ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แสดงผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด

วันที่ลงข่าว: 18/12/15
ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด
ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด
 
 
เพราะภาพถ่ายที่สวยที่สุดไม่ได้เกิดจากเทคนิคหรือความเป็นมืออาชีพเพียงอย่างเดียว หากมิได้ใช้ “หัวใจ” ภาพนั้นก็ไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวใดๆ ได้เลย นี่จึงเป็นที่มาของ “โครงการหัวใจถ่ายภาพเดินทางมาถึงปีที่ 5” กับนิทรรศการ “๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด” ภายใต้หัวข้อ “รูปที่มีทุกบ้าน” กว่า 200 เฟรม ที่สะท้อนความรู้สึกผ่านเลนส์ของน้องๆ ผู้พิการทางสายตาจากทั่วทุกภาคในประเทศไทยกว่า 500 คน ก้าวข้ามขีดจำกัดของการมองเห็น ทำความฝันของพวกเขาให้เป็นความจริง ผ่านการถ่ายภาพที่ไม่คิดมาก่อนว่าตัวเองจะทำได้ซึ่งจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รัฐิติกร นามพิลา และนพดล ปัญญาวุฒิไกร
นพดล ปัญญาวุฒิไกร ประธานกลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน หรือ PIC4ALL ผู้ดูแลโครงการหัวใจถ่ายภาพตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า “ด้วยความร่วมใจของเหล่าสมาชิก PIC4ALL และการสนับสนุนของ แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง(ไทยแลนด์) ทำให้เด็กๆ ผู้พิการทางสายตา ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างมั่นใจ เห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเองที่ไม่เพียงแค่ไม่เป็นภาระสังคม แต่ยังสามารถตอบแทนสังคมด้วยการแบ่งปันให้กับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า เมื่อเขาอยู่ในจุดที่จะตอบแทนได้แล้ว”
 
รัฐิติกร นามพิลา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ แผนกสื่อสารองค์กร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า “ปีนี้ครบรอบ 5 ปีที่แคนนอนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหัวใจถ่ายภาพ โดยเด็กนักเรียนผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถ และมีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของเรา ดังที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากที่ทุกบ้านจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยสำนึกในพระองค์ท่านที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความจงรักภักดีของคนไทยทุกคน ซึ่งนอกจากการสนับสนุนโครงการด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพซึ่งแคนนอนทำมาโดยตลอดแล้ว ปีนี้เราได้จัดพิมพ์หนังสือภาพจำนวน 150 เล่ม จากการรวบรวมภาพถ่ายที่จัดแสดงนิทรรศการมอบให้กับทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตากับสังคมโดยรอบ” คุณรัฐิติกร กล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการ “๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด” ภายใต้หัวข้อ “รูปที่มีทุกบ้าน” มุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าเพราะเหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงครองใจคนไทย และเคียงคู่กับความเป็นประเทศไทยมาโดยตลอด ผ่านคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียน โดยใช้การถ่ายภาพเป็นเครื่องมือเพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้เติบโตเป็นคนไทยที่ไม่หลงลืมรากของตนเอง มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ-แม่ ครอบครัว และสำนึกรู้คุณของพ่อ-แม่แห่งแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็เป็นการลดช่องว่างและทำให้เกิดการยอมรับระหว่างชุมชนและผู้พิการทางสายตา โดยมีเยาวชนผู้พิการทางสายตาจำนวน 244 คน จาก 13 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ
ด.ช.อำนาจ ศรีสังข์
ด.ช.อำนาจ ศรีสังข์ หรือน้องอู๊ด อายุ 13 ปี จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ หนึ่งในน้องๆ ที่ได้เรียนถ่ายรูปอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี เล่าว่า “การถ่ายรูปสอนให้ผมมีความกล้าที่จะสร้างความสัมพันธ์ กล้าที่จะเรียนรู้ และเป็นแรงผลักดันให้ปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก สำหรับผมการถ่ายรูปเป็นการบันทึกความประทับใจที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต รูปที่ถ่ายออกมาทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอย่างเต็มที่ ผมชอบถ่ายรูปถ่ายวิวทิวทัศน์ เพราะผมชอบธรรมชาติ เมื่อได้มีโอกาสไปเที่ยวและได้ถ่ายรูปเก็บไว้มันเหมือนเป็นประสบการณ์หน้าหนึ่งของชีวิต วันหนึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็สามารถเติมเต็มความสุขให้กับตัวเองอีกครั้ง การเรียนรู้การถ่ายภาพไม่ได้ยากแตกต่างจากการทำสิ่งอื่นๆ เพียงแต่ถ้าเรารู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะความแตกต่าง แล้วค่อยๆ ลงมือทำจากขั้นตอนแรกๆ ที่ง่ายไปขึ้นไปถึงส่วนที่ซับซ้อน เมื่อผิดพลาดแล้วก็แก้ไข เรื่องที่คิดว่ายากมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป”
ด.ญ.ศรีประภาพ พันธุ์จันทร์
ด.ญ.ศรีประภาพ พันธุ์จันทร์ หรือ น้องณัฐ ในวัย 15 ปี จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ บอกเล่าความรู้สึกจากหลังเลนส์ที่ไร้แสงว่า “การถ่ายรูปทำให้หนูรู้สึกว่าตัวเองก็ทำอะไรๆ ได้เหมือนคนทั่วไป ขอเพียงแค่มีความตั้งใจ และมีความพยายามที่จะทำในสิ่งต่างๆ อย่างจริงจัง ภาพรูปที่มีทุกบ้านของหนูถ่ายจากร้านก๋วยเตี๋ยวซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดนางเลิ้ง สำหรับหนูแล้วในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระเมตตา ท่านสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ให้แก่คนไทยมากมาย หนูจึงแสดงความจงรักภักดีผ่านรูปถ่าย”
 
ทุกคนล้วนต่างมีความฝันและพยายามสร้างแรงผลักดันตนเอง เพื่อทำความฝันนั้นให้เป็นความจริง ไม่เว้นแม้แต่เด็กๆ ที่มีข้อจำกัดของความพิการทางสายตา พวกเขาอาจเคยรู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากผู้คนรอบข้าง แต่เมื่อมือน้อยๆ ค่อยบรรจงกดชัตเตอร์จากครั้งแรกและบ่อยขึ้นๆ ช่องว่างในใจก็ถูกเติมเต็ม เพิ่มพูนความเข้มแข็งและพร้อมที่จะเดินหน้า เพื่อทำความฝันให้เป็นความจริงอย่างมั่นใจ
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 17 ธันวาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก