ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

อย่าลืม 'สิทธิ-เสมอภาค' รัฐธรรมนูญในมุม'ผู้หญิง'

วันที่ลงข่าว: 23/02/16

กำลังเข้มข้นกันอยู่ในขณะนี้กับ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”ที่คงได้เห็นหน้าเห็นตาตามสื่อต่างๆ ไปแล้ว ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา รวมถึงเสียงเรียกร้องให้ต้อง “ปรับแก้” ในหลายประเด็น โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คงต้องนำทุกข้อคิดเห็นกลับไปทบทวน

 

ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอน “การทำประชามติ” ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้!!!

 

ที่งานเสวนา “บทบาทผู้หญิงกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่” 11 ก.พ. 2559 ณ อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน กรุงเทพฯ เสียงสะท้อนจาก น.ส.สิริพร ปัญญาเสน นายกสมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง แสดงความเป็นห่วงในหมวดว่าด้วย “สิทธิเสรีภาพของประชาชนและชุมชน” ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัดหายไป เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ริเริ่มไว้ และฉบับ 2550 ที่เพิ่มเติมให้ชัดเจนกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

“รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ข้อความใดที่ดีอยู่แล้วก็ขอให้นำมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด ส่วนมาตรา 30 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 เหตุแห่งการเลือกปฏิบัติจะกระทำไม่ได้ 12 ประการ ขอให้ยกมาทั้งหมดเช่นกัน” น.ส.สิริพร กล่าว

 

ขณะที่ คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นมีประชากร

เป็นเพศหญิงอยู่ถึงร้อยละ 51 ทว่าที่ผ่านมาอาจยังไม่ค่อยมีการพูดถึง “กติกากลาง” ที่ต้องคำนึงถึง “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” เท่าที่ควร แต่จะเคยชินกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้ว รัฐธรรมนูญจะต้องว่าด้วยอุดมการณ์และหลักการร่วมกันก่อนว่าจะอยู่กันอย่างไร

 

“ประโยคที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 89 ของชุดที่แล้ว (ฉบับ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ) ระบุว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศและความเสมอภาคด้านอื่นๆ แม้จะเป็นประโยคแค่นี้แต่มีมูลค่ามหาศาลและจะนำไปสู่สังคมเสมอภาค ที่จะนำงบประมาณแผ่นดินที่เป็นเงินกลางไปใช้ให้ก่อประโยชน์อย่างเท่าเทียมทั้งชายและหญิง

 

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะว่าถ้าไม่มีตรงนี้ ผู้หญิง คนแก่ ผู้พิการต่างๆ จะถูกดูถูกและกระทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นประโยคนี้เป็นประโยคที่สำคัญและจะต้องแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของสังคมไทย” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

 

ด้าน ดร.ถวิลวดี บุรีกุล สมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) เน้นย้ำว่า หากในวงการเมืองมีกลุ่มคนที่มีความคิดหลากหลาย จะทำให้การพิจารณากฎหมายต่างๆ มีความละเอียดอ่อนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ จึงมีการเขียนไว้ชัดเจนว่าหากเป็นกฎหมายสำหรับผู้พิการ สตรี เยาวชน ก็จะต้องมีผู้แทนจากผู้ที่เกี่ยวข้องในด้านนั้นๆ เข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการนั้นด้วย

 

สปท. รายนี้ กล่าวต่อไปว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) เมื่อปี 2554 มีผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเป็น สส. ร้อยละ 15.8 จากนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2557 มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงร้อยละ 6, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงร้อยละ 14 และการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ในปี 2558 ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ก็มิได้ทำแต่งานประเด็นของผู้หญิงเท่านั้น แต่จะต้องทำได้ทุกเรื่อง

 

ซึ่งแต่ละคนก็จะต้อง “พัฒนาศักยภาพของตนเอง” ควบคู่กันไปด้วย!!!

 

“หากมองดูแล้วมีผู้หญิงในทางการเมืองค่อนข้างน้อยต้องทำงานกันอย่างขะมักเขม้น เพราะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงก็คงมีเยอะ แต่ผู้หญิงก็ไม่ใช่ว่าจะทำงานได้แค่เรื่องผู้หญิง ต้องทำงานได้ทุกเรื่อง เพียงแต่มีมุมมองที่ละเอียดอ่อนกว่า จะต้องผลักดันเพื่อให้มีที่ยืนสำหรับผู้หญิงและมีมุมมองที่แตกต่าง เน้นในเรื่องของความเสมอภาค

 

ต้องมีการพัฒนาศักยภาพ เพราะอยู่ๆ ผู้หญิงจะเข้าสู่การเมืองเลยไม่ได้ แม้จะวางไว้แล้วว่าเสมอภาค แต่ต้องถามตัวเองก่อนว่าท่อเดินของเรามันตีบไหม ในขณะที่บางคนมันกว้าง จุดนี้เลยกลายเป็นปัญหา ต้องมีตัวช่วย แต่จะทำอย่างไรถึงจะให้เกิดตัวช่วย ตรงนี้ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐและประชาชน ที่จะต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองกันมากขึ้น” ดร.ถวิลวดี กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก