ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือสสค. ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดการเสวนาแม่ฮ่องสอนโมเดล

วันที่ลงข่าว: 09/11/15

สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือสสค. ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดการเสวนาแม่ฮ่องสอนโมเดล สู่การยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้เด็กพิการสู่การพัฒนาคนทุกช่วงวัย อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน

เมื่อวานนี้( 5 พฤศจิกายน 2558)สสค. จัดการเสวนาแม่ฮ่องสอนโมเดล สู่การยกระดับการพัฒนาการเรียนรู้เด็กพิการสู่การพัฒนาคนทุกช่วงวัยโดยการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยระบบสารสนเทศ ที่ศูนย์ส่งเสริมและจัดสวัสดิการสังคมระดับชุมชนแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีนายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นางนฤมล ปาลวัฒน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. นายเอนก ไชยวงค์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนร่วมเวที

รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากทุกภาคส่วนเพื่อดูแลเด็กและผู้สูงวัยด้อยโอกาสนั้น ไม่อยากให้มองเป็นการสงเคราะห์แต่ต้องหาวิธีการที่สร้างความเข้มแข็ง และสร้างตระหนักให้คนแม่ฮ่องสอนว่าชาวแม่ฮ่องสอนทุกคนรวมถึงคนพิการสามารถสร้างประโยชน์ให้แผ่นดินได้ การเปิดศูนย์ฯครั้งนี้จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการทำงานบูรณาการร่วมกัน

ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าวว่า จากสถิติประเทศไทยมีประชากรพิการทั้งประเทศ 1,859,200 คน พบผู้พิการในแม่ฮ่องสอนจำนวน 6,066 คน คิดเป็น 0.33% และ โดยพบการพิการในวัยเรียนจำนวน 100 คน ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานจากหน่วยงานภาครัฐ จึงเป็นที่มาของการค้นหานวัตกรรมช่วยเหลือเด็กพิการ จนเป็นที่มาของการเกิด “แม่ฮ่องสอนโมเดล” ซึ่งมีจุดเด่นในการใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศส่งต่อข้อมูลเด็กพิการด้อยโอกาสอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน โดยความร่วมมือของสสค.และม.นเรศวร ทำให้เด็กพิการด้อยโอกาสจำนวน 300 คนถูกค้นพบและได้รับโอกาสขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กพิการทางการศึกษาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในปี 2558 ทั้งนี้ได้มีการขยายผลการทำงานตั้งแต่การเปิดศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กพิการด้อยโอกาสแบบมีส่วนร่วมในอำเภอแม่สะเรียง อำเภอปาย และอำเภอปางมะผ้า และล่าสุดในวันนี้มีการยกระดับการบูรณาการเพื่อคนทุกช่วงวัยด้วยการเปิด “ศูนย์ส่งเสริมและจัดสวัสดิการสังคมระดับชุมชนแม่ลาน้อยและห้องศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กพิการด้วยโอกาสแบบมีส่วนร่วมอำเภอแม่ลาน้อย” ขึ้น เพื่อดูแลเด็กพิการในอำเภอแม่ลาน้อยเพิ่มขึ้นอีก 24 คน โดยเป็นครั้งแรกที่เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเด็กพิการและผู้พิการร่วมกับพมจ.แม่ฮ่องสอนเพื่อการดูแลและพัฒนาคนทุกช่วงวัย

นางนฤมล ปาลวัฒน์ กล่าวว่า ในฐานะอดีตผู้ว่าราชการ จ.แม่ฮ่องสอน พบว่า เด็กแม่ฮ่องสอน 5 คน จะเด็กพิเศษ 1 คน ครั้งแรกที่เริ่มทำงานนั้น ไม่เคยคิดว่า ต้องได้รับความสนใจจากส่วนกลาง จากองค์กรต่างประเทศ แต่ต้องการเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ในฐานะที่เราเป็นแม่ เมื่อลูกเกิดมาเป็นเด็กพิเศษ เราต้องเสียกำลังคนดูแล ในความคิดของคุณยายผู้ว่าฯ จึงคิดว่าเราน่าจะช่วยเหลือกัน จึงเป็นที่มาในการสร้างแม่ฮ่องสอนโมเดล และการขยายผลการทำงานต่อเนื่องยั่งยืนต่อเนื่อง

ทั้งนี้ยังมีการลงบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการจัดตั้งห้องเรียนเพื่อพัฒนาเด็กพิการด้อยโอกาสแบบมีส่วนร่วมระหว่างเทศบาลแม่ลาน้อย อำเภอแม่ลาน้อยกับศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนด้วย พร้อมกับการเปิดศูนย์ส่งเสริมและจัดสวัสดิการสังคมระดับชุมชนแม่ลาน้อย และห้องศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กพิการด้อยโอกาส แบบมีส่วนร่วม อำเภอแม่ลาน้อย

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก