ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปิดศักราช 2559 ต้อนรับ ′เออีซี′ จุดเปลี่ยนอาเซียนสู่ก้าวใหม่ ′ค้าบริการ-เอสเอ็มอี-นวัตกรรม′มาแรง

วันที่ลงข่าว: 02/01/16

การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ถือว่าเป็นการบรรลุตามแผนการปฎิบัติงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่กำหนดมาตรการให้ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ต้องดำเนินการตามปฏิญญากรุงเทพ เริ่มเมื่อสิงหาคม 2510 เพื่อจัดตั้งสมาคมความร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคง ในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติของระดับภูมิภาคของประเทศต่างๆ ในเอเชีย ก่อตั้งโดยอาเซียน 5 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และต่อมาเพิ่ม กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม รวม 611 มาตรการ ซึ่งในจำนวนนี้ มีมาตรการสำคัญลำดับสูง 506 มาตรการ ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2558 ดังนั้น ที่ผ่านมา จะเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปของสมาชิกในอาเซียน ที่นำร่องโดยประเทศสมาชิกเดิมก่อน คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไน มาโดยตลอด ตั้งแต่ 2551 จนถึงตุลาคม 2558 ปรากฏว่า มาตรการสำคัญลำดับสูง อาเซียนทำไปแล้ว 92.7% หรือ 469 มาตรการ แต่ไทยดำเนินการได้มากกว่า ถึง 95.3 หรือ 482 มาตรการ 

 

หากดูในภาพรวมมาตรการทั้งหมด 611 รายการ ปรากฏว่า อาเซียนดำเนินการได้ 79.5 % หรือ 486 มาตรการ และไทยดำเนินการได้ 85.4 % หรือ 522 มาตรการ โดยมาตรการที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น การลดภาษีรายการสินค้าที่ค้าขายระหว่างกัน ให้เหลือ 0% ระหว่างกันแล้ว 95.99% จาก 8,500 รายการสินค้า ยกเลิกมาตรการโควต้าภาษีตามหลักองค์การการค้าโลก (TRQ) การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง การริเริ่มจัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และคลังข้อมูลการค้าอาเซียน การทยอยลดข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดด้านบริการและการลงทุน การจัดทำแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์เอสเอ็มอีของอาเซียน เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจและการเพิ่มขีดความสามารถของเอสเอ็มอี ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลาด เทคโนโลยีนวัตกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

รวมถึงการจัดทำความตกลงยอมรับร่วม (MRAs) เพื่อให้มีการยอมรับร่วมในผลการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้า จะช่วยลดการตรวจสอบสินค้าหลายครั้งก่อนนำมาจำหน่ายในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยา การจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมเพื่ออำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือ ซึ่งอาเซียนได้จัดทำ MRA ใน 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ วิศวกร สถาปนิก แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นักบัญชี และนักสำรวจ และจัดทำความร่วมมือเกี่ยวกับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวโดยการจัดทำมาตรฐานคุณสมบัติและสมรรถนะของผู้ที่ทำงาน)การบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันของ8ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า บรูไน และฟิลิปปินส์ ยกเว้นลาวและกัมพูชา การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง เช่น การสร้างทางหลวงอาเซียน และการเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ เช่น การจัดทำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับฮ่องกง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน ( RCEP) 

 

ทิศทางอาเซียนหลังปี 2558

 

ก้าวต่อจากนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 เดือนพฤศจิกายน 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ผู้นำอาเซียน ได้ประกาศแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 หรือ AEC Blueprint 2025 เป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ ระยะ 10 ปีข้างหน้าของอาเซียน มีเป้าหมายสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันทางด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนภายในภูมิภาค โดยต่อยอดหลังเปิดเออีซี ที่จะเพิ่มความเข้มข้นและประสิทธิภาพ พร้อมเดินหน้ารวมตัวทางเศรษฐกิจเชิงกว้างและเชิงลึก

 

โดยประเด็นที่อาเซียนต้องเร่งผลักดัน ได้แก่ การเปิดเสรีภาคบริการ ยกเลิกและลดมาตรการที่มิใช่ภาษี ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน ปรับประสานมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความเข้มแข็งแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งหมดคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจ ต้องเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในสาขาต่างๆ ให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559 

 

ดังนั้น นับจากนี้ จะเห็นความพยายามลดภาษีสินค้าที่เหลือและค้าบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนยี และการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้สินค้าและบริการใหม่ๆการใช้บังคับกฎหมายและนโยบายการแข่งขัน พัฒนานโยบายทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือรายสาขา เช่น เชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาค โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พลังงาน การเงิน อาหาร เกษตร ป่าไม้ การท่องเที่ยว สุขภาพ เหมืองแร่ รวมถึง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาใหม่ ที่เพิ่มเข้ามา

 

ในปี 2559 จะเห็นความคืบหน้าการทบทวนและปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งทุกประเทศอยู่ในช่วงเจรจาการเปิดเสรีภาคบริการ ส่งเสริมการลงทุน และกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เช่น อาเซียน-ญี่ปุ่น ไทยผูกพันจะเปิดเสรีในสาขา เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง บริการโทรคมนาคม บริการก่อสร้าง บริการสิ่งแวดล้อม บริการด้านการท่องเที่ยว บริการด้านนันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา เป็นต้น ส่วนสาขาบริการที่ญี่ปุ่น จะเปิดตลาดให้แก่อาเซียน เช่น บริการด้านการท่องเที่ยว บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการเงิน และบริการด้านโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพราะอาเซียนต้องเผชิญกับความตกลงความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) และเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่ประเทศสมาชิกเข้าเป็นสมาชิกพยายามสรุปภายใน 2559 เช่นกัน 

 

ซึ่งหากการเจรจา RCEP ประสบผลสำเร็จ ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะ 16 ประเทศมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก หรือ กว่า 3,300 ล้านคน ขนาดเศรษฐกิจรวมกว่า 17,100 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 27% ของจีดีพีโลก

 

เตรียมพร้อมเยียวยาผลกระทบ

 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เรื่องลดภาษีสินค้าเราทำมา 5 ปีแล้ว แต่ปี2559 จะลดภาษีเท่ากันพร้อมกันทุกประเทศ ยกเว้นสินค้าที่อ่อนไหว ที่แต่ละประเทศยังแตกต่างกัน ต่อจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับภาคบริการ เป็นสาขาที่มีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาคบริการที่ไทย คือ โลจิสติกส์ การศึกษา การเงิน โทรคมนาคม ก่อสร้าง และคอมพิวเตอร์ จึงเห็นรัฐบาลไทยเร่งลงทุนรองรับ เพื่อเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบและส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

 

"กระทรวงพาณิชย์ ปี 2559 ได้ปรับแผนทำงานให้สอดคล้องกับแนวทางผลักดันรายได้จากการส่งออก ที่ไม่ได้เน้นแค่ส่งออกสินค้าเท่านั้นแล้ว จะโชว์รายได้ภาคค้าบริการ และการขยายตัวของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อเนื่อง จะเป็นจุดพลิกการค้าของอาเซียนและทั่วโลก" 

 

เรื่องช่องทางติดต่อค้าชายและอำนวยความสะดวก เป็นประเด็นสำคัญมากขึ้น ต่อจากนี้ โดยเฉพาะเรื่องด่านการค้า จะมีการเชื่อมกันมากขึ้น จากเหนือจรดใต้ จากไทยไปนอก อย่าง จีน ผ่านยูนนาน ผ่านลาว เข้าไทย ได้พบทูตอินเดีย ก็สนใจเชื่อมแม่สอดถึงอินเดีย โดยจากอินเดีย ผ่านพม่าที่กำลังเจรจา ก่อนเข้าไทย ซึ่งไทยมีเอฟทีเอกับอินเดีย หากเชื่อมขนส่งจากอาเซียนเข้าอินเดีย จะเป็นเส้นเลือดใหญ่ เจาะตลาดยุโรปตะวันออก ส่วนประเทศติดชายแดน อย่ามองเป็นคู่แข่ง ต้องมองเป็นพันธมิตร ตัวอย่างจันทบุรี เรามีผลไม้ กัมพูชาก็มีผลไม้ ก็ต้องร่วมกันทำตลาด ไทยผลิตให้กัมพูชาเป็นกระจาย 

 

ไม่อยากให้วิตก ว่าไทยจะเสียเปรียบ กลุ่มใดได้รับผลกระทบ เราก็มีโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ ซึ่งให้การช่วยเหลือมาตั้งแต่ปี 2550 ในหลายกรอบที่ไทยเปิดเสรีในกรอบต่างๆ มาแล้ว 46 โครงการ ใช้เงินแล้ว 373 ล้านบาท เช่น ปลาป่น ส้ม โคเนื้อฯ ซึ่งปีงบประมาณ 2559 มีผู้ยื่นขอความช่วยเหลือ 2 โครงการ คือ โครงการตลาดกลางรับซื้อโคขุนและกระบือ โครงการพัฒนาการเปิดตลาดการค้าและศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าไฟฟ้าภายในบ้านสำหรับตลาดซีแอลเอ็มวี 

 

"อยากเตือนให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่อไปอย่างไรก็ต้องแข่งขันระดับต่างชาติเพราะทุกประเทศเปิดเสรีแล้ว ต่อไปจะเปิดกันมากขึ้น เข้าใจว่าวิตกว่าสินค้าจะทะลัก เช่น อาหาร สินค้าเกษตร ต้องเข้าใจว่าไทยผลิตได้ และนำเข้าก็ติดเรื่องความสด ภาพรวม เห็นว่าไทยพร้อม แม้จะไม่พร้อม 100% แต่ต้องปรับปรุง เปิดหูเปิดตา มองตลาดนอกเป็นช่องทางขาย ต่อไปไม่แค่ส่งสินค้าไปขาย แต่ต้องดึงเป็นพันธมิตรหรือร่วมทุนด้วย อีกเรื่องคือต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเพิ่มมูลค่า และใช้อินเตอร์เน็ตในการทำธุรกิจ เชื่อว่าคนไทยที่เข้มแข็ง การเกิดเออีซี เชื่อว่าจะวินวิน ทั้งอาเซียนและไทยด้วย" 

 

ชี้′เออีซี′สำแดงผลปี60

 

ขณะที่มุมมองจากนักวิชาการและภาคเอกชนยังมองว่าการเกิดเออีซีเต็มรูปแบบปี 2559 บรรยากาศคึกคัก แต่ก็ยังไม่ได้รับประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเศรษฐกิจในอาเซียน ยังผูกติดกับเศรษฐกิจโลกและประเทศเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป จีน หรือ อินเดีย ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะฟื้นตัวได้ตามคาดการณ์ไว้ อีกทั้ง การลงทุนขนส่งเชื่อมโยงระหว่างกันว่าจะใช้ได้จริง ก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ก็ต้องเลย 2560 น่าจะได้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้น การเกิดเออีซี อาจยังไม่ช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงไทย เพิ่มอีก 2-3% ต่อปี ตามผลการศึกษาที่ทำไว้ 

 

ซึ่งก็น่าจะสอดคล้องกับสถิติตัวเลขการค้าของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านช่องทางการค้าชายแดน การค้าผ่านแดน และการค้าเมืองหน้าด่าน ซึ่งมีสัดส่วน 9.8% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวก่อนเปิดเออีซีปีนี้ โดยมูลค่าการค้าชายแดน ไทยกับมาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา ระยะ 11 เดือน 2558 มีมูลค่า 997,708 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปี 2557 เพิ่มขึ้น 10.9% และไทยได้ดุลการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ มูลค่า 168,446 ล้านบาท 

 

ขณะที่การค้าผ่านแดน ไป สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม ระยะ 11 เดือน 2558 มีมูลค่า 142,418 ล้านบาท ติดลบ 0.3% ทำให้ภาพรวมไทยขาดดุลการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 628 ล้านบาท สำหรับการค้าเมืองหน้าด่าน ระยะ 11 เดือน มีมูลค่า 236,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ดังนั้น เมื่อรวมการค้าชายแดน การค้าผ่านแดน และการค้าเมืองหน้าด่าน ในระยะ 11 เดือน 2558 มีมูลค่ารวม 1,376,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับเป้าหมายมูลค่าการค้าชายแดนปี 2558 ตั้งไว้ 1.5 ล้านล้านบาท หรือทำได้ 91.79%ของเป้าหมาย 

 

ตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ยังหดตัว 

 

อีกประเด็นที่จะฉายภาพการเปิดเสรีการค้าผู้ประกอบการคนไทยพร้อมไม่พร้อม หรือสนใจมากน้อยแค่ไหน ต้องดูสถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า พบว่า ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิฯลดลง 2.55% ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2558 และใช้สิทธิ 72% ของมูลค่าส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิฯในเอฟทีเอ เมื่อเจาะดูการใช้สิทธิกรอบเสรีต่างๆ พบว่า ในอาเซียน ใช้สิทธิลดลง รวมทั้งใช้สิทธิในกรอบอาเซียน-จีน เอฟทีเอไทย-อินเดีย อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-เกาหลี ก็ลดลง ส่วนกรอบเสรีที่ใช้สิทธิฯเพิ่ม คือ อาเซียน-อินเดีย ไทย-ออสเตรเลีย อาเซียน-ญี่ปุ่น และไทย-เปรู 

 

จึงเป็นประเด็นรัฐบาลคงต้องตรวจสอบว่าเหตุใด การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้ากับการเปิดเสรีนั้นยังไม่เต็มร้อย ทั้งๆ ลดภาษีเหลือศูนย์แล้ว ! 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์มมติชนออนไลน์ วันที่ มกราคม 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก