ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ไทย-จีน ตั้งสถาบันอาชีวะเรียนโลจิสติกส์

วันที่ลงข่าว: 09/12/15

ไทย-จีนร่วมมือตั้งสถาบันอาชีวะในประเทศไทย ใช้หลักสูตรจีนร่วมกับหลักสูตรไทย ผลิตคนรับรองการพัฒนาประเทศ เรียนหลักสูตรรางและสาขาอื่น ๆ

 

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ในการประชุมเจรจาความร่วมมือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย เกี่ยวกับการจัดการศึกษาด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและการขนส่งทางราง ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็ว  ๆ นี้ ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศจีนได้ทำความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในฐานะมิตรประเทศตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘

 

เลขาฯ กอศ.อธิบายว่า ในส่วนความร่วมมือกับอาชีวศึกษานั้น รมว.ศธ.มีแนวคิดที่อยากให้มีการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีนเกิดขึ้น เนื่องจากประเทศจีนมีความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีวศึกษา และสามารถผลิตบุคลากรรองรับการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็อยากให้ประเทศจีนนำความรู้เหล่านี้มาถ่ายทอดให้แก่เด็กไทยด้วย   ทั้งนี้ สถาบันดังกล่าวที่จะจัดตั้งขึ้นจะเป็นสถาบันที่ผลิตคนรองรับการพัฒนาใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีและหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศจีนร่วมกับหลักสูตรของไทย ซึ่งผู้เรียนที่จบการศึกษาออกไปจะมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งสองประเทศ

 

“จากการหารือร่วมกัน เอกอัครราชทูตจีนสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งสถาบันอาชีวศึกษาไทย-จีน ซึ่งทางสถานทูตจีนพร้อมที่จะผลักดันในเรื่องนี้ให้ โดยมีระยะเวลาภายใน ๑ เดือนในการวางรูปแบบการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน รวมถึงเขียนหลักการเบื้องต้นเพื่อเสนอให้รัฐบาลจีนพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือนธันวาคมนี้” เลขากอศ. กล่าว

 

สำหรับสถาบันอาชีวศึกษาดังกล่าวจะตั้งขึ้นใหม่ในประเทศไทยคล้ายกับสถาบันเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนสายอาชีวศึกษาทั้งหมดซึ่งประเทศจีนมีความถนัดและมีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี หรือการทำอาหาร ซึ่งไม่ใช่เป็นการเรียนด้านขนส่งระบบรางเพียงอย่างเดียว

 

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ครม. ได้เห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. ๒๕๕๘ – ๒๕๖๕ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย

 

ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันว่าความร่วมมือจะเป็นโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐานสายแรกของประเทศไทย ๒ เส้นทาง (โครงการรถไฟ) คือ ๑. หนองคาย – โคราช – แก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด ๒. แก่งคอย – กรุงเทพฯ โดยโครงการรถไฟจะดำเนินการเป็น ๔ ช่วง คือ ช่วงที่ ๑ กรุงเทพฯ – แก่งคอย ช่วงที่ ๒ แก่งคอย – ท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ ๓ แก่งคอย – โคราช และช่วงที่ ๔ โคราช – หนองคาย ภายใต้รูปแบบอีพีซี (วิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง) และให้มีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (“เอสพีวี”) เพื่อลงทุนในด้านต่าง ๆ คือระบบรถไฟ รวมถึงการเดินรถและการซ่อมบำรุง

 

ทั้งนี้ ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ฝ่ายไทยจะให้การสนับสนุนการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการขอความเห็นชอบ และการเวนคืนที่ดิน

 

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ว่าเรื่องโครงการรถไฟไทย-จีน เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต้องริเริ่มให้ได้ ทั้งนี้ หลักการในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวนั้น การก่อสร้างประเทศไทยต้องมีส่วนร่วมและให้ใช้ช่างคนไทย ตลอดจนใช้วัสดุในประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการจะต้องได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ยืนยันการดำเนินการในเรื่องรถไฟต้องเกิดขึ้นเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมั่นโครงการดังกล่าวว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเชื่อมโยงกันทางการคมนาคมขนส่งทางรถไฟ

ที่มาของข่าว http://dlfeschool.in.th
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก