ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คุณภาพชีวิต'คนพิการ' ยกระดับ เรื่องที่ทำไม่ง่าย

วันที่ลงข่าว: 26/10/15

กว่า 8 ปีแล้วที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ถูกประกาศใช้ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ต้องการทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น โดยเฉพาะการ “มีงานทำ-มีรายได้-ไม่เป็นภาระสังคม” ดังเช่นในบทบัญญัติ มาตรา 33 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกกฎกระทรวงกำหนดว่าสถานประกอบการขนาดเท่าใดต้องจ้างคนพิการเข้าทำงานส่วนสถานประกอบการใดไม่สามารถทำได้หรือไม่ประสงค์จ้างคนพิการเข้าทำงาน มาตรา 34 ก็ให้ส่งเงินสมทบแทน

 

เป็นที่มาของ กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2554 เพื่อให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้จริง เช่น ข้อ 3 กำหนดสัดส่วนลูกจ้างคนปกติกับคนพิการไว้ที่ 100 ต่อ 1 และ ข้อ 5 สำหรับนายจ้างที่ประสงค์จะส่งเงินสมทบแทนการจ้างงานคนพิการ ให้ส่งตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำล่าสุด คูณด้วย 365 วันหรือ 1 ปี และคูณด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน เป็นต้น

 

ทว่าในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยมากมายที่ทำให้คนพิการจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว เช่นที่ นายบุญธาตุ โสภา ผู้แทนจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวในงานเวทีสาธารณะ “ม.33 ให้สิทธิในการจ้างงานคนพิการแค่ไหน” เมื่อปลายเดือน ก.ย.2558 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ถึง 2 ด้านที่เป็นอุปสรรคสำคัญ

 

คือ 1.ความพร้อมของคนพิการเอง เนื่องด้วยกฎหมายนี้เพิ่งออกมาในปี 2550 หรืออายุได้แค่ 8 ปีเท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้คนพิการจำนวนมากขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองของตัวคนพิการเอง ไม่ส่งเสริมให้เรียนหนังสือสูงๆ เพราะมองว่า “เรียนไปก็คงไม่มีใครจ้างเข้าทำงาน” ทำให้ปัจจุบันมีคนพิการบางส่วนเท่านั้นที่มี “งานดี-รายได้มั่นคง” เพราะมีวุฒิการศึกษาหรือทักษะวิชาชีพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่วนคนพิการที่เหลืออีกมากมายยังถือว่าน่าห่วง

 

“ถามว่าคนพิการพร้อมจะกระโจนเข้าตลาดแรงงานทั้งหมดไหม? ไม่ครับ!..ใครเกิดมาพิการพ่อแม่จะไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ อย่าเรียนเลยลูกไปเรียนลำบาก อย่าเรียนเลยลูกไม่มีสตางค์ หรือเรียนไปต่อให้จบดอกเตอร์ก็ไม่มีใครจ้างแกทำงานหรอก ฉะนั้นคนพิการไทยในอดีตไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือ ดังนั้นความพร้อมจึงยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ” นายบุญธาตุ กล่าว

 

กับ 2.ทัศนคติของนายจ้าง ผู้แทนจาก พม. รายนี้กล่าวถึงนายจ้างบางส่วนที่ยังไม่เชื่อว่าคนพิการสามารถทำงานบางอย่างได้เทียบเท่ากับคนปกติทั่วไป ดังนั้นต่อให้คนพิการจบการศึกษาสูง นายจ้างกลุ่มนี้ก็ยังคงไม่จ้างเข้าทำงานเช่นเดิม

 

“อุปสรรคสำคัญอีกอย่างคือความคิดของนายจ้างก็ดี ของฝ่ายบุคคลก็ดี คือคิดว่าคนพิการทำงานไม่ได้ คนพิการคือคนป่วย เมื่อคิดเช่นนี้มันก็จะกลายเป็นกำแพง ต่อให้มีกฎหมายต่อให้ปรับภาษีก็ยังต้องจ่าย เพราะเชื่อว่าคนพิการทำงานไม่ได้” ผู้แทนจาก พม. รายนี้ ระบุ

 

และเพราะข้อจำกัดเหล่านี้ บางครั้งก็ทำให้คนพิการ “ถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายบุญธาตุเล่าถึงการที่เคยส่งชุดสืบสวนไปตรวจสอบ หลังได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการ “สวมสิทธิ์” โดยผู้ประกอบการบางรายใส่ชื่อคนพิการในลักษณะ “ยอดผี” ไม่มีตัวตนคนพิการนั้นอยู่จริง เพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กฎหมายให้ หรือบางทีก็ไป“บีบ” ให้คนพิการยอมลงชื่อเพื่อแลกกับ “เศษผลประโยชน์” ที่น้อยนิดกว่าตามที่กฎหมายให้สิทธิคนพิการไว้ก็มี ซึ่งคนพิการก็ต้อง “จำยอม” เพราะไม่เคยรู้ว่ามีกฎหมายนี้ให้ความคุ้มครองตนอยู่ด้วย

 

“หลายบริษัทเราตรวจเจอว่าไม่ได้มีการจ้างคนพิการจริงคนพิการถูกหลอกครับ แม้แต่การใส่ชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการก็พาไปกันหลอก ใส่รายชื่อฉันเป็นผู้ดูแลสิฉันจะให้เดือนละห้าร้อยแล้วผู้ดูแลปลอมเหล่านี้ก็ไปอ้างใช้สิทธิ์สัมปทานตามบริษัทต่างๆ เดินสายขายของหลายจังหวัด อย่างนี้เป็นต้น”

 

นายบุญธาตุยกตัวอย่างการสวมสิทธิ์ ซึ่ง มาตรา 35 ของกฎหมายฉบับนี้ ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ทำกิจการบางประเภทเพื่อผู้พิการ เช่น การฝึกอาชีพ การจัดหาล่ามภาษามือ การจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น เพราะตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาพบว่ามีคนพิการที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

“วันนี้กฎหมายนี้กับกฎหมายของกระทรวงศึกษาฯกำหนดแล้วครับ วันนี้คนพิการไทยเดินพาเหรดเข้าไปเรียนหนังสือกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ตอนนี้กระทรวงศึกษาฯเขามีทุนให้ไม่ต้องไปกู้ วันนี้คนพิการไทยกำลังจะมีคุณภาพแล้ว ในวันข้างหน้าเขาจะจบออกมาเป็นบัณฑิต เป็น ปวส. ฉะนั้นเรื่องของคุณวุฒิการศึกษาจะน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนจำนวนคนพิการที่เข้าเรียนก็จะมากขึ้น” นายบุญธาตุ กล่าวย้ำ

 

ถึงกระนั้นก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนพิการ เช่น ระบบขนส่งมวลชนไทยที่ไม่ค่อยจะเอื้อต่อการเดินทางของคนพิการเท่าใดนัก รวมถึงอาคารจำนวนไม่น้อยไม่ได้ออกแบบเผื่อไว้สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตของคนพิการ ที่เรียกว่า

“อารยสถาปัตย์” (Universal Architect) ซึ่ง นายสุภรธรรม มงคลสวัสดิ์ ผู้แทนจากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการไทย เสนอแนะว่า น่าจะมีมาตรการออกมาจูงใจหรือเอื้อให้เจ้าของอาคารไม่ว่าอาคารเก่าเดิม หรืออาคารใหม่ที่เตรียมจะก่อสร้าง หันมาก่อสร้างโดยคำนึงถึงคนพิการมากขึ้น

 

“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เขาส่งเสริมให้สถานประกอบการต้องเปิดกว้างรับทุกคนเข้าทำงาน เอาละถ้าเป็นสถานประกอบการที่มีมานานแล้ว ไม่ได้เตรียมอาคารสถานที่ไว้ เราจะไปบีบบังคับวันนี้นาทีนี้มันก็คงไม่เป็นธรรม แต่มีช่วงเวลาไหม? แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการใหม่ๆ ที่มีการก่อสร้างใหม่ ก็ควรจะมีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม”

 

นายสุภรธรรมฝากทิ้งท้ายถึง “ระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน” และกล่าวเสริมด้วยว่านอกจากอาคารสถานที่ที่เอื้ออำนวยแล้ว จะทำอย่างไรให้คนพิการอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา อันเป็นผลตกค้างมาจากช่วงก่อนหน้าที่ยังไม่มีกฎหมาย

ฉบับนี้ เข้าถึงโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองเพื่อให้เลี้ยงชีพได้อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

 

เป็นอีกเรื่องที่ “สังคมไทย” ต้องช่วยกันคิด!!! 

 

SCOOP@NAEWNA.COM

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์แนวหน้าออนไลน์ วันที่ 23 ตุลาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก