ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

นักการทูตและนักวิชาการไทยเสนอคุณสมบัติการเป็นคนอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 02/02/16

การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีผลเมื่อปลายปี ๒๕๕๘ นอกจากเรื่องการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจแล้ว นักการทูตและนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเห็นว่า คนไทยยังต้องมีความรู้ด้านสังคมและวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านในภูมิภาค และต้องปรับตัวเข้ากับความต้องการของอาเซียนด้วย

 

สุวิทย์ มังคละ นักการทูตชำนาญการ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ อธิบายในงานเสวนา “คนแบบไหนที่อาเซียนต้องการ” จัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เมื่อปลายปีที่ผ่านมาว่าว่า คนแบบที่อาเซียนต้องการมี ๓ อย่าง ได้แก่ มีความรู้ มีทักษะ และทัศนคติที่ดี

 

คนที่มีความรู้ต้องรู้จุดดี จุดเด่น จุดด้อย และต้องรู้จักเสริมศักยภาพตัวเองและผู้อื่นไปพร้อมกัน ต้องมีทักษะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ มีทักษะด้านเทคโนโลยี การใช้ภาษา การสื่อสาร และมีทัศนคติที่ดีต่ออาเซียน รู้ว่าจะร่วมมือกันอย่างไรและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง  นอกจากนี้ ภาของชาติอาเซียนจะมีความสำคัญมากขึ้นและมีความต้องการมากในการทำงาน คนที่รู้ภาษาอาเซียนหรือภาษาประเทศเพื่อนบ้านไม่มีทางตกงานแน่นอน นายสุวิทย์กล่าว

 

ม.ล. พินิตพันธ์ บริพัตร ผู้อำนวยการโครงการหลักสูตรนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานร่วมในโครงการ ASEAN Watch โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แสดงความคิดเห็นว่า  สิ่งที่ต้องเรียนรู้อย่างแรกคือ การเรียนรู้เรื่องการแข่งขัน เนื่องจากมีการรวมตัวกันจะเกิดโอกาสทางการค้า การลงทุน การทำงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการแข่งขัน อาเซียนจึงต้องการคนที่เข้าใจการแข่งขัน และปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ได้

 

ขณะเดียวกันต้องรู้เขา รู้เรา และเรียนรู้ที่จะเชื่อมโยงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเรียนรู้อาจเริ่มจากการท่องเที่ยว เช่น ไปเที่ยวสถานที่สำคัญของแต่ละประเทศ เข้าใจความเป็นมาของสังคมในประเทศนั้น ๆ และเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านในเชิงลึก เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของแต่ละประเทศ ม.ล. พินิตพันธ์   กล่าว

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก