ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สกศ.ประชุมระดมความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา เพื่อจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560)

วันที่ลงข่าว: 24/02/16

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษา เพื่อจัดทำแนวทางการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ ด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดทำกรอบและแนวทางแผนการศึกษาแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี โดยในแผนการศึกษาแห่งชาติ มีการแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ได้แก่

- หมวดที่ 1 หลักการและความมุ่งหมายของการจัดการศึกษา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้สมบูรณ์ โดยสร้างทักษะความรู้ความสามารถและสมรรถนะให้ครอบคลุมการศึกษาในทุกระดับ ให้โอกาสทางการศึกษาสำหรับผู้พิการ ผู้ที่มีความสามารถพิเศษโดยเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

- หมวดที่ 2 ระบบการศึกษา เห็นว่าระบบการศึกษาไม่ควรยึดตามกรอบเวลา ควรเน้นตามศักยภาพของผู้เรียน รวมทั้งเพิ่มการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (e-education) และการเรียนรู้ตนเอง

- หมวดที่ 3 แนวนโยบายการศึกษาของรัฐ ลดบทบาทหน่วยงานส่วนกลางจากการเป็นผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้กำกับนโยบาย แผนคุณภาพและมาตรฐาน การติดตามประเมินผล กระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา ปรับระบบการจัดสรรเงินงบประมาณจากเดิมที่จัดสรรผ่านสถานศึกษามาเป็นการจัดสรรผ่านผู้เรียนให้มากขึ้น

- หมวดที่ 4 แนวทางการจัดการศึกษา ให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน จัดทำหลักสูตรสอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่น พัฒนากระบวนการผลิตและพัฒนาครู การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครูให้จูงใจคนดี คนเก่งเข้าสู่วิชาชีพ จัดสรรทุนสนับสนุนผู้เรียนที่มีศักยภาพแต่ด้อยโอกาสฯ กรอบแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2574) และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) ได้มีการดำเนินการจัดทำแผนให้สอดคล้องและบูรณาการกัน

“สำหรับเป้าหมายสุดท้ายของแผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 15 ปีนี้ ประกอบไปด้วย ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรมนุษย์ (productivity) ภายใต้พลวัตของโลกศตวรรษที่ 21 ประชากรทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาและการเรียนรู้จากระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น หลากหลาย ที่ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ผู้เรียนได้รับการพัฒนาขีดความสามารถเต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคล และมีความเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ประเทศและโลก”

นอกจากนี้ ได้ขยายหลักการแนวคิดของแผนการศึกษาฉบับนี้ว่า รัฐมีหน้าที่จัดการให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม รัฐจะประกันโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละบุคคล แยกบทบาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของรัฐในฐานะผู้กำกับนโยบายและแผน ผู้กำกับการศึกษา ผู้ประเมินผลการศึกษา ผู้ส่งเสริม สนับสนุน และผู้จัดการศึกษาให้ชัดเจน และมีความเป็นอิสระต่อกัน เพื่อมิให้เกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ รัฐพึงปฏิบัติต่อสถานศึกษา ภายใต้กฎ กติกา ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทุกภาคส่วนของสังคม ต้องมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาตามหลักความสามารถในการจ่าย (Ability to Pay) และหลักประโยชน์ที่ได้รับ (Benefit Principle) สถานศึกษาต้องบริหารจัดการที่แสดงความรับผิดชอบ (accountability) ต่อคุณภาพและมาตรฐานของบริการการศึกษาที่ให้แก่ผู้เรียน ความยั่งยืนและการดำรงอยู่ของสถานศึกษาต้องเป็นการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพมาตรฐาน ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ภายใต้ระบบการแข่งขันอย่างเป็นธรรมที่กำกับของรัฐ (Regulated Market) รัฐจะกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนากำลังคนที่สนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน ต้องเป็นไปเพื่อสร้างคุณลักษณะนิสัย/พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ทักษะการเรียนรู้และองค์ความรู้ที่สำคัญ และทักษะการดำรงชีวิต รวมทั้งพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ และสมรรถนะในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพ หลักสูตรและจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาต้องมีความยืดหยุ่น หลากหลาย สนองตอบความต้องการของผู้เรียน

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก