ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กรมการแพทย์จับมือชุมชน พัฒนาระบบฟื้นฟูคนพิการอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

วันที่ลงข่าว: 03/12/15

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2555 ประเทศไทยมีคนพิการประมาณ 1.5 ล้านคนหรือร้อยละ 2.2 ของประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุมากกว่า 70 ปี และอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล ส่วนใหญ่มีความยากลำบากในการดูแลตนเอง ในการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ การขับถ่าย การอาบน้ำ การแต่งตัว การล้างหน้า แปรงฟัน และการกินอาหาร มีเพียงร้อยละ 28.6 ที่ใช้อุปกรณ์หรืออวัยวะเทียม หรือเครื่องช่วยคนพิการ

นอกจากนี้ ยังพบว่าร้อยละ 22.4 ไม่ได้รับการศึกษา และร้อยละ 60 ไม่มีงานทำ เพื่อให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตัวเอง กลับเข้าสู่สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบการบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน มีเป้าหมายหลักให้เกิดการฟื้นฟูคนพิการในชุมชน โดยชุมชนเพื่อชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สร้างและขยายพื้นที่เครือข่าย การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชนมีส่วนร่วม อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ประชาชนในชุมชน และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในรูปแบบต่างๆ เน้นให้ชุมชนและเครือข่ายมีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักในการดูแลคนพิการประเภทต่างๆ ตามแนวทางของ “คู่มือการฝึกคนพิการในชุมชนขององค์การอนามัยโลก” เพื่อให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนพิการในการช่วยเหลือตนเอง ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนพิการในชุมชน ช่วยลดความยากจน และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การศึกษา การทำงานเลี้ยงชีพ และเพิ่มโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน และในปี 2558-2560 มีชุมชนนำร่องที่ให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการจนประสบผลสำเร็จ ได้แก่ ตำบลราษฎร์นิยม อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และตำบลวัดดาว อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และมีแผนที่จะการดำเนินการในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก