ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์

วันที่ลงข่าว: 04/02/16

วันนี้ (3 ก.พ.2559) เวลา 08.37 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดวิทยาลัยการอาชีพฟากท่า ณ ตำบลสองคอน อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริฯ ในจัดการเรียนการสอนสายอาชีพให้กับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและมีระยะทางห่างไกลจากตัวจังหวัด ครอบคลุม 3 อำเภอ คือ อำเภอน้ำปาด อำเภอฟากท่า และอำเภอบ้านโคก โดยขอใช้ที่ดินของนิคมสหกรณ์ฟากท่า เนื้อที่ 34 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา ช่วงแรกเปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 3 สาขา ได้แก่ สาขาช่างยนต์ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และสาขาเกษตรกรรม ทั้งยังมีหลักสูตรระยะสั้นสำหรับประชาชนอีกด้วย ปัจจุบันมีนักเรียน 142 คน ครูและบุคลากรจากวิทยาลัยในจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดแพร่ มาช่วยจัดการเรียนการสอน โดยใช้อาคารเรียนชั่วคราว และในปีการศึกษา 2559 จะใช้อาคารเรียนหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จ และมีแผนการรับนักเรียน-นักศึกษาเพิ่มเป็น 8 สาขา จำนวน 300 คน จัดฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นแก่ประชาชน ปีละ 500 คน

โอกาสนี้ ทรงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานสนองพระราชดำริฯ ด้านการจัดการศึกษาสายอาชีพให้กับเยาวชนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งได้ร่วมกับสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดารเพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาให้กับเยาวชน ซึ่งมีการจัดการศึกษาหลักสูตรดังกล่าวแล้วที่โรงเรียนอมก๋อมวิทยาคมและโรงเรียนแม่ตื่นวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม จังหวัดตาก รวมทั้งดำเนินโครงการอาชีวพัฒนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 จัดส่งนักศึกษาสายอาชีพ ไปออกค่ายอาสาช่วงปิดเทอม ช่วยสร้างอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ โรงอาหารให้กับโรงเรียนในโครงการพระราชดำริจำนวน 60 แห่ง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ด้านอาชีพและมีจิตอาสา

นอกจากนี้ มีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการศึกษาให้คนพิการ โดยวิทยาลัยราชสุดา ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพพุทธมณฑล จัดทำ "คู่มือคำศัพท์ภาษามือช่างอุตสาหกรรมพื้นฐาน" และโปรแกรมสื่อมัลติมีเดีย เพื่อใช้สอนวิชาช่างให้กับนักเรียนนักศึกษาบกพร่องทางการได้ยิน โดยสถาบันการศึกษาที่ใช้หลักสูตรนี้ จะทำความร่วมมือกับสถานประกอบการ เพื่อให้รับนักเรียนนักศึกษาพิการเข้าทำงาน ช่วยให้เยาวชนที่พิการสามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาพิการประเภทต่างๆ ได้สนใจเข้าเรียนร่วมในสถานศึกษาอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น โดยปีการศึกษา 2558 มีจำนวนทั้งหมด 1,057 คน เป็นคนพิการบกพร่องทางการได้ยิน 227 คน รวมถึงยังมีความร่วมมือกับโรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) และโรงงานสมชัยดนตรีไทย ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาการสร้างเครื่องดนตรีไทย เพื่อเปิดสอนให้กับเยาวชนผู้สนใจ โดยผู้จบการศึกษาสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ เช่น เจ้าของกิจการในธุรกิจรับซ่อมหรือผลิตเครื่องดนตรีไทย เป็นเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาดูแลเครื่องดนตรีไทย ในหน่วยงานรัฐหรือเอกชน และเป็นนักดนตรีไทยในสถานประกอบการต่างๆ

เวลา 10.50 น. เสด็จพระราชดำเนินไปยังเทศบาลตำบลร่วมจิต ตำบลร่วมจิต อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ทรงเปิด "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 87 พรรษา นวมินทรบพิตร" ซึ่งเทศบาลตำบลร่วมจิต จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานชื่ออาคารว่า "อาคารเฉลิมพระเกียรติ 87 พรรษา นวมินทรบพิตร" โดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 3 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 3,217 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องต่างๆ อาทิ ห้องบริการประชาชน สำหรับรับชำระค่าบริการต่างๆ ห้องประชุม และห้องปฏิบัติงานของสมาชิกสภาเทศบาล ส่วนพื้นที่โดยรอบอาคารใช้เป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น ลานออกกำลังกาย สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชน

โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการตามพระราชดำริฯ อาทิ โครงการตามพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เช่น กลุ่มผ้าไหมทอมือบ้านห้วยต้า ตำบลนางพญา และกลุ่มแกะสลักไม้ โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดินตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้มีการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ภายหลังดินโคลนถล่ม โดยกรมปศุสัตว์ สนองพระราชดำริแจกจ่ายพันธุ์โค-บือให้แก่เกษตรกรนำไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 930 ครัวเรือน มีโค-กระบือจำนวน 2,890 ตัว

นิทรรศการห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉลองพระชนมายุ 5 รอบ โรงเรียนบ้านน้ำหมัน ให้บริการครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป สืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านโครงการ 9 แหล่งเรียนรู้ตามรอยพ่อของโรงเรียนท่าปลาประชาอุทิศ ประกอบด้วย บ่อดักไขมันและจักรยานปั่นน้ำ กระดาษรีไซเคิล ปุ๋ยหมัก พลังงานทดแทน ไบโอดีเซลและแก๊สชีวภาพ ธนาคารขยะรีไซเคิล ศูนย์วัฒนธรรม ธนาคารโรงเรียน และเกษตรทฤษฎีใหม่ และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านหาดไก่ต้อย ซึ่งก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากในปี 2549 เกิดดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรความเสียหายและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ และพระราชทานแนวพระราชดำริว่าควรส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรในพื้นที่ ให้มีรายได้เสริมภายหลังจากทำนาทำไร่ ซึ่งในพื้นที่ตำบลท่าปลามีการปลูกมะม่วงหิมพานต์เป็นจำนวนมาก ด้วยการส่งเสริมให้มีการแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์ให้มีรสชาติที่หลากหลาย ทั้งนี้ในปี 2550 ได้พระราชทานเครื่องมือกะเทาะเม็ดมะม่วงหิมพานต์แก่เกษตรกรตำบลท่าปลา ปัจจุบันมีสมาชิก 18 คน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2,000 บาทต่อครัวเรือน

เวลา 12.28 น. เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นห้องสมุดประชาชนที่เปิดให้บริการเป็นแห่งที่ 93 ของประเทศ โดยพระครูเกษมธรรมาลังการ เจ้าอาวาสวัดหมอนไม้ เจ้าคณะอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ได้มอบที่ดินธรณีสงฆ์บริเวณหน้าวัดฯ จำนวน 2 ไร่ สำหรับเป็นสถานที่ก่อสร้าง ตามโครงการจัดตั้งห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2534 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเจริญพระชนมายุ 36 พรรษา 2 เมษายน พุทธศักราช 2534 ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อห้องสมุดดังกล่าว

ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" แห่งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์และหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชน ได้ร่วมกันสนับสนุนสมทบทุนในการจัดสร้าง และเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2553 แล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปี 2555 ลักษณะเป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างแบ่งเป็นมุมต่างๆ อาทิ มุมพื้นที่สำหรับการอ่าน มีทั้งหนังสือพระราชทาน หนังสือทั่วไป วารสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ โดยจัดให้มีพื้นที่มากที่สุด มีมุมสำหรับการอ่านคนเดียว อ่านเป็นกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ มุมเด็ก เน้นความหลากหลายของสื่อการเรียนรู้ ทั้งหนังสือ สื่อเทคโนโลยี อุปกรณ์การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย เพื่อส่งเสริมพื้นฐานนิสัยรักการอ่าน ความคิดสร้างสรรค์และทันต่อเทคโนโลยี ทั้งยังเข้าใจวิถีชีวิตของสังคมไทย มุมคอมพิวเตอร์ และมุมอาเซียน ที่นำเสนอความโดดเด่นและความแตกต่างของแต่ละประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี การแต่งกาย วัฒนธรรมและภาษา รวมถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจ

ส่วนชั้นบน แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ ห้องเทพอักษรา ซึ่งภายในได้รวบรวมผลงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งงานด้านพระราชนิพนธ์และผลงานฝีพระหัตถ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพห้องทิพยพุทธอุตรดิตถ์ หรือห้องพระ เป็นห้องที่บ่งบอกถึงความศรัทธาในบวรพุทธศาสนาของคนอุตรดิตถ์ ที่ดำรงและสืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน โดยมีพระพุทธรูปสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวอุตรดิตถ์อย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน ห้องเขตคามสามวัฒนธรรม แสดงถึงวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมของ 3 วัฒนธรรม ได้แก่ วัฒนธรรมสยาม วัฒนธรรมล้านนา และวัฒนธรรมล้านช้าง ที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนและยั่งยืนและห้องวีรบุรุษลุ่มน้ำน่าน ที่จัดแสดงเรื่องราวของพระยาพิชัยดาบหัก ทั้งในรูปแบบของสื่อวีดีทัศน์ฉบับการ์ตูนและข้อมูลตัวอักษร เกี่ยวกับจิตวิญญาณแห่งความเป็นวีรบุรุษผู้ภักดี นำเสนอถึงอุดมคติการต่อสู้ และหน้าที่วีรบุรุษ รวมถึงได้จัดแสดงประวัติและความเป็นมาของจังหวัดอุตรดิตถ์

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก