ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คืนคุณค่าผู้พิการด้วยการจ้างงาน

วันที่ลงข่าว: 27/11/15

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า ผู้พิการในประเทศไทยที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) มีจำนวน 1.9 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้พิการวัยแรงงาน (อายุ 15-60 ปี) จำนวน 769,327 คน เป็นผู้พิการที่ไม่สามารถทำงานได้ 99,448 คน คิดเป็นร้อยละ 13 คนพิการที่มีงานทำ 317,020 คน คิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานรับจ้างทั่วไปในภาคการเกษตรที่มีรายได้ไม่สูงและไม่มั่นคง และเป็นกลุ่มผู้พิการไม่มีงานทำ 352,859 คน คิดเป็นร้อยละ 46

 

พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 ระบุว่า เจ้าของสถานประกอบการต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในอัตราส่วน 100:1 (พนักงาน 100 คน ต้องว่าจ้างผู้พิการ 1 คน) แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดและความไม่เอื้ออำนวยของสถานประกอบการ กระทรวงแรงงานจึงพัฒนารูปแบบการจ้างงานผู้พิการในมิติใหม่ ที่ผู้ประกอบการสามารถจ้างผู้พิการทำงานสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนตนเองได้

 

กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้พิการ ในฐานะเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และส่งเสริมผู้พิการให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่การจ้างงานผู้พิการเพื่อทำงานในสถานประกอบการนั้น บางครั้งมีข้อจำกัด อาทิ ความไม่พร้อมของสถานที่ สถานประกอบการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ การเดินทางมาทำงาน รวมทั้งความรู้ความสามารถผู้พิการที่ไม่ตรงกับงาน กลุ่มบริษัทฯ จึงเน้นสนับสนุนการจ้างงานผู้พิการตามข้อกฎหมายจ้างงานผู้พิการตามมาตรา 33 ผ่านโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะต่างๆ ในชุมชนหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่ดำเนินงานโดยมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ เห็นว่าการจ้างงานผู้พิการให้ทำงานในชุมชนของตนเองนั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผู้ประกอบการจะส่งเสริมผู้พิการให้มีงานทำอย่างเหมาะสม สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของผู้พิการ สร้างคุณค่าและส่งเสริมให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งเชิญชวนคู่ค้าและพันธมิตรของกลุ่มบริษัทฯ ร่วมงานสัมมนา "ทางเลือกของการจ้างงานผู้พิการ" เพื่อร่วมตระหนักถึงความสำคัญของการจ้างงานผู้พิการร่วมกัน

 

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม กล่าวว่า "มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมดำเนินโครงการนำร่องในการจ้างงานผู้พิการให้ทำงานในพื้นที่ชุมชนมาร่วม 3 ปีได้ ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 20 แห่ง หลังจากที่ผู้พิการได้เข้าร่วมโครงการ พบว่าผู้พิการเหล่านี้นั้นมีความสุข มีความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกมีคุณค่า ในขณะที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการเองก็รู้สึกพึงพอใจที่ได้มีส่วนช่วยเหลือผู้พิการ และยังช่วยเหลือชุมชนไปพร้อมๆ กัน การจ้างงานคนพิการในชุมชนถือเป็นทางเลือกใหม่ที่จะพัฒนาศักยภาพและสร้างโอกาสให้ผู้พิการได้เข้าสู่การจ้างงานโดยสถานประกอบการเพื่อทำงานในพื้นที่ชุมชน นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

 

หลังจากที่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ได้นำร่องจ้างงานคนพิการในรูปแบบนี้แล้วนั้น พบว่าผู้พิการเหล่านั้นมีความสุขกับงานที่ทำ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง นอกจากนี้ทางกลุ่มบริษัทฯ ยังเผยแพร่แนวคิดนี้สู่คู่ค้าและพันธมิตรของกลุ่มบริษัทฯ ผ่านการสัมมนา "ทางเลือกของการจ้างงานผู้พิการ" และด้วยศักยภาพของพันธมิตรกลุ่มบริษัทฯ ได้เห็นความสำคัญและให้ความสนใจในการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้พิการให้มีตัวตนในสังคม จึงมีการต่อยอดติดต่อจ้างงานผู้พิการผ่านมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้น

 

ด้าน ดร.อุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ผู้ที่รับผิดชอบและดูแล น.ส.เกษณีย์ อินขำ หรือน้องเกษ หนึ่งในผู้พิการทางสมอง ที่กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ว่าจ้างเป็นพนักงานผ่านโครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน ตำแหน่งผู้ช่วยแม่บ้าน เล่าให้ฟังว่า "ก่อนที่น้องเกษจะได้มาทำงาน เขาเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าสบตาและพบปะผู้คน เมื่อเขาได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพโดยการทำงาน เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของเขาได้อย่างชัดเจน สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าใจและพัฒนาในเรื่องการสื่อสารได้มากขึ้น

 

"น้องเกษจะทำหน้าที่ของตัวเองโดยที่เราไม่ต้องเอ่ยปากบอก ทั้งเก็บกวาดเช็ดถู ล้างแก้ว เสิร์ฟน้ำต้อนรับแขกและงานเอกสารในสำนักงาน นอกจากนี้เขายังมีความสามารถทำตุ๊กตาการบูรที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชนตำบลดอนแก้วเพื่อไปจำหน่ายในงานต่างๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น้องเกษหารายได้เข้าครอบครัว น้องเกษเป็นผู้พิการทางสมองที่มีความสามารถสูงมากกว่าที่เราคิด แม้ภาพภายนอกที่ดูพิการ แต่จิตใจของเขาไม่ได้พิการตาม เขามีจิตสาธารณะ คิดและพยายามช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งเรื่องราวของเขาอาจเป็นเรื่องที่ผู้อื่นในสังคมมองข้าม แต่โครงการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณะในชุมชน ถือเป็นโครงการที่เป็นนวัตกรรมอย่างแท้จริง ทำให้เขาสามารถหารายได้และเป็นเสาหลักให้กับครอบครัวได้".

 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ออนไลน์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก