังสือดีมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

 

โดย: ฟาฏินา วงศ์เลขา

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 1 มีนาคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก