ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สสส.ยกนวัตกรรมชุมชนขับเคลื่อนประชารัฐสร้างเศรษฐกิจฐานราก

วันที่ลงข่าว: 12/11/15

วันที่ 11 พ.ย. ที่ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ชั้น 1 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดงานเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 8 กรณี "แผนชุมชนกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" โดยนายสมพร ใช้บางยาง ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง มีเป้าหมายการทำงานร่วมกันระหว่าง สสส.และพอช. ในการสร้างพลังชุมชนฐานรากเพื่อการจัดการตนเอง โดยทำงานบูรณาการกับภาคส่วนต่างๆ ในระดับพื้นที่ โดยนำความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาพัฒนาเชิงพื้นที่ ซึ่งแผนชุมชนเป็นส่วนที่มีความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวคิดประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล เป็นโอกาสที่จะหนุนเสริมพลังการจัดการตนเอง ซึ่งหากแต่ละชุมชนพื้นที่มีแผนชุมชนรองรับจะทำให้การทำงานต่อยอดจากนโยบายของรัฐบาลทำได้ทันทีและสร้างประโยชน์ต่อชุมชนอย่างเต็มที่ขณะเดียวกันหากไม่มีแผนชุมชนจะทำให้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรมุ่งนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่สามารถดูแลจัดการให้เกิดประโยชน์ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งในหลายจังหวัดก็มีการรับแผนแม่บทชุมชนนำไปต่อยอด

 

 

นายผจญ พูลด้วง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลคอรุม เป็นแกนนำในการร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. โดยมุ่งเน้นกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมกำหนดแนวทาง ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และติดตามประเมินผล โดยมีการจัดทำแผนชุมชนเพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นและยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยเก็บข้อมูลจากการวิจัยวิชุมชน (RECAP) และจากระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) เพื่อจัดทำแผนชุมชน พบปัญหาและความต้องการของชุมชนจำนวนมาก ทั้งปัญหาหนี้สิน ปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากนั้นมีการจัดเวทีการคืนข้อมูลสู่ชุมชนด้วยกระบวนการประชาคม มีการสัญจรไปในแต่ละหมู่บ้านเกิดการร่วมฟัง ร่วมคิด ร่วมจัดการปัญหาด้วยตนเอง และลงมติหาแนวทางการแก้ปัญหาจนได้แผนพัฒนาชุมชน ซึ่งกระบวนการทำแผนทำให้ประชาชนตระหนักเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหา โดยเริ่มจากครอบครัวตัวเอง ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขตั้งแต่ยังไม่เกิดแผนชุมชนด้วยซ้ำ

 

 

 

  "อย่างปัญหาหนี้สิ้นมาจากการทำเกษตร ต้องซื้อปุ๋ย ยา สารเคมี ก็มีการร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต โดยการปลูกพืชผสมผสาน ปลูกผักสวนครัว ก็เป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง ในระดับตำบลเมื่อมีแผนชุมชนก็เกิดการสนับสนุนและส่งเสริมอาชีพ ภายใต้การดูแลส่วนสวัสดิการสังคม มีการส่งเสริมรวมกลุ่มอาชีพ สำหรับผู้สูงอายุ สตรี ผู้พิการ มีการอบรมอาชีพ เกิดการรวมกลุ่มการผลิตสินค้า เช่น กลุ่มทำกล้วยตาก กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านคลองกล้วย เป็นต้น รวมถึงหาตลาดรับซื้อสินค้า และมีร้านค้าสวัสดิการชุมชนตำบลคอรุม ร่านค้า OTOP รองรับการจำหน่ายสินค้า ซึ่งการทำตามแผนชุมชนเป็นการใช้ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก ทำให้สามารถแก้ปัญหาของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างชุมชนเข้มแข็งน่าอยู่" นายผจญ กล่าว

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก