ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สวัสดีชาวอาเซียน เปิดแล้ว...ยังไงต่อ?

วันที่ลงข่าว: 07/01/16

เปิดประชาคมอาเซียนเป็นทางการเข้าวันที่ 3 แล้ว หลายคนอยู่ในอารมณ์ที่อยากสัมผัสอานิสงส์ประชาคมอาเซียนว่ามีประโยชน์อย่างไร แต่ก็รู้เพียงผิวเผินและยังงงๆ ว่า เปิดแล้ว...ยังไงต่อ? จะใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง จึงเอาความสงสัยนี้ไปสัมภาษณ์พิเศษผู้เชี่ยวชาญประชาคมอาเซียน ตลอดจนรวบรวมเกร็ดอาเซียนน่ารู้ หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย

 

นายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนไม่เหมือนการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป ซึ่งเขาเหนียวแน่นกว่า อย่างการมีองค์กรกลางที่ใหญ่กว่ารัฐบาล คอยบอกแต่ละรัฐบาลว่าควรทำอะไรเพื่อมีนโยบายร่วมกัน แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ยังใหญ่ที่สุด อาเซียนจึงเป็นการรวมตัวกันหลวมๆ ใน 3 เรื่องคือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ก็บังคับกันไม่ได้ หากจะทำอะไรอย่างหนึ่งต้องเป็นฉันทามติร่วมกัน 10 ประเทศ และแม้ลงมติไปแล้วเขาอยากทำหรือไม่ทำ ก็ไปบังคับเขาไม่ได้อีก เพราะประชาคมอาเซียนเป็นเพียงการขอความร่วมมือ 

 

"หลายคนใช้คำว่าก้าวสู่ประชาคมอาเซียน จริงๆ เราไม่ได้ก้าวไปไหนเลย เราอยู่ในหมู่บ้านที่มี 10 ประเทศอยู่ เพียงตกลงกันว่ารั้วที่เคยสูงขอให้เตี้ยลงหน่อยได้ไหม ประตูบ้านที่เคยปิดตายเปิดให้ไปมาหาสู่ได้ไหม ใครขาดเหลืออะไรช่วยเหลือกันได้ไหม เท่านั้นเอง เราไม่ได้ไปไหน เราอยู่กับที่ ส่วนวันที่ 31 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเพียงวันที่บอกว่าขอให้ทำในสิ่งที่ตกลงกันหน่อยนะ อย่างที่บอกว่าอาเซียนไม่ได้บังคับกัน จึงไม่ได้วัดผลว่าเธอทำหรือยัง ประเทศไหนพร้อมก็ทำไป ประเทศไหนไม่พร้อมก็ค่อยๆ ทำไป มันไม่เหมือนการเปิดห้าง" 

 

คนไทยชอบเอาประชาคมอาเซียนไปเปรียบกับสหภาพยุโรป ทำให้เข้าใจผิดหลายเรื่อง อย่างยุโรปมีเงินยูโร อาเซียนก็ต้องมีเงินอาเซียน หรือบัตรประชาชนใบเดียวเดินทางทั่วอาเซียนได้เหมือนยุโรป 

 

อาจารย์เกษมสันต์ยืนยันว่า "ไม่มี เราไม่ได้รวมตัวอย่างนั้น การเดินทางยังต้องใช้พาสปอร์ตอยู่" 

 

ส่วนเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว ทุกคนจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุน นี่ก็เป็นเรื่องเข้าใจผิดอีก 

 

"จริงๆ อาเซียนค้าขายกันเต็มที่อยู่แล้ว ไม่ได้น่าสนใจอะไร แต่ที่น่าสนใจจริงๆ คือ ประเทศคู่ค้าใกล้ชิด 6 ประเทศ หรืออาเซียนบวกหก ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ทำให้มีเวทีค้าขายพิเศษใน 16 ประเทศ ซึ่งมีประชากรรวมกัน 3,400 กว่าล้านคน มีมูลค่าตลาดรวม 700 ล้านล้านบาท ถือว่าเกือบครึ่งโลก

 

"ความน่าสนใจตรงนี้ยังทำให้รัสเซียและสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วม ภายใต้ชื่อ เวทีประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก หรือ อีสต์ เอเชีย ซัมมิท ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเวทีค้าขายพิเศษที่ใหญ่เกินครึ่งโลก เพราะมีประชากรรวม 3,900 ล้านคน มูลค่าตลาดรวม 1,300 ล้านล้านบาท จากประชากรทั่วโลก 7,000 กว่าล้านคน มูลค่าตลาดทั้งโลก 2,500 กว่าล้านล้านบาท"

 

เปิดอาเซียนแล้วคนไทยควรทำอะไร

อาจารย์เกษมสันต์กล่าวว่า ไม่ต้องทำอะไร ขอเพียงเตรียมตัว 2 เรื่องคือ 1.ภาษา วันนี้เพียงภาษาไทย-ภาษาอังกฤษไม่พอแล้ว ต้องรู้ภาษาที่ 3 เพราะอย่างนักศึกษาเวียดนามจบปริญญาตรีใหม่ๆ เดี๋ยวนี้เขาสื่อสารได้ 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาเวียดนาม อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และ 2.เปิดรับ แน่นอนสังคมไทยกำลังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ทำอย่างไรที่จะมีความสุขในการใช้ชีวิต การทำงานร่วมกับคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา เนื่องจากเคยมีบทเรียนสำคัญในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ที่เขามีทั้งคนจีนนับถือพุทธ คริสต์ คนพื้นเมืองนับถือมุสลิม ก็เคยทะเลาะ ฆ่า และก่อจลาจล เพราะความต่างทางเชื้อชาติและศาสนามาแล้ว

 

"สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับคนไทยคือ เรากำลังรักชาติมากเกินไป การรักชาติถือเป็นเรื่องดี แต่เรารักมากจนเรียกว่าหลงชาติ คลั่งชาติ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือมองไม่เห็นคนอื่น เรามักคิดว่าเราเก่งที่สุด จึงไม่ค่อยพัฒนาตัวเอง เรายังดูแคลนเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม ทั้งที่เราควรรักเพื่อนบ้านเหมือนรักคนไทยด้วยกัน เพื่อให้เป็นประชาคมอาเซียนอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จร่วมกัน" 

 

กลุ่มประเทศ CLMV เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่น่าสนใจ ใน 10 ประเทศอาเซียน อาจารย์เกษมสันต์มองว่า "ไทยควรรู้จักและรัก 4 ประเทศให้ดียิ่งขึ้น เพราะพวกเขากำลังเจริญผิดหูผิดตาใน 4-5 ปีข้างหน้า จากการช่วยเหลือของจีน ซึ่งหากทำอย่างนั้นได้ เราก็จะได้ประโยชน์ร่วมกัน กลุ่มประเทศ CLMV จะเป็นแผ่นดินทอง" 

 

ทำความรู้จัก 4 ประเทศ CLMV

 

- เมียนมา

อ.เกษมสันต์กล่าวว่า คนเมียนมาเป็นคนเคร่งศาสนา เขาถือศีลกินเจและไม่จัดกิจกรรมใดตลอดช่วงเข้าพรรษา แต่พอออกพรรษา ข้าวของขายดีมากมีกิจกรรมครึกครื้นเป็นช่วงออกพรรษาเซลล์เลยทีเดียว คนเมียนมายังมีชุดประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์คือ ใส่เสื้อเชิ้ต นุ่งโสร่ง สวมรองเท้าแตะ ซึ่งคนไทยมองเผินอาจดูว่าไม่สุภาพ แต่นี่คือชุดสุภาพที่สุดเปรียบดั่งใส่ชุดสูทเลย ที่สำคัญคนเมียนมาไม่ได้เรียนหนังสือว่าเคยรบกับคนไทย เพราะเขารักคนไทย อยากค้าขายกับคนไทย 

 

"คนเมียนมาไม่ได้มีความรู้สึกฝังใจไม่ดีกับเรา ต่างจากคนไทยที่มองเมียนมาว่าเคยมารบกับเรา เคยมาตีกรุงศรีฯ ซึ่งเป็นความรู้สึกต้องแก้ ต้องมองว่าเราต้องพึ่งเขา เขาก็ต้องพึ่งเรา" 

 

- สปป.ลาว

อ.เกษมสันต์กล่าวว่า คน สปป.ลาวมีจังหวะชีวิตของเขามายาวนาน หรือที่เรียกว่า "สโลว์ไลฟ์" ฉะนั้นเวลาจะทำอะไรกับเพื่อนชาว สปป.ลาวจะต้องเผื่อเวลา เขายังมีวัฒนธรรมและมุมมองว่าคนทุกคนเท่าเทียมกัน อย่างประเทศเขาไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีหรือเจ้าของบริษัท เมื่อถึงเวลาเขาจะพยายามทำตัวเสมอลูกน้อง เช่น นั่งกินข้าวร่วมโต๊ะกับลูกน้อง เหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทยไม่เคยคิดมาก่อน เรามักพูดคำว่าบ้านพี่เมืองน้องกับ สปป.ลาว ทำให้เขาจัดลำดับความสำคัญไทยสำคัญต่ำสุดใน 5 ประเทศที่มีติดชายแดนติดกัน

 

"อยากให้คนไทยดูแบบอย่างจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลาเสด็จฯ ไป สปป.ลาวหรืองานของสถานทูตลาวที่ไทย พระองค์จะทรงรำวงร่วมกับคน สปป.ลาวเสมอ แปลว่า พระองค์ทรงเข้าใจ แต่เราต่างหากที่ไม่เข้าใจ" 

 

ไม่เพียงเท่านั้นคนไทยบางส่วนยังนำภาษาลาวมาล้อเลียนกันสนุกสนานในโซเชียลมีเดีย เช่น ถ่ายรูป-แหกตา, ถ่ายรูปหมู่-แหกตาสามัคคี, ผ้าเช็ดหน้า-ผ้าอนามัย, ผ้าอนามัย-ผ้ายันต์กันโลหิต ซึ่งอาจารย์เกษมสันต์ยืนยันว่า "ผิดเกือบหมด จริงๆ เขาก็เรียกเหมือนเรา ถ่ายรูปก็ถ่ายฮูบ ผ้าเช็ดหน้าก็ผ้าเช็ดหน้า ผ้าอนามัยก็ผ้าอนามัยหรือผ้าซับฤดู เว้นแต่มีบางคำในอดีตที่ปรากฏในเอกสารราชการ เช่น ไฟเขียว-ไฟเสรี, ไฟแดง-ไฟอำนาจ แต่ปัจจุบันเขาก็เรียกไฟเขียวไฟแดงเหมือนเรา"

 

"เราล้อเขาจนเลอะเทอะ ทำให้เขารู้สึกไม่ค่อยดีกับเรา ทั้งที่เขาพร้อมจะรักเรา และเราก็รักคน สปป.ลาว ฉะนั้นถ้าเปลี่ยนตรงนี้ได้ เราก็จะเป็นเพื่อนบ้านที่รักกันมาก ค้าขายกันมาก" 

 

- กัมพูชา

อ.เกษมสันต์กล่าวว่า กัมพูชามีหลายๆ อย่างเหมือนไทย อย่างคนกัมพูชามีนิสัยเหมือนคนไทยคือเป็นคนซื่อๆ รักสนุก แม้จะอยู่ในช่วงอัตคัดแต่หน้าใหญ่ชอบเลี้ยงเพื่อน กตัญญูต่อพ่อแม่ และภาษากัมพูชากับไทยก็มีที่มาที่ไปเชื่อมโยงกัน อย่างเลขไทยก็เขียนเหมือนกันเป๊ะ คำศัพท์ คำราชาศัพท์หลายคำก็ใช้เหมือนกัน เพียงเปลี่ยนวิธีออกเสียง เช่น สมเด็จพระสังฆราช เขียนเหมือนกันแต่เขาอ่านว่า ซ็อมดัจเพรียะห์ซ็องเคียะเรียจ ขณะที่คนกัมพูชามากกว่าครึ่งเข้าใจภาษาไทย ดูโทรทัศน์ไทย ร้องเพลงไทย โดยเฉพาะเพลงในกัมพูชามากกว่าร้อยละ 90 เป็นเพลงทำนองไทยใส่เนื้อร้องกัมพูชา กลับกันเราไม่รู้อะไรเขาเลย ไม่สนใจเลยด้วยซ้ำ 

 

"กรณีขัดแย้งปราสาทเขาพระวิหาร อาจทำให้คนสองชาติรู้สึกไม่ดี แต่จริงๆ คนกัมพูชาไม่ค่อยกังวลเรื่องนี้ เขารู้สึกน้อยกว่าคนไทย ต้องโทษสื่อที่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่สำคัญที่สุดคือคนกัมพูชามีความรู้สึกดีมากกับคนไทยและสินค้าไทย" 

 

- เวียดนาม 

อ.เกษมสันต์กล่าวว่า คนเวียดนามเป็นคนสมองดี ขยันอดทน เป็นเหมือนม้าพยศ คือเป็นม้าเก่งแต่หากขี่ไม่ดีขี่ไม่เข้าใจก็ถูกดีดตก ฉะนั้นการทำงานกับเขาต้องเข้าใจเขา หากเขายอมทำงานด้วย เขาจะเป็นเพื่อนคู่ค้าที่เก่งมาก คนเวียดนามเก่งภาษาอังกฤษ อย่างไปตามร้านค้าร้านกาแฟพูดเก่งทุกคน 

 

ส่วนความรู้สึกที่มีต่อคนไทย เขาไม่ได้รักหรือไม่รักคนไทยเป็นพิเศษ

 

ของดีอาเซียน

 

ไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น ยุโรปแล้ว ใกล้ๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ก็มีของถูกและดีมากมาย ซึ่งคนไทยอาจไม่เคยรู้ 

 

อ.เกษมสันต์กล่าวว่า อย่างใกล้ๆ เดินทางด้วยรถยนต์จากจังหวัดตราดไป 4 ชั่วโมง จะเจอ ทะเลสีหนุวิลล์ กัมพูชา ซึ่งมีทะเลสวยคล้ายๆ มัลดีฟส์ ยังมีเกาะสาขามากมาย เช่น เกาะรงซันเลิม ที่แปลว่า สุดลูกหูลูกตา ก็มีหาดทรายสวยมาก ที่พักมีหลากหลายราคาไม่แพง อาหารทะเลก็อร่อย กัมพูชายังมีข้าวหอมมะลิแชมป์โลก 3 ปี มีพริกไทยที่ขายเก่งกว่าจันทบุรี ขายกิโลกรัมละ 4,000 บาท 

 

ส่วนเวียดนามมีมรดกโลกเต็มไปหมด มี ทะเลทรายขาว ทะเลทรายแดง ด้าน สปป.ลาวมี ข้าวเหนียว ที่เรียกว่า ข้าวไก่น้อย เย็นยังไงก็ไม่แข็ง ส่วนเมียนมาอาหารทะเลอร่อย น่าเที่ยว น่าไหว้พระ 

 

หรือไกลออกไปที่บรูไน แม้เป็นประเทศผลิตน้ำมัน แต่เขาไม่มีอูฐไม่มีทะเลทราย เขามีแต่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ อย่างสัตว์ป่าอะไรที่หายากในโลก สามารถไปเที่ยวดูได้ที่นั่น และที่ฟิลิปปินส์ที่มีภูเขาไฟเก่าแก่อายุแสนปี มีภูเขาไฟหนึ่งชื่อตาอัล เป็นภูเขาไฟซ้อนภูเขาไฟ แวดล้อมด้วยน้ำทะเลสวยงามมาก อาหารก็อร่อย เป็นคนเสรีชนที่ชื่นชอบเสียงเพลง ชอบการช้อปปิ้ง หากไปเที่ยวแล้วจะมีความสุข 

 

"เดี๋ยวนี้เดินทางท่องเที่ยวใน 10 ประเทศอาเซียนไม่ต้องขอวีซ่าแล้ว เพียงมีพาสปอร์ตก็เดินทางไปได้เลย ไม่ต้องกังวลเดี๋ยวนี้แต่ละประเทศเปิดกว้างหมด ปลอดภัยหมดทุกประเทศ ยิ่งหากเขารู้ว่าเป็นคนไทย เขาพร้อมรักเราหมด แต่ก่อนไปต้องศึกษาวัฒนธรรมประเพณีเขาก่อน" อ.เกษมสันต์กล่าว

 

เกร็ดอาเซียนน่ารู้

 

ถึงตรงนี้น่าจะได้เห็นเสน่ห์อาเซียนไปไม่มากก็น้อย บางคนอาจถึงขั้นวางแผนเดินทางแล้ว แต่ก่อนไปควรศึกษาสิ่งควรทำ-ไม่ทำก่อนเข้าประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเรารวบรวมข้อมูลน่าสนใจมาดังนี้ คนไทยเองควรเลี่ยงการแต่งกายชุดสีเหลือง เมื่อไปประเทศมาเลเซียและบรูไน เพราะเป็นสีสงวนสำหรับกษัตริย์ 

 

สำคัญรองลงมาคือ การปฏิบัติตัวกับชาวมุสลิม ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของอาเซียน คนไทยควรเลี่ยงการเชิญชาวมุสลิมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสิ่งต้องห้ามเคร่งครัดในสังคมมุสลิม ระวังการพูดคุยเรื่องขบขันเกี่ยวกับสุกรและสุนัข ที่เป็นเรื่องขบขันและล้อเล่นปกติของคนไทยกับชาวมุสลิม ห้ามถ่ายภาพภายในศาสนสถาน ไม่เดินตัดหน้าผู้กำลังละหมาด ห้ามใช้นิ้วชี้ชี้ไปยังสิ่งต่างๆ โดยให้ใช้นิ้วโป้งชี้แทน โดยเฉพาะประเทศบรูไนและมาเลเซียที่เคร่งครัดศาสนา

 

ถัดมาเป็นเรื่องซีเรียสในประเทศที่ค่อนข้างปิด ที่ห้ามพูดเรื่องการเมืองภายในประเทศ เช่น เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม บรูไน ขณะที่ภาพรวมไม่น่ามีอุปสรรคกับคนไทยถือปฏิบัติขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม 

 

เปิดอาเซียนง่ายๆ เพียงเปิดใจรับ...

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ วันที่ 6 มกราคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก