ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมถกเวที TELMIN ครั้งที่ 15 เดินหน้าพัฒนา ICT กลุ่มอาเซียน

วันที่ลงข่าว: 21/12/15

            ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 15 (The 15th ASEAN Telecommunications and IT Ministers Meeting : TELMIN ครั้งที่ 15) ระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2558 ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

            ในการประชุมดังกล่าว ประเทศไทยได้ส่งมอบการเป็นประธานที่ประชุมให้กับเวียดนาม และในฐานะที่ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้ทำการประเมินผลแผนแม่บท ASEAN ICT Masterplan 2015 (AIM 2015) ดร.อุตตม รมว.ไอซีที ได้กล่าวรายงานผลการประเมินให้ที่ประชุมรับทราบว่า จากการประเมิน พบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันดำเนินงานตามแผนแม่บท AIM 2015 ผ่านโครงการทั้งหมดจำนวน 87 โครงการ และบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ด้าน คือ (1) ใช้ ICT เป็นเครื่องมือในการผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) อาเซียนได้รับการยอมรับในฐานะศูนย์กลางด้าน ICT แห่งหนึ่งของโลก  (3) ประชากรอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ (4) ICT มีส่วนช่วยส่งเสริมการรวมตัวของอาเซียน การดำเนินการตามแผนดังกล่าวทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก ICT เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชากรอาเซียนต่อไป

 

            สาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ ที่ประชุมได้ให้การรับรองปฏิญญาดานัง (Danang Declaration) ซึ่งมีสาระสำคัญในการรับรองแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอาเซียน 2020 (ASEAN ICT Masterplan 2020 : AIM 2020) ซึ่งเป็นแผนแม่บท ICT ฉบับที่ 2 ของอาเซียนที่จะนำมาใช้ในปี 2559-2563 โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการนำอาเซียนก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้ดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย นำไปสู่การปรับเปลี่ยนที่จะก่อให้เกิดประชาคมอาเซียนที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มีความเท่าเทียมทั่วถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยในแผนแม่บท AIM 2020 มีความเกี่ยวข้องกับแผนงานความร่วมมือระหว่างประชาคมเซียน ความร่วมมือกับคู่เจรจาของอาเซียน องค์กรระหว่างประเทศ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยกำหนดเป้าหมายของแผน 5 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม (2) การนำ ICT สมัยใหม่มาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างการเติบโตของอาเซียน (3) การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย Smart City (4) การใช้ ICT สร้างโอกาสใหม่ๆ ร่วมกันในอาเซียน เช่น การค้าขาย และ (5) การพัฒนาตลาดดิจิทัลและชุมชนออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย   

 

            นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ว่าด้วยความร่วมมือด้าน ICT รวมทั้งหารือกับประเทศคู่เจรจาอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และ ITU เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของอาเซียน โดยเฉพาะแผนแม่บท AIM 2020 ทั้งในความร่วมมือทางด้านวิชาการและการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือด้าน ICT ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอและผลักดันประเด็นการพัฒนา ICT ในด้านต่างๆ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ในกลุ่มอาเซียน การผลักดันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างปลอดภัยด้วยการนำกรอบการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (Intra-ASEAN Secure Transaction Framework) ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการมาใช้ในอาเซียน รวมทั้งให้ความสำคัญด้านความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ 

 

          ในระหว่างการประชุมดังกล่าว รมว.ไอซีที และคณะผู้แทนไทย ได้มีโอกาสหารือในระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา รวม 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ดังนี้

 

             (1) การหารือทวิภาคีกับเวียดนาม ได้หารือเรื่อง การจัดทำความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ซึ่งครอบคลุมการระงับข้อพิพาททางออนไลน์ (Online Dispute Resolution : ODR) และ Intra-ASEAN Secure Transactions Framework รวมทั้งแลกเปลี่ยนการดำเนินการด้าน Smart City

 

             (2) การหารือทวิภาคีกับญี่ปุ่น เป็นเรื่องของความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) เช่น การจัดอบรมหลักสูตรการฝึกปฏิบัติการด้านไซเบอร์ (Cyber Defense Exercise with Recurrence : CYDER) ความร่วมมือด้านการเตือนภัยพิบัติ ความร่วมมือด้านอุตุนิยมวิทยา และการพัฒนาบริการด้านการไปรษณีย์ รวมทั้งการจัดงาน ASEAN-Japan Cyber SEA Games ซึ่งประเทศไทยยินดีสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว

 

             (3) การหารือทวิภาคีกับเกาหลี ประกอบด้วย นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของประเทศไทย การเชิญชวนรัฐบาลเกาหลีร่วมลงทุนในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลไทย การส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้านดิจิทัลและกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ (Start-Up) การแลกเปลี่ยนความร่วมมือในการพัฒนา Smart City ความร่วมมือด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ความร่วมมือด้านดาต้าเซ็นเตอร์ การวิจัยร่วม และการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้าน ICT ระหว่างไทยกับเกาหลี

 

             (4) การหารือระดับทวิภาคีกับสิงคโปร์ ได้หารือเรื่องความร่วมมือด้าน Cyber Security เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้าน e-Commerce การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนา Smart City นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย การเชิญชวนภาคเอกชนของสิงคโปร์ร่วมลงทุนในโครงการเร่งด่วนของรัฐบาลไทย ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้านดิจิทัลและกลุ่ม Start-Up การดำเนินการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้าน ICT ระหว่างกระทรวงไอซีทีของไทยกับ Infocomm Development Authority (IDA) ของสิงคโปร์

 

 

ที่มาของข่าว กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก