ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ยูเนสโกยกภูเก็ตเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารแห่งแรกในอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 30/12/15

 ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ยูเนสโก ประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองแรกของไทย และเมืองแรกของอาเซียน เป็นหนึ่งใน 18 เมืองทั่วโลก ที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร จากที่อาหารภูเก็ตมีอัตลักษณ์ สูตรลับเฉพาะที่ถ่ายทอดผ่านคนในครอบครัว ไม่สามารถหารับประทานที่อื่นได้ มั่นใจภูเก็ตจะเป็นเมืองที่ทุกคนมาแล้วต้องชิมอาหารภูเก็ต รวมถึงซื้อเป็นของฝากอย่างแน่นอน 

 

 

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อประกาศข่าวดีส่งท้ายปี 2558 ด้วยจังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy ของยูเนสโก ประจำปี 2558 โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้เกียรติ สื่อมวลชนภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ณ ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานเทศบาลนครภูเก็ต 

 

นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งเคียงคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เพียงแต่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Culture) และยังผสมผสานความทันสมัยในด้านการสร้างสรรค์ หรือมีนวัตกรรมจากพื้นฐานอัตลักษณ์เดิม ยูเนสโกเริ่มต้นโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้กำหนดให้ต้องคัดเลือกจากเขตเมือง หรือมหานคร เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมวิทยาการ และมีพื้นฐานพอที่จะขับเคลื่อนทั้งในส่วนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development ) ได้แบ่งเมืองสร้างสรรค์ออกเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย 1.เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature) 2.เมืองแห่งภาพยนต์ (City of Film) 3.เมืองแห่งดนตรี (City of Music) 4.เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะท้องถิ่น (City of Crafts and Folk Arts) 5.เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) 6.เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art) 7.เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy) ที่จังหวัดภูเก็ตได้รับ 

 

   “สำหรับการได้รับเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านอาหารในครั้งนี้ จะทำให้ภูเก็ตมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวไปได้อีกหลากหลายประเภท เช่น การเป็นเมืองที่ทุกท่านต้องมาชิมอาหาร มาซื้อของฝากประเภทอาหารที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ๆ มาชมมาอุดหนุนสินค้าจากแหล่งเกษตรกรรม ประมงที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในภูเก็ต รวมถึงต่อไปอาจมีสถาบัน โรงเรียนให้มาเรียนรู้ด้านวิทยาการอาหาร เป็นต้น สอดคล้องต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ที่ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และประวัติศาสตร์วัฒนธรรม สอดคล้องต่อที่ตนเองก็ได้รับนโยบายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้ส่งเสริมการค้าการลงทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มจากเมืองท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ และทำให้ทุกท่านอยู่ดีกินดี” นายจำเริญ กล่าวและว่า 

 

 

   ปัจจุบัน มีเมืองสร้างสรรค์ในโลกนี้ที่ได้รับประกาศ 116 เมือง เฉพาะด้านวิทยาการอาหาร มีเพียง 18 เมือง จังหวัดภูเก็ตภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งใน 18 เมืองของโลกด้านอาหารเป็นเมืองแรกของอาเซียน และตัวแทนนำร่องที่ได้รับประกาศเมืองแรกของประเทศไทย หลังจากพยายามมากว่า 3 ปี โดยทีมงานของ น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต และการสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และผู้อยู่เบื้องหลังอีกจำนวนมาก ซึ่งตนเองที่เป็นคนภูเก็ต และในนามของชาวภูเก็ตต้องขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย และหวังว่าเราจะพัฒนาต่อยอดจากโครงการนี้ต่อไป ภายใต้การยินดีสนับสนุนของทางจังหวัด และทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ 

 

ด้าน น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เทศบาลนครภูเก็ต ได้รับหนังสือจาก มาดามอิริน่า บูโคว่า (Irina Bokova) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก แจ้งว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกได้พิจารณา และมีมติให้จังหวัดภูเก็ตเป็นสมาชิกใหม่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก สาขาวิทยาการอาหาร (Gastronomy) และอนุญาตให้เทศบาลนครภูเก็ต สามารถใช้ชื่อ และตราสัญลักษณ์ของยูเนสโกเพื่อการประชาสัมพันธ์ด้านอาหารได้ 

 

 

  สำหรับการสมัครเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารในครั้งนี้ เทศบาลนครภูเก็ต มีความตั้งใจที่จะดำเนินการเพื่อชาวภูเก็ตทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะอยู่ในเขต หรือนอกเขตเราเป็นพี่น้องกันหมด เราเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา เป็นเมืองที่เจริญอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความสามัคคี สงบ สันติสุขมายาวนานกว่า 150 ปี ภายใต้ร่มบรมโพธิสมภารขององค์พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ดังเช่นคนในเขตย่านเมืองเก่าที่เทศบาลนครภูเก็ตมีนโยบายสนับสนุนการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม ก็จะมีทั้งชาวบาบ๋า เพอรานากัน ชาวมุสลิม ชาวฮินดู ชาวคริสต์ บนพื้นฐานของความเป็นชาวไทยทั้งมวล จนวัฒนธรรมของเราทั้งอาหาร เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม แสดงถึงความหลากหลายที่ผสมผสานกันจนงดงาม สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมจนเป็นรากฐานให้คนรุ่นหลังได้นำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเกิดรายได้ เราจึงได้รับการยกระดับเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในครั้งนี้ 

 

 ซึ่งยูเนสโกได้เห็นจุดเด่นของเมืองภูเก็ตสำคัญๆ อยู่ 5 ประการ คือ 1.ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารที่เกิดจากพหุสังคมตามที่ได้กล่าวมาแล้ว 2.อาหารภูเก็ตเป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกเทศกาล พิธีการ ความเชื่อ วิถีชีวิตในครอบครัว และยังใช้ประกอบการต้อนรับแขกบ้านเมืองให้ประทับใจอยู่เสมอ 3.อาหารท้องถิ่นภูเก็ตหลายประเภทมีอัตลักษณ์ หาทานที่อื่นไม่ได้ สูตรลับเฉพาะที่ ถ่ายทอดผ่านคนในครอบครัว และหลายอย่างเป็นวัตถุดิบที่มีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำเป็นต้องอาศัยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน 4.ความเข้มแข็ง และความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาครัฐและสถาบันทางวิชาการในภูเก็ต ทำให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนพื้นฐานวิทยาการด้านอาหารหลากหลายอย่าง เช่น การจำหน่ายอาหารท้องถิ่นแปรรูป เป็นของฝาก ของที่ระลึก การจัดบริการอาหารในร้านอาหาร หรือโรงแรม เทศกาลอาหารชนิดต่างๆ รวมถึงการเข้ามาแลกเปลี่ยนของอาหารนานาชาติ ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสินค้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจแก่เมือง และประชาชน 5.ชาวภูเก็ตมีน้ำใจ อัธยาศัยดีงาม (Thai Hospitality) ยินดีร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กับเมืองอื่นๆ ในเครือข่าย หรือต้อนรับด้วยเมืองที่มีภูมิทัศน์งดงาม บรรยากาศอบอุ่น “Good Food, Good Health, Good Spirit…in Phuket” กินดี อยู่ดี มีจิตงาม...ที่ภูเก็ต 

 

 

  “ในข้อสุดท้ายนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเป็นสมาชิกในเครือข่ายยูเนสโก เมื่อภูเก็ตได้รับการยอมรับว่าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร นอกจากจุดเด่นในความมีน้ำใจ รอยยิ้มแบบไทย เราจำเป็นต้องมีนโยบายเปิดกว้างทั้งทางความคิด และกิจกรรม มีการเหย้าเยือนกับสมาชิกอื่นๆ จึงคาดหมายว่า นครภูเก็ต ในอนาคตจะเป็นนครแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งศาสตร์และศิลป์มาบรรจบกัน และจะเป็นนครแห่งการสร้างสรรค์ และน่าอยู่อย่างยั่งยืน” น.ส.สมใจ กล่าวและว่า 

 

 ในโอกาสนี้ ต้องขอขอบพระคุณผู้อยู่เบื้องหลังที่ช่วยเหลือการนำเสนอจนภูเก็ตได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ ได้แก่ ท่านปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ผศ.ดร.ประภา กายี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ดร.อดุล นาคะโร อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต อาจารย์สาวิตรี สุวรรณสถิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าคณะพิจารณานำเสนอรายงานสู่ยูเนสโก ท่านดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ได้ไปเตรียมรายงาน และกรอกข้อมูลสู่ยูเนสโกในขั้นตอนสุดท้าย และหัวหน้าคณะทำงานของเทศบาลนครภูเก็ต ที่นำโดย นายแพทย์โกศล แตงอุทัย รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ตที่มุ่งมั่นมากว่า 3 ปี ตลอดจนพี่น้องชาวภูเก็ตทุกท่านที่ร่วมกันธำรงรักษาความเป็นภูเก็ต ให้มีวัฒนธรรมอาหารภูเก็ต และวัฒนธรรมอื่นๆ บนอัตลักษณ์ที่มีความสง่างาม หล่อหลอมบนความหลากหลาย แม้ในอดีตกว่า 100 ปี เรามีบรรพบุรุษที่มาต่างกัน แต่ปัจจุบันทุกท่านก็คือ คนภูเก็ต เจ้าของวัฒนธรรมภูเก็ต ขอจงร่วมภาคภูมิใจด้วยกันว่าท่านคือส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ทำให้เมืองภูเก็ตของเราเป็นเมืองที่ได้มีฉายาโดดเด่นบนแผนที่โลกแล้วว่า เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารของยูเนสโก 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 ธันวาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก