ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

โพลผู้พิการหวั่นเปิดเสรีอาเซียนพ่นพิษ ถูกแย่งงานแต่ยังเชื่อมั่นเป็นศูนย์กลางผู้พิการ

วันที่ลงข่าว: 15/12/15

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส, อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ, ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตโพล แถลงผลการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของผู้พิการในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของประเทศไทย

 

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2558 นี้จะเป็นการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการของ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนของตนโดยให้ความรู้ความเข้าใจ ผลดี ผลเสีย ผลกระทบรวมถึงข้อแนะนำในการเตรียมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะเดียวกันกลุ่มผู้พิการซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนหนึ่งได้ตระหนักถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับผู้พิการในแต่ละประเทศจึงต้องให้ความสนใจและเตรียมพร้อมให้กับผู้พิการเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีคุณภาพด้วยเช่นกัน

 

สำหรับประเทศไทย หน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอและเผยแพร่ข้อมูลสาระความรู้ข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพื่อเตรียมพร้อมให้กับประชาชนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมความพร้อมให้กับผู้พิการในประเทศไทยสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังคงมีการพูดถึงอยู่ในวงจำกัดและยังไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งแต่สิ้นปี พ.ศ.2558 นี้ประกอบกับในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาตรงกับวันคนพิการสากล สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตโพลจึงได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของผู้พิการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของประเทศไทย โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 ถึง 7 ธันวาคม พ.ศ.2558

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ได้สรุปผลการสำรวจว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 482 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายคิดเป็นร้อยละ 51.66 ขณะที่ร้อยละ 48.34 เป็นเพศหญิง โดยจำแนกประเภทความพิการออกเป็น 3 ประเภทคือ ผู้พิการทางการเห็นคิดเป็นร้อยละ 45.85 ผู้พิการทางร่างกายคิดเป็นร้อยละ 35.89 และผู้พิการทางการได้ยินคิดเป็นร้อยละ 18.26 

 

 

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) นั้น กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.69 ทราบแล้วว่าประเทศไทยจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตั้งแต่สิ้นปี พ.ศ.2558 นี้เป็นต้นไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 25.31 ยังไม่ทราบ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 45.64 มีความคิดเห็นว่าตนเองสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเพียงพอ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.25 มีความคิดเห็นว่าตนเองยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงพอ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.11 ไม่แน่ใจ

 

 

ในด้านความพร้อมกับการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 42.32 ระบุว่าในฐานะประชาชนไทย คิดว่าในปัจจุบันนี้ตนเองมีความพร้อมที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แล้ว ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.33 ระบุว่าตนเองยังไม่มีความพร้อม และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.35 ไม่แน่ใจ

 

ในด้านสิ่งที่ตนเองควรพัฒนาเพื่อเตรียมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีคุณภาพนั้น กลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.91 มีความคิดเห็นว่าตนเองควรพัฒนาทักษะทางด้านภาษามากที่สุดเพื่อเตรียมตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้อย่างมีคุณภาพ รองลงมาคิดว่าตนเองต้องพัฒนาทักษะทางด้านฝีมือแรงงานซึ่งคิดเป็นร้อยละ 21.16 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.84 และร้อยละ 15.15 มีความคิดเห็นว่าตนเองต้องพัฒนาทักษะการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีด้านการสื่อสารและทักษะการใช้คอมพิวเตอร์มากที่สุดตามลำดับ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.13 มีความคิดเห็นว่าตนเองต้องพัฒนาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ใน AEC และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.81 ต้องพัฒนาคุณวุฒิทางการศึกษามากที่สุด

 

สำหรับผลดีสูงสุด 5 อันดับต่อผู้พิการในประเทศไทยจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างคือ เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับผู้พิการได้มากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 80.5 ได้ใช้สินค้า/บริการต่างๆสำหรับผู้พิการมากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 76.97 ได้รู้จักชาวต่างชาติจากประเทศอื่นในกลุ่ม AEC ได้มากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 74.69 มีโอกาสทางการศึกษาที่มากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 73.24 และเข้าถึงบริการทางการแพทย์/สาธารณะสุขได้มากขึ้นคิดเป็นร้อยละ 72.41 ในทางกลับกันสำหรับผลเสียสูงสุด 5 อันดับต่อผู้พิการในประเทศไทยจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ถูกคนจากประเทศอื่นในกลุ่ม AEC แย่งงานทำคิดเป็นร้อยละ 83.82 รายได้จากการประกอบอาชีพลดลงคิดเป็นร้อยละ 76.56 บริการ/สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการไม่เพียงพอคิดเป็นร้อยละ 74.27 เทคโนโลยีใหม่ๆ /สินค้า/บริการสำหรับผู้พิการมีราคาสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 64.52 และมีการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 60.17

 

ในด้านความคิดเห็นต่อการเป็นศูนย์กลางการให้บริการผู้พิการในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของประเทศไทยนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.71 มีความคิดเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการสำหรับผู้พิการในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.2 มีความคิดเห็นว่ายังไม่มีศักยภาพ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.09 ไม่แน่ใจ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60.37 มีความคิดว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการให้บริการผู้พิการในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 26.14 มีความคิดเห็นว่ามีความพร้อมแล้ว และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.49 ไม่แน่ใจ

 

และเมื่อเปรียบเทียบความพร้อมในการให้บริการกับผู้พิการในด้านต่างๆ ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมเพียงพอในการให้บริการกับผู้พิการในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ บริการด้านการทำงาน/ประกอบอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 58.3 บริการด้านการขนส่งสาธารณะ คิดเป็นร้อยละ 53.94 บริการทางการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 51.45 และบริการสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคารคิดเป็นร้อยละ 47.72 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมเพียงพอในการให้บริการกับผู้พิการในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในด้านต่างๆ ต่อไปนี้แล้ว บริการด้านการใช้เทคโนโลยีต่างๆ สำหรับผู้พิการคิดเป็นร้อยละ 51.45 บริการด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 45.64 และบริการทางการแพทย์/สาธารณะสุขคิดเป็นร้อยละ 45.02 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 14 ธันวาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก