ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ประยุทธ์” ถกอาเซียน-ญี่ปุ่น หนุนเร่งรัดเจรจาหุ้นส่วน ศก.แนะลงทุนอุตสาหกรรมริมชายแดน

วันที่ลงข่าว: 23/11/15

นายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ยินดีสัมพันธ์เจริญก้าวหน้า ไทยพร้อมร่วมมือส่งเสริมเพื่อประโยชน์ร่วม หวังนักลงทุนขยายการค้าผ่านข้อริเริ่ม และโครงการใหม่ สนับสนุนเร่งรัดเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจ แนะแสวงหาโอกาสลงทุนอุตสาหกรรมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ชมรัฐบาลหนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงภูมิภาค และเปลี่ยนความร่วมมือสุขภาพ 

       

       วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ Conference Hall 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อเวลา 13.45 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำชาติอาเซียน และนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 18 เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในวันนี้ ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นมีความเข้าใจอันดีต่อกัน และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมาย โดยมุ่งส่งเสริมการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนปฏิบัติการ

       

       ภายหลังการประชุม พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น เจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน โดยได้แสดงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนปฏิบัติการ เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ ความมั่งคั่ง และคุณภาพชีวิต

       

       ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมบทบาทของญี่ปุ่นในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค นายกรัฐมนตรี หวังว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นจะขยายการค้าและเพิ่มการลงทุนในอาเซียน ผ่านข้อริเริ่มและโครงการใหม่ ๆ เช่น ธุรกิจ SMEs อุตสาหกรรมการเกษตร และการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

       

       นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุนให้อาเซียนและญี่ปุ่นเร่งรัดการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น ให้บรรลุผลโดยเร็ว เพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง และหวังว่า การจัดทำ RCEP จะแล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้อุปสรรคการค้าระหว่างกันน้อยลง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า RCEP และ TPP เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก เจริญเติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น

       

       นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงความเชื่อมโยง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของความเจริญในภูมิภาคและการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง พร้อมชื่นชมนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูงในเอเชีย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติตาม MPAC เพื่อให้ภูมิภาคเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ทั้งนี้ ไทยสนับสนุนให้มีการส่งเสริมความเชื่อมโยงและการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางท่องเที่ยว และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล

       

       นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่าย รวมถึงญี่ปุ่น ในการลงทุนและการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมย่อยในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มการจ้างงาน ลดปัญหาอาชญากรรม และสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับประชาชนในชนบท นายกรัฐมนตรีหวังว่า ญี่ปุ่นแสวงหาโอกาสในการลงทุนในโครงการเหล่านี้ นายกรัฐมนตรีมองว่าความเชื่อมโยงมิได้จำกัดเพียงแค่ด้านกายภาพ แต่รวมถึงการทำให้ประชาชนมีความเข้าใจอันดีและรู้จักซึ่งกันและกันให้มากขึ้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลญี่ปุ่นที่ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม และการกีฬา ทำให้กลุ่มชนรุ่นใหม่มีคุณภาพและเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญรุ่งเรือง

       

       นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการพัฒนาประเทศ โดยทุกวันนี้ หลายประเทศเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับญี่ปุ่น โดยที่ญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าในการดูแลผู้สูงอายุ และการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดังนั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ทุกประเทศควรส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยพร้อมให้ความร่วมมือ รวมถึงการส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาค โดยในโอกาสที่อาเซียนกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นายกรัฐมนตรี หวังว่า ญี่ปุ่นจะแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะในสาขาที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการสำรองพลังงาน และอุตสาหกรรมอาหาร

       

       สำหรับบทบาทของญี่ปุ่นในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีเจตนารมณ์ที่จะเพิ่มบทบาทในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคตามนโยบาย Proactive Contribution to Peace ซึ่งไทยเห็นว่า จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายและแนวปฏิบัติระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และนายกรัฐมนตรีหวังว่า ญี่ปุ่นจะมีบทบาทมากขึ้นจากการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปีหน้า

       

       ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการจัดการกับปัญหาความท้าทายรูปแบบใหม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยส่งเสริมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอาเซียน และศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน

       

       นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำว่า ไทยเห็นพ้องถึงความสำคัญของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนต่าง ๆ และยินดีสนับสนุนบทบาทนำของญี่ปุ่นในการให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของผู้พิการ พร้อมชื่นชมการจัดตั้งกองทุนอาเซียน - ญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มบทบาทของสตรี นายกรัฐมนตรีหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมมือกับญี่ปุ่นในเรื่องนี้และปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางยิ่งขึ้น 

 

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก