ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทยเน้นเตรียมทรัพยากรมนุษย์และแรงงานฝีมือสู่การเป็นประชากรอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 07/01/16

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ว่า วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นวันที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคาก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าวิตก เพราะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฝ่ามือ ในวันเดียวเวลาเดียวหรือปีเดียว หากทุกภาคส่วน ได้มีการสร้างความตระหนักรู้ เตรียมความพร้อม ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทุกภาคส่วน ควรใช้ความพร้อมของตนเอง ร่วมกันแสวงโอกาส ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยความรู้เท่าทัน มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ

ในส่วนของรัฐบาลเองนั้น ให้ความสำคัญอย่างมาก ในการเตรียม “กำลังคน – ทรัพยากรมนุษย์ – แรงงานมีฝีมือ” เพื่อเข้าสู่ตลาดแข่งขัน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยมีศักยภาพพร้อมอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีคุณภาพ” โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการ “เสริมสร้างความเข้าใจ ใฝ่รู้ภาษา มุ่งพัฒนาสัมพันธ์ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สานสามัคคีอาเซียน” ด้วยการศึกษา ซึ่งเราจะมีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการหลัก โดยบูรณาการกับทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดยุทธศาสตร์ ๖ ด้าน ดังนี้ (๑) เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนก่อน (๒) ยกระดับคุณภาพและสร้างโอกาสทางการศึกษา (๓) ผลิตกำลังคนให้มีทักษะสอดรับกับตลาดแรงงานอาเซียน (๔) มีการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๕) มีการพัฒนากลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเคลื่อนย้าย/แลกเปลี่ยน และ (๖) เสริมสร้างเครือข่ายระหว่างกันในภูมิภาค

ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนศึกษา” จำนวน ๔๔๗ ศูนย์ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ รองรับนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติในประชาคมอาเซียน ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค และให้มีการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน

รัฐบาลตั้งเป้าที่จะพัฒนาในเรื่องของทักษะภาษาอังกฤษ ในระยะแรกให้กับนักเรียน ครู ผู้บริหาร ประชาชนทั่วไป และให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด หรือบางห้อง บางชั้น หรือการเรียนการสอนสองภาษา ทั้งหมดเป็นเรื่องความสมัครใจของเด็ก แล้วก็ตั้งศูนย์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษด้วย ให้กับผู้เรียน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ระดับเขตพื้นที่และภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม สำหรับภาษาประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือภาษาอาเซียน อื่น ๆ ด้วย ก็จะเร่งดำเนินการควบคู่กันไปให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการ ขอความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชน สถานประกอบการให้ช่วยด้วย เพื่อประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์ของแรงงาน สถานประกอบการธุรกิจที่มีหลายประเทศ ที่มีการใช้ภาษาแตกต่างกันเข้ามาลงทุน

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก