ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สธ.เร่งรัดให้อาหารแปรรูปจากชุมชน ผ่านมาตรฐาน จีเอ็มพี ขั้นต้น มาตรฐานอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 14/01/16

กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาอาหารแปรรูปบรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายจากโอทอป วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอี ผ่านมาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นต้น คุณภาพและความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและนอกประเทศตามมาตรฐานอาเซียน ขณะนี้พัฒนาผ่านเกณฑ์แล้วร้อยละ 73.68 ประชาชนควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเลขสารระบบของอย. สงสัยโทร 1556

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายรัฐบาลมุ่งส่งเสริมความเป็นอยู่และสร้างรายได้ประชาชนในท้องถิ่น ได้เร่งรัดการพัฒนาสินค้าแปรรูปทุกชนิดที่อยู่ในภาชนะบรรจุเสร็จพร้อมปรุงและพร้อมบริโภค ทั้งจาก โอทอป (OTOP) วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอี (SMEs) ให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน (Primary GMP) มอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดการอบรมให้ความรู้ ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารแปรรูปบรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายทั่วประเทศ ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและนอกประเทศ ตามมาตรฐานอาเซียน

 

สำหรับ หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารขั้นต้นนั้น จะควบคุมคุณภาพ ตั้งแต่สถานที่ผลิต กระบวนผลิต เครื่องมือ อุปกรณ์ การสุขาภิบาลและบุคลากร เป็นเกณฑ์ในการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี คุณภาพ มาตรฐาน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สามารถส่งออกจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ผู้ประกอบการที่พัฒนาระบบการผลิตผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานจีเอ็มพีขั้นพื้นฐาน จะได้เลขสารระบบอาหาร หรือเลข อย. ไปแสดงในผลิตภัณฑ์ โดยข้อมูลจากการตรวจราชการของสำนักตรวจและประเมินผล ปีงบประมาณ 2558 ทั่วประเทศมีสถานที่ผลิตอาหารที่เข้าข่ายมาตรฐานการผลิตที่ดีขั้นพื้นฐาน ทั้ง โอทอป วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี จำนวน 6,007 แห่ง ผ่านเกณฑ์แล้ว 4,426 แห่ง หรือร้อยละ 73.68 ที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา ขณะนี้ยังได้พัฒนาสถานที่ผลิตอาหารต้นแบบทั่วประเทศ ขณะนี้มีแล้ว 95 แห่ง โดยที่ จ.สมุทรสาครมีมากถึง 18 แห่ง และได้ตั้ง “คลินิกไพรมารี จีเอ็มพี” ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกแห่งเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลและให้คำปรึกษาอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากชุมชน ยังมีอีกมากที่ยังไม่เข้าสู่การประเมิน ขอให้ผู้บริโภคที่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สังเกตเครื่องหมาย อย. รวมทั้งเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ สำหรับกรณีสถานที่ผลิตปลาร้าใน จ.กาฬสินธุ์นั้น ก็เป็นอีกตัวอย่างของสถานที่ผลิตอาหารที่ยังไม่ผ่านมาตรฐานการผลิตที่ดี ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารในจังหวัด พร้อมเร่งรัดพัฒนาให้ผ่านมาตรฐานการผลิตที่ดีทั้งหมด ทั้งนี้ประชาชนหากไม่มั่นใจในผลิตภัณฑ์อาหาร สอบถามได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือปรึกษาสายด่วน อย. 1556

 

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก