ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

จังหวัดกาฬสินธุ์ กับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมืองเกตเวย์ “มุกดาหาร และนครพนม”

วันที่ลงข่าว: 14/01/16

จากสถิติอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองหลัก แต่นับจากนี้ไปเมืองชายแดนอย่างน้อย 10 จังหวัด จะก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าการลงทุน ด้วยปัจจัยบวกของนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 1 ประกอบไปด้วย จังหวัดตาก-มุกดาหาร-สระแก้ว-ตราด-สงขลา และเฟส 2 อีก 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย-นครพนม-เชียงราย-กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยจังหวัดเหล่านี้ยังมีศักยภาพของการเป็น ประตูการค้า (Gate Way) รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออก และแนวเหนือ-ใต้

นายจักรกฤษณ์ อิสริยะชัยกุล ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้กล่าวว่า แม้จังหวัดกาฬสินธุ์จะไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่กาฬสินธุ์มีความได้เปรียบและมีศักยภาพพอในการรับผลประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร และนครพนม เพราะถือว่าเป็นประตูผ่านไปสู่นครพนมและมุกดาหาร บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันตก-ตะวันออก และยังมีแหล่งผลิตอาหารที่อุดมสมบูรณ์เพราะมีเขื่อนลำปาวที่มีความจุน้ำได้ถึง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งผลิตกุ้งก้ามกราม เป็นแหล่งเพราะเลี้ยงปลาที่สำคัญ เป็นแหล่งผลิตข้าวอินทรีย์ ข้าวเหนียวเขาวง และพืชผักอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น พิพิธภัณฑ์สิรินธรที่เป็นศูนย์ศึกษาไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหาดดอกเกดทะเลอีสาน มีสะพานเทพสุดา มีวัฒนธรรมผู้ไทย โปงลาง แพรวา ที่ขึ้นชื่อทั้งสิ้น หากทุกฝ่ายร่วมมือกันปรับปรุง พัฒนา ประชาสัมพันธ์ กาฬสินธุ์จะเป็นแหล่งเที่ยว แหล่งกิน แหล่งชม และแหล่งซื้อของผู้คน จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร นครพนม และผู้สัญจรไปมาตามส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจังหวัดกาฬสินธุ์

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก