ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เปลี่ยนภาระเป็นพลัง..ทิศทางพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ปี 58

วันที่ลงข่าว: 27/11/15

ด้วยความเชื่อที่ว่าผู้พิการและทุกคนในสังคมสามารถอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยหากผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพนั้น ได้รับสิทธิ โอกาส และการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเหมือนคนทั่วไป เป็นที่มาของทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ปี 2558  ที่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาศักยภาพผู้พิการ ให้กลายเป็นหนึ่งแรงช่วยเขยื้อนประเทศ

 

โดยสถานการณ์คนพิการในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน พบว่ามีผู้พิการทั้งหมด 1,567, 791 คน คิดเป็นร้อยละ 2.41 ของประชากรทั้งประเทศ แบ่งเป็นเพศชาย 851,361 คน  ซึ่งมากกว่าเพศหญิงที่มีอยู่ 716,430 คน และกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ 38.76 หรือ 607,693 คน ในเขต กทม.มี  62,677 คน  ขณะที่สาเหตุความพิการมาจากภาวะความเจ็บป่วยและโรคต่างๆ ในภายหลังมากถึง 760,771 คน คิดเป็นร้อยละ 48.53 จากอุบัติเหตุ 204,446 คน ส่วนพิการแต่กำเนิดมีแค่ 126,332 คน  ส่วนประเภทความพิการมากที่สุดเป็นทางร่างกายหรือทางการเคลื่อนไหว 742,349 คน  และที่พิการมากกว่า 1 ประเภทมีไม่น้อย 113,382 คน

 

ข้อมูลจาก พก. ยังแสดงให้เห็นว่า ทุกวันนี้ยังมีผู้พิการไม่ได้รับการศึกษาถึง 813,674 คน หรือกว่าร้อยละ 51.89 คน ส่วนระดับการศึกษาที่ผู้พิการได้รับมากที่สุดคือประถมศึกษา รองลงมาเป็นมัธยมศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ อนุปริญญา  ปริญาตรี 13,096 คน สูงกว่าปริญญาตรี 1,091 คน

 

ทั้งนี้ ผู้พิการในประเทศไทยที่อยู่ในวัยทำงานอายุ 15-60 ปี มี 769,327 คน ประกอบอาชีพเพียง 317,020 คน หรือร้อยละ 41 ส่วนมากประกอบอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป กิจการส่วนตัว รองลงมาคือลูกจ้างภาคเอกชนร้อยละ 13.55 และรับราชการหรือรัฐวิสาหกิจเพียงร้อยละ 1.56 ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ประกอบอาชีพที่มีอยู่ 352,859 คน หรือร้อยละ 46 ส่วนผู้พิการที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้มีอยู่ 99,448 คน หรือร้อยละ 13

 

นภา เศรษฐกร ผู้อำนวยการ พก. เผยว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้พิการส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70 เข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ เพราะส่วนมากอาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล ซึ่งยากลำบากต่อการเดินทาง และไม่ทราบข้อมูลข่าวสารจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ ในขณะเดียวกันก็มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและใช้ประโยชน์จากบริการสาธารณะ ส่วนครอบครัวและสังคมก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจ และมีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมกับคนพิการ

 

ดังนั้น หนทางที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้พิการในประเทศไทย นภาฉายภาพให้เห็นว่า  พก.ได้เริ่มดำเนิน "โครงการส่งเสริมการดำเนินงานศูนย์บริการคนพิการ" โดย 1.สนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์บริการคนพิการระดับจังหวัด 76 จังหวัด ผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  2.สนับสนุนศูนย์บริการคนพิการทั่วไป ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรด้านคนพิการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งมีเป้าหมายทั้งหมด 233 แห่ง และ 3.ส่งเสริมกิจกรรมของศูนย์ฯ เช่น สำรวจและจัดเก็บข้อมูลคนพิการ บริการล่ามภาษามือ การปรับสภาพที่อยู่อาศัย ผู้ช่วยคนพิการ และเครื่องช่วยความพิการ เพื่อให้ผู้พิการเข้ารับบริการจากศูนย์บริการต่างๆ เหล่านี้ในเบื้องต้น  20,000 คน

 

นภากล่าวเพิ่มว่า ทางพก. และเครือข่ายภาคียังริเริ่ม "โครงการสนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพคนพิการและผู้ดูแลคนพิการ" ใน 76 จังหวัด จังหวัดละ 6 กลุ่ม โดยจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดละ 50,000 - 150,000 บาท ทั้งยังจัดทำทำเนียบผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการของคนพิการตามแนวทางปฏิบัติตามมาตรา 35 และส่งเสริมการประกอบอาชีพและการมีงานทำของคนพิการ  โดยการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการประกอบอาชีพของคนพิการ ให้แก่บุคลากร หน่วยงานต่าง ๆ และสถานประกอบการ มาตรา 33 สัดส่วน 1 : 100 คน และพัฒนาระบบจัดหางานคนพิการออนไลน์ www.ตลาดงานคนพิการ.com รวมถึงการส่งเสริมการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรา 35

 

"ที่สำคัญคือ โครงการสนับสนุนการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ที่ตั้งเป้าให้ผู้พิการและทุกคนในสังคม สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ 100,000 คน โดยส่งเสริมการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ 21 องค์กรทำตามมติ ในการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ พร้อม ติดตามการดำเนินงานจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ ของอาคาร สถานที่ บริการสาธารณะต่างๆ จำนวน 324 แห่ง ผ่านคณะทำงานและระบบแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์มือถือ ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้"ผู้อำนวยการ พก. แจงเพิ่ม อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทาง พก. ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เพื่อส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ในข้างต้นให้เป็นรูปธรรม พร้อมติดตามผลการดำเนินงาน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน ซึ่งทั้งหมดเพื่อให้การพัฒนาองค์กรด้านคนพิการของประเทศ มีศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการและสามารถดำเนินงานอย่างมีมาตรฐานเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรระดับชาติที่บูรณาการงานด้านคนพิการ และก้าวไปสู่จุดสูงสุดในการเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านคนพิการในภูมิภาคอาเซียน ที่ช่วยให้ผู้พิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิและสวัสดิการโดยปราศจากอุปสรรค.

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก