ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

แพทย์ มหาวิทยาลันขอนแก่น คิดค้น แอปพลิเคชัน Stroke KKU ลดความเสี่ยงจากการเกิดอัมพาต ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และเหมาะสำหรับคนไทยในยุคสังคมดิจิตอล

วันที่ลงข่าว: 02/11/15

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าเครือข่ายบริการโรคหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกว่า โรคอัมพาต เป็นโรคที่พบบ่อย และก่อให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตสูง ปัจจุบันโรคอัมพาตเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของประเทศไทย เป็นสาเหตุของความพิการอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก ซึ่งโรคที่ทำให้หลอดเลือดสมองแข็งตัวนั้น มีสาเหตุมาจาก ผู้ป่วยอาจจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคไขมันในเลือดสูงยู่แล้ว รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และภาวะอ้วน ทั้งนี้พบว่าคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปี ขึ้นไป จะพบ 1,880 คน ต่อประชากร 100,000 คน หากให้คิดง่ายๆ ก็คือ ทุก 4 นาที มีคนไทยซึ่งเป็นโรคอัมพาต 1 คน และทุกๆ 10 นาที มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคอัมพาต 1 คน การรักษาที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้เกิดโรค แต่หากเกิดโรคแล้วต้องรีบเข้าสู่ระบบบริการ Stroke Fast Track หรือทางด่วนโรคหลอดเลือดสมองให้เร็วที่สุด คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำภายในระยะเวลา 270 นาที นับตั้งแต่มีอาการ ผู้ที่มีอาการสงสัยว่าเป็นโรคอัมพาต ต้องรีบเข้ารักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งทุกโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยมีความสามารถในการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าที่ผ่านมามีคนไทยที่รู้จักโรคอัมพาตและวิธีการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้น้อยมาก ทำให้คนไทยที่เป็นโรคอัมพาตนี้ 100 คน สามารถมาทันและได้รับการรักษาด้วยวิธีใหม่นี้เพียง 4 คน กลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีแนวคิดผลิตเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักโรคอัมพาต และวิธีรักษามากขึ้น นั่นคือ แอปพลิเคชัน Stroke KKU ซึ่งคุณสมบัติพิเศษของแอปพลิเคชันนี้ มีทุกสิ่งที่เกี่ยวกับโอกาส ความเสี่ยงเป็นโรคอัมพาต มีวิธีกรอกข้อมูลง่ายๆ หลังจากที่ประเมินความเสี่ยงแล้ว เราก็จะเข้าไปลงทะเบียนข้อมูลว่า เราเป็นใคร เลข 13 หลักคืออะไร เบอร์โทรศัพท์อะไร แล้วก็เบอร์โทรศัพท์ของญาติที่ใช้ติดต่อกรณีฉุกเฉินคือใคร

นอกจากความรู้เรื่องคัดกรองสุขภาพแล้ว แอปพลิเคชัน Stroke KKU นี้ยังประกอบด้วยประโยชน์ อีก 2 ข้อ คือมีข้อมูลให้เราค้นหาได้ว่า เวลาที่เราเจ็บป่วยอยู่ ณ จุดใดของประเทศ แอปพลิเคชันนี้จะแจ้งว่าโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด ณ ขณะนั้นคือโรงพยาบาลอะไร อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุกี่กิโล พร้อมเบอร์โทรศัพท์สามารถติดต่อได้ ผู้ป่วยสามารถกดเข้าไปที่ในแอปพลิเคชันนี้ โทรได้ทันที และอีกหนึ่งข้อดี คือว่า หากเกิดเหตุเกิดฉุกเฉินขึ้น และผู้ป่วยอยู่คนเดียว ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ เรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 ได้ เมื่อผู้ป่วยกดเข้าไปในฟังก์ชันของแอปพลิเคชัน 1669 จะมีข้อมูลของเราไปปรากฏที่หน้าจอของ 1669 ทุกจังหวัดในประเทศไทย ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์สั่งการอยู่ 1 ที่ ซึ่งจะจะกำหนดไว้ และมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง หากกดแอปพลิเคชันนี้ที่จังหวัดขอนแก่น ข้อมูลผู้ป่วยที่ได้ลงข้อมูลไว้ ก็จะไปปรากฏขึ้นที่ศูนย์สั่งการ 1669 ของจังหวัดขอนแก่น ทันที และกดที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์สั่งการ 1669 ก็จะเปิดดู และสามารถสั่งการให้รถพยาบาลไปรับ ณ จุดเกิดเหตุ นำส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันเวลา” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน stroke fast track นี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มวิจัยโรคหลอดเลือดสมองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วก็มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งสำนักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เนื่องจากว่าแอปพลิเคชันนี้จะต้องผสานร่วมกับศูนย์สั่งการ 1669 ทั่วประเทศไทย ซึ่งสามารถดาวโหลดได้ทั้งในระบบแอนดรอย และ ios โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น การนำสมาร์ทโฟนที่เป็นอุปกรณ์ใกล้ตัวเรา มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ หากคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคอัมพาตมากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาที่เป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างรวดเร็ว เหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ป่วย และเป็นสิ่งที่คุ้มค่าของการใช้สมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่น (Application) ช่วยชีวิต Stroke KKU น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่น้อย สำหรับคนไทยในยุคสังคมดิจิตอล ขอให้ทุกคนที่มีความเสี่ยงมีสมาร์ทโฟน โหลดเก็บไว้ฉุกเฉินจะสามารถช่วยชีวิตท่านและคนใกล้ตัวห่างไกลโรคอัมพาตได้

ที่มาของข่าว สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก