ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ผู้นำอาเซียนลงนามจัดตั้งเออีซี กูรูชี้สารพัดปัญหารอให้สะสาง

วันที่ลงข่าว: 23/11/15

 เอพี – ผู้นำอาเซียนลงนามก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการเมื่อวันอาทิตย์ (22) ภายใต้เป้าหมายในการรับมือการแข่งขันจากจีนและอินเดีย กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญก็เตือนว่า ยังมีอุปสรรคมากมายที่ต้องจัดการก่อนที่เออีซีจะสัมฤทธิ์ผลตามที่คาดหวัง

       

       ผู้นำ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ลงนามปฏิญญาระหว่างการประชุมสุดยอดเพื่อก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) อันเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอาเซียนที่มีขนาดใหญ่กว่าและมีเป้าหมายในการรวมตัวด้านการเมือง ความมั่นคง วัฒนธรรม และสังคม

       

       นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัคของมาเลเซียและเจ้าภาพการประชุม ยกย่องเออีซีว่า เป็นความสำเร็จสำคัญ และเรียกร้องสมาชิกเร่งรัดการรวมตัว

       

       ปัจจุบัน มีการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานของเออีซีแล้วในหลายด้าน เช่น การขจัดอุปสรรคด้านภาษีและข้อจำกัดด้านวีซ่า

       

       ไมเคิล จี. พลัมเมอร์ ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศจากศูนย์ยุโรปของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ในโบโลญญา อิตาลี ชี้ว่า เออีซีจะช่วยส่งเสริมรายได้และการจ้างงาน รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนเข้มแข็งขึ้นและสามารถถ่วงดุลมหาอำนาจจีนและอินเดีย

       

       อย่างไรก็ดี พลัมเมอร์เสริมว่า เออีซียังมีภารกิจมากมายรออยู่หลังจากกลายเป็นนิติบุคคลทางกฎหมายอย่างเต็มตัวในวันที่ 31 ธันวาคมที่จะถึง โดยอุปสรรคสำคัญอาจรวมถึงความหลากหลายในภูมิภาคจากประชากร 630 ล้านคนที่พูดกันคนละภาษา นับถือศาสนาต่างกัน และปกครองโดยระบบการเมืองต่างๆ อาทิ ประชาธิปไตยที่ควบคุมยาก เผด็จการทหาร กึ่งพลเรือน เผด็จการ ราชาธิปไตย และคอมมิวนิสต์

       

       ขณะเดียวกัน การเปิดเสรีภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ เกษตรกรรม เหล็กกล้า การผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่ได้รับการปกป้องอื่นๆ มีความคืบหน้าต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ แม้พลเมืองอาเซียนได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศสมาชิกอื่นๆ แต่งานที่เปิดรับจำกัดใน 8 แขนงเท่านั้น อาทิ วิศวกรรม การบัญชี และท่องเที่ยว ซึ่งเท่ากับ 1.5% ของตำแหน่งงานทั้งหมดในภูมิภาค มิหนำซ้ำประเทศเจ้าบ้านยังสามารถกำหนดอุปสรรคในรูประเบียบข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดการไหลเข้าของแรงงานมีทักษะ

       

       ในส่วนการค้าภายในภูมิภาคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีสัดส่วนเพียง 24% ของมูลค่าการค้าทั่วโลกของอาเซียน ขณะที่ตัวเลขเดียวกันนี้ของสหภาพยุโรป (อียู) สูงถึง 60%

       

       สมาชิกอาเซียนยังมีข้อพิพาททางการทูตระหว่างกันที่ยังไม่ได้รับการสะสาง เช่น ข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างกัมพูชาและเวียดนาม และความล้มเหลวของอินโดนีเซียในการแก้ปัญหาไฟป่าที่แพร่หมอกควันพิษปกคลุมมาเลเซีย สิงคโปร์ และทางใต้ของไทยปีละหลายเดือน

       

       พลัมเมอร์สำทับว่า การเปิดเสรีภาคบริการมีความล่าช้า ขณะที่การไหลเวียนของการลงทุนข้ามพรมแดนถูกจำกัดจากบัญชียกเว้นขนาดใหญ่ และขัอจำกัดในการเป็นเจ้าของของต่างชาติ นอกจากนั้น การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐและการผูกขาดของรัฐวิสาหกิจยังเป็นประเด็นอ่อนไหวที่แตะต้องไม่ได้

       

       ทางด้านโมฮัมหมัด มูนีร์ อับดุล มาจิด ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ขานรับว่า เออีซีไม่ใช่ข้อตกลงที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ยังมีหลายประเด็นรอให้สะสาง พร้อมแจกแจงว่า สิ่งที่ทางการบันทึกว่าลุล่วงกับสิ่งที่ภาคเอกชนรายงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

       

       นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคอื่นๆ เช่น การคอร์รัปชั่น โครงสร้างพื้นฐานที่มีพัฒนาการต่างกัน ต้นทุนการขนส่งที่ไม่เท่าเทียม ตลอดจนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงระหว่างประเทศที่มั่งคั่งและมีรายได้ปานกลางอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ไทย และฟิลิปปินส์ กับสี่ประเทศที่มีพัฒนาการด้อยกว่า ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

       

       ทั้งนี้ มีการพิจารณาแนวคิดในการก่อตั้งเออีซีตั้งแต่ปี 2002 และร่างพิมพ์เขียวขึ้นมาในปี 2007 โดยมีเป้าหมายในการรับมือการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและการลงทุนจากจีนและอินเดีย เนื่องจากแม้องค์การเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) คาดว่า อัตราเติบโตของจีนจะชะลอลงอยู่ที่เฉลี่ย 6% ต่อปีตลอด 5 ปีข้างหน้า ทว่า การขยายตัวของอินเดียกลับมีแนวโน้มพุ่งขึ้นอยู่ที่ปีละ 7.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน

       

       เออีซีเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ที่ก่อตั้งขึ้นจากการลงนามในปฏิญญาเมื่อวันอาทิตย์ ส่วนอีกสองเสาหลักคือการเมือง-ความมั่นคง และสังคม-วัฒนธรรม

       

       อนึ่ง หลังการประชุมสุดยอดอาเซียน 10 ผู้นำชาติสมาชิกได้หารือกับผู้นำ 4 ชาติเอเชีย ตลอดจนถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามาจากสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรีดมิทรี เมดเวเดฟแห่งรัสเซีย, นายกรัฐมนตรีมัลคอม เทิร์นบูลของออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์ของนิวซีแลนด์ ระหว่างการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กินเวลาสองชั่วโมง

       

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก