ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใช้สิทธิบัตรทอง ผ่าตัดรักษาได้

วันที่ลงข่าว: 20/11/15

รศ.นพ.วิชัย ชี้เจริญ นายกสมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นปีละ 1,800-2,000 คน โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพันธุ์กรรม เป็นหลัก โดยเฉลี่ยจะพบในเด็กแรกเกิด 1 คนต่อเด็กแรกเกิด 1,000 คน และพบว่าในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะพบจำนวนเด็กแรกเกิดป่วยมากที่สุด ซึ่งสิ่งแวดล้อมจากการขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน สูบบุหรี่ ดื่มสุรา และคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวทานยาบางอย่างระหว่างตั้งครรภ์ เช่นยาป้องกันกันชักบางชนิดเป็นต้น

 

"ปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายงานพบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 2.6 รายต่อทารก 1,000 ราย ภาคใต้ 1.03 รายต่อทารก 1,000 ราย และภาคเหนืออยู่ที่ 1.5 รายต่อทารก 1,000 รายโดยภาพรวมทั้งประเทศของแต่ละปีจะอยู่ที่ 1.8-2 รายต่อทารก 1,000 ราย” รศ.นพ.วิชัย กล่าว

 

สำหรับวิธีการรักษา เด็กที่เป็นจะสามารถได้รับการรักษาจากการผ่าตัด โดยเด็กบางคนอาจได้รับการผ่าตัดถึง 5 ครั้ง ทั้ง ริมฝีปาก เพดานปาก ปลูกสันเหงือก เพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด โดยสามารถเริ่มการผ่าตัดตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ไปจนถึงเข้าสู่วัยรุ่นหรือสิ้นสุดที่อายุ 20 ปี ซึ่งนอกจากการผ่าตัดแล้วเด็กที่ป่วยต้องเข้ารับการรักษาเกี่ยวกับโรคหู คอ จมูก เพราะเด็กส่วนใหญ่จะมีภาวะเกี่ยวกับการได้ยิน หูชั้นกลางมีปัญหา ส่วนเรื่องฟัน จะมีฟันขึ้นซ้อน เก หรือฟันหายไปในบางตำแหน่ง จึงต้องทำการรักษาต่อเนื่อง แต่เมื่อได้รับการรักษาก็จะสามารถดำรงใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป 

 

ทั้งนี้ทางสมาคมมีการให้ความรู้กับพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการรักษาและดูแลลูกที่มีภาวะนี้และมีศูนย์แพทย์เด็กพิการปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าและศีรษะ อยู่ทั่วประเทศไทยทั้ง 4 ภาค ซึ่งผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือสิทธิ 30 บาท สามารถรักษาตามอายุที่เหมาะสมและต่อเนื่องได้ แต่ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รักษาในพื้นที่ ต้องมีใบส่งตัวจากศูนย์ในพื้นที่จึงจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิน

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก