ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

พยาบาลกาฬสินธุ์ จัดกิจกรรมบำบัดคนพิการทางสายตา “ดึงคนตาบอดออกบ้านสู่โลกกว้าง”

วันที่ลงข่าว: 16/11/15

กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้เพิ่มบทบาทในการพัฒนาศักยภาพคนพิการทางสายตา หลากหลายรูปแบบ เป็นกิจกรรมประจำที่พบเห็นได้ในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการนำเดินเท้าและปลูกต้นไม้ การร่วมบริจาคโลหิต ร่วมเป็นจิตอาสาในโครงการต่างๆ โดยมีชมรมคนตาบอด จ.กาฬสินธุ์ และโรงเรียนคนตาบอด จ.กาฬสินธุ์ ร่วมดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการช่วยเหลือผู้พิการที่ยากไร้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข โดยมี ดร.กันติมาภรณ์ วิวัฒน์ตระกูล หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่ พยาบาล และจิตอาสา 20 คน เป็นกำลังหลัก

 

 

ดร.กันติมาภรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมที่โดดเด่นที่จะเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาได้คือการดึงผู้พิการทางสายตาออกจากบ้าน ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมหารายได้ กิจกรรมเพื่อสาธารณะ เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของการนำผู้พิการทางสายตา 15 คนเดินไม้เท้าจากสมาคมพ่อค้า จ.กาฬสินธุ์ไปที่สวนสาธารณะแก่งดอนกลาง ระยะทาง 2 กม. และร่วมกันปลูกต้นไม้ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพื่อพัฒนาสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยสังคม เติมความร่มรื่นให้ธรรมชาติกลางเมืองกาฬสินธุ์ด้วย

 

 

“กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการทางสายตา จึงได้จัดโครงการฟื้นฟูคนพิการด้านสายตาขึ้น เริ่มจากกิจกรรมตาบอดรักษ์โลก โดยเจ้าหน้าที่ พยาบาล และจิตอาสา เดินไม้เท้าจากสมาคมพ่อค้า จ.กาฬสินธุ์ไปที่สวนสาธารณะแก่งดอนกลาง ระยะทาง 2 กม. เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาเกิดการพัฒนาสมรรถภาพด้านปฏิภาณไหวพริบ สามารถเดินเท้าได้โดยไม่สะดุดล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นร่วมกันปลูกต้นไม้ เพื่อคืนความร่มรื่นให้กับธรรมชาติ เป็นปอดฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้ชุมชน”

 

 

ทั้งนี้ เพื่อให้คนตาบอดเกิดความภาคภูมิใจ ที่มีส่วนร่วมในการทำความดีที่เป็นประโยชน์สู่สังคม และให้เห็นว่าคนพิการไม่ได้เป็นภาระของสังคม เป็นการเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดอาชีพต่างๆ ในส่วนของผู้พิการทางสายตา ไม่ว่าจะเป็นอาชีพหมอนวด การทำผลิตภัณฑ์จากผ้า และการจำหน่ายสินค้าในโรงพยาบาล

 

 

ดร.กันติมาภรณ์ กล่าวอีกว่า กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์และจิตอาสา ยังได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดโครงการฟื้นฟูคนตาบอดด้วย เช่น ที่เขตเทศบาลตำบลโพนทอง อ.เมืองกาฬสินธุ์ โดยการออกเยี่ยมนายน้อย บุบผาเห้า อายุ 71 ปี บ้านเลขที่ 23 หมู่ 3 บ้านโคกน้ำเกลี้ยง ต.โพนทอง ซึ่งเป็นคนตาบอดที่ได้รับการฟื้นฟู จนสามารถเดินและช่วยเหลือตนเองได้ดีขึ้น

 

 

“จากสภาพที่พักอาศัยและห้องสุขาทรุดโทรม ไม่สะดวกสำหรับคนตาพิการ จึงได้รวบรวมปัจจัยจัดซื้อวัสดุเพื่อทำการปรับปรุงซ่อมแซม โดยเทศบาลตำบลโพนทอง ได้นำเจ้าหน้าที่กองช่างดำเนินการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เป็นการร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งผู้พิการทางสายตารายอื่นๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับกลุ่มการพยาบาลฯ ก็จะได้รับการฟื้นฟูและช่วยเหลือตามความเหมาะสมในโอกาสต่อไป”

 

 

นายมงคล สำราญเนตร นายก ทต.โพนทอง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สภาพความเป็นอยู่ของผู้พิการในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ยากไร้ ไม่มีอาชีพ และหากเป็นผู้พิการส่วนใหญ่จะถูกกักให้อยู่เฉพาะในบริเวณบ้าน ไม่มีสังคม ขณะที่บ้านพักอาศัยมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต 

 

 

“นับเป็นความโชคดีของผู้พิการ ที่กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เห็นความสำคัญของผู้พิการ โดยเฉพาะกลุ่มคนตาบอด ซึ่งมีชาวบ้านโพนทองเป็นสมาชิกอยู่ โดยได้ลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจ การดูแลเอาใจใส่ผู้พิการด้วยเทคนิคด้านการพยาบาล ทำให้ผู้พิการมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก และทำให้ผู้พิการเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถูกสังคมมองข้ามหรือถูกทอดทิ้ง พวกเขายังมีความสามารถที่จะทำคุณประโยชน์ต่อสังคมตามศักยภาพและตามที่โอกาสอำนวยได้”

 

 

นายมงคล กล่าวว่า ในการร่วมกับกลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ทำการฟื้นฟูศักยภาพคนพิการนั้น แรกเริ่มได้ใช้ทุนส่วนตัวจำนวนหนึ่ง จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ผู้ยากไร้ในพื้นที่ มีผู้พิการกว่า 173 ราย เป็นสมาชิก ในจำนวนนี้มีผู้พิการทางสายตา 34 ราย ขณะที่การเข้าพื้นที่ช่วยเหลือของกลุ่มการพยาบาลฯ ได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างเข้าถึง มีการสร้างความเข้าใจให้กับผู้รับบริการ แนะแนวทักษะความรู้เรื่องการดูแลผู้พิการด้วยเทคนิคต่างๆ ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ในสภาพที่ดีขึ้น และไม่สร้างภาระให้กับคนในครอบครัวและสังคม นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันบริจาคเงินทุนเพื่อซ่อมแซมบ้านพักอาศัยให้กับผู้พิการ โดยทางเทศบาลฯ ได้สนับสนุนกำลังแรงงานเพื่อให้กิจกรรมนี้ดำเนินไปตามเจตนารมณ์และบรรลุวัตถุประสงค์

 

 

อย่างไรก็ตาม ในความเข้าใจของชาวบ้านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้นำชุมชน จะแสวงหาแนวทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับชาวบ้าน สำหรับตนไม่คิดอะไรมากไปกว่าทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนา ทั้งคุณภาพชีวิตและระบบสาธารณูปโภคให้ดีที่สุด โดยมุ่งหวังให้ชาวบ้านได้รับประโยชน์และความพึงพอใจสูงสุด

 

 

ชมพิศ ปิ่นเมือง/กาฬสินธุ์

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์บ้านเมืองออนไลน์ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก