ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

“ฝันเห็น Thailand for the Blind” ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ ผู้จุดประกาย “ศิลปะเพื่อคนตาบอด”

วันที่ลงข่าว: 08/10/15
 ART EYE VIEW---หลายปีก่อน “จากตาเราสู่ใจเขา” นิทรรศการศิลปะเพื่อคนบอด ที่เคยจัดขึ้น ณ Terminal21 เมื่อปี 2555 (ปีเดียวกับที่ประเทศไทยได้มีการจัด งานประชุมสมัชชาสหภาพคนตาบอดโลก ครั้งที่ 8) ซึ่งเป็นการนำผลงานภาพถ่ายของช่างภาพมืออาชีพ มาถ่ายทอดผ่านงานประติมากรรมนูนต่ำ เพื่อให้คนตาบอดได้มีโอกาสสัมผัส 
 
       ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรือง
        ทำให้หลายคนได้รู้จัก ผศ.ดร.สุกรี สินธุภิญโญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อนๆ ผู้มีความชื่นชอบในการถ่ายภาพ และมีส่วนผลักดันให้เกิดนิทรรศการในครั้งนั้น ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ เพราะนอกจากจะช่วยเติมเต็มความสุขให้กับคนตาบอด ยังได้รับความสนใจและเสียงชื่นชมจากคนทั่วไป รวมถึงสื่อมวลชนหลายแขนง ที่พร้อมใจกันนำเสนอเรื่องราว 
 
  จาก “เสียงในความงียบ” สู่ “ศิลปะเพื่อคนตาบอด”
       
        จากจุดเริ่มเล็กๆเพียงแค่ ผศ.ดร.สุกรี ได้รับแรงบันดาลใจจากการเปิดดูคลิปรายการหนึ่ง 
       
        “ปกติผมเป็นคนที่มีนิสัยชอบเปิดดูคลิปนู้นคลิปนี้ แล้ววันนั้นเผอิญไปเปิดดูคลิปหนึ่งอยู่นานมาก และชอบมาก เปิดดูเกือบ20 รอบ
       
        เป็นคลิปของรายการคุณพระช่วย ที่ใช้เพลง 'เสียงในความเงียบ' ของ พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) มาประกอบ"
       
        ในความเงียบนั้น ถ้าเธอยังอยากจะได้ยินเสียง ขอเพียงเธอเปิดใจไว้ หัวใจเธอจะได้ยิน
       
        มันอาจเป็นเสียง ที่เธอไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน เสียงนั้นดังมาจากความงามแท้จริง
       
        ผู้คนมากมาย โหยหวนครวญคร่ำพึมพำร่ำร้อง เสียงดังขันแข่งแย่งฟ้อง ตะโกนบ่นกันไม่ฟัง
       
        จะมีบ้างไหม ใช้ความเงียบมาพูดกันสักครั้งหนึ่ง แล้วลองฟังดูว่าข้างใน ได้ยินเป็นเสียงอะไร
       
        * สุ้มเสียงดังเบา ร้อยเรียงถ้อยคำ สูงๆต่ำๆเกิดทำนองของเพลง
       
        แต่เสียงที่เพราะหนักหนา งดงามยิ่งกว่าทุกสรรพสำเนียง นั่นก็คือ เสียงที่ดังจากหัวใจ
       
        ** ในความเงียบนั้น ถ้าเธอยังอยากจะได้ยินเสียง ขอเพียงเธอเปิดใจไว้ หัวใจเธอจะได้ยิน
       
        อยากให้ฟังเสียง ที่เธอไม่เคยได้ยินสักครั้งหนึ่ง เสียงที่ดังมาจากดวงตาของคนที่เขา จริงใจ
       
        ( * , ** )
       
        เสียงที่ดังมาจากดวงใจของคนที่รัก เธอจริง 
       
        “พี่จิกแต่งเพลงนี้แล้วบอกว่า เพลงนี้ไม่ได้ฟังด้วยหู แต่สัมผัสด้วยใจ ผมดูอยู่ หลายรอบจึงเกิดความคิดว่าถ้าเราจะจัดนิทรรศการอีกสักครั้ง ทำไมเราไม่จัดให้คนตาบอด
       
        เพราะถ้าพี่จิกแต่งเพลงให้คนหูหนวกฟังได้ ทำไมเราจะถ่ายภาพให้คนตาบอดดูไม่ได้” 
 
  เวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ กำลังคิดที่จะจัดแสดงนิทรรศการแสดงภาพถ่ายครั้งที่ 2 ของกลุ่ม
       
        แต่แล้วทุกคนก็พร้อมใจกันเปลี่ยนจากการนำผลงานภาพถ่ายของตนเองไปจัดแสดงในแกลเลอรี่ดังเช่นครั้งแรก มาร่วมแรงร่วมใจกันจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด
       
        นอกจากผลงานภาพถ่ายของ ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ ความตั้งใจดี ยังได้รับความร่วมมือจาก สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่คัดสรรผลงานภาพถ่ายของช่างภาพมืออาชีพในสังกัดของสมาคมฯ มาร่วมด้วยช่วยกัน อาทิ ยรรยง โอฬาระชิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพถ่าย) ปี 50 ,วรนันท์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(ภาพถ่าย) ปี 52,สมศักดิ์ พัฒนพิฑูรย์ ฯลฯ
       
        นอกจากนี้ยังเป็นที่ปลื้มปิติสำหรับ ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ เพราะในจำนวนภาพถ่ายที่ สมาคมฯคัดสรรมาให้มี ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมอยู่ด้วย
       
       หลังจากนั้นภาพถ่ายทั้งหมดจึงถูกนำไปเป็นแบบเพื่อปั้นออกมาเป็นผลงานประติมากรรมนูนต่ำ เทคนิคปูนปั้น นำโดย อาจารย์มานะ เอี่ยมวัฒนะ และนักศึกษา จากภาควิชาประติมากรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะที่ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ปี 2549 รับหน้าที่เป็นผู้ปั้นประติมากรรมนูนต่ำ ซึ่งมีภาพต้นแบบเป็น ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
       
        อย่างไรก็ตามเพื่อให้แน่ใจว่าคนตาบอดจะได้รับประโยชน์จากผลงานศิลปะที่ทำขึ้น ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ ยังไปขอคำปรึกษาจาก กิตติพงษ์ สุทธิ ผู้อำนวยการจากสถาบันวิจัยเพื่อคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
       
        “เพราะพวกเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เราทำออกมา คนตาบอดชอบมันไหม รับรู้ได้แค่ไหน ก่อนจัดนิทรรศการพวกเราในกลุ่มจึงไปหาพี่กิตติพงษ์ ซึ่งแกตาบอด ตอนอายุ 16-17 ปี ถามพี่กิตติพงษ์ว่า ถ้าเราทำประติมากรรมนูนต่ำขึ้นมาให้พี่สัมผัส พี่จะรับรู้ได้ไหม 
       
        พี่กิตติพงษ์ไม่ตอบ แต่เปิดลิ้นชัก แล้วหยิบสิ่งหนึ่งขึ้นมามีลักษณะคล้ายกระดาน ด้านบนฉลุ เป็นรูปหอไอเฟล ด้านล่างเป็นแผ่นเรียบๆ แล้วบอกกับพวกเราว่า อาจารย์ ..ถ้าไม่มีรูปนี้ผมไม่รู้หรอกนะว่า สามเหลี่ยมของหอไอเฟล เป็นยังไง 
       
        จึงทำให้พวกเราเชื่อว่า ศิลปะที่ทำขึ้น คนตาบอดจะต้องสัมผัสและรับรู้ได้ ถึงแม้ว่ามันจะแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ก็ตาม แต่ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรเลย มันก็คือศูนย์ใช่ไหม พวกเราก็เลยคุยกันว่า เอาวะ กี่เปอร์เซ็นต์ก็เอา” 
       
        ในที่สุด นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอดที่ ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ ร่วมกันจัดขึ้นครั้งแรกและร่วมกันลงขันเป็นเงินคนละ 5,000 บาท ก็ได้ถูกจัดขึ้นที่ Terminal21 โดยเจ้าของสถานที่เอื้อเฟื้อสถานที่ให้จัดนิทรรศการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 
       
        แม้จะเหนื่อยและหมดพลังไปกับทุ่มเทในการจัดนิทรรศการ แต่ก็เป็นสิ่งที่สร้าง ความสนุก ความสุขและความภูมิใจให้กับ ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ เป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่เสียงตอบรับที่ดีจากคนตาบอด ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน ดังที่กล่าวมาข้างต้น 
       
       พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ยังเสด็จไปทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ และก่อนเสด็จกลับ ตรัสว่า 
       
        “เราชอบ ปีหน้าเราจะมาอีก” 

โยชิมิ โฮริอุจิ คนตาบอดผู้ก่อตั้งโครงการ คาราวานหนอนหนังสือ
 

  ปั้นในสิ่งที่คนตาบอดฝันอยากเห็น

       
       ต่อมา นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ได้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.สุกรี และเพื่อนๆ จากจุฬาฯ และทีมประติมากร จากศิลปากร ได้รับความร่วมมือเรื่องภาพถ่ายจาก สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มาเป็นแบบเพื่อปั้นเป็นประติมากรรมนูนต่ำด้วย และยังเป็นปีที่ได้มีการนำ 'ภาพวาด' มาเป็นแบบในการปั้นด้วย 
       
       นอกจากนี้นิทรรศการซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ตามฝันสุดขอบฟ้า” ยังได้รับการสนับสนุนจาก กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
       
       “เพราะจากการจัดนิทรรศการในปีแรก มีน้องน้องพิซซ่า จากโรงเรียนสอนคนตาบอดที่กรุงเทพฯ ที่เวลานี้ได้ข่าวว่าเขาไปอยู่ที่เชียงใหม่แล้ว เขาบอกกับพวกเราว่า ผมอยากเห็นเรือยยอร์ช กับรถโรสรอยส์
       
       เพื่อนในกลุ่มก็เลยบอกว่าไม่ว่าน้องอยากจะเห็นอะไร ไกลแค่ไหน พี่จะตามไปถ่ายมา แล้วปั้นมาให้น้องสัมผัสให้ได้ ตรีมในการจัดนิทรรศการปีที่ 2 จึงมีชื่อว่า ตามฝันสุดขอบฟ้า”
       

        ประกวดศิลปะเพื่อคนตาบอด

       
       ต่อมา นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ปีที่ 3 ได้ถูกจัดขึ้น ณ จัตุรัสจามจุรี ภายใต้แนวคิด "ความสุข...ที่สัมผัสได้”
       
        สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากปีก่อนๆคือ ผลงานประติมากรรมนูนต่ำที่ถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ เป็นผลงานที่ได้จากการเชิญชวนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้ามาประกวด
       
       “เพราะปีที่ 3 เราเริ่มมีปัญหาขาดประติมากรที่จะมาช่วยปั้น ทางพี่เล้ง หรืออาจารย์มานะ ก็เลย แนะนำให้จัดประกวด แต่งานที่ส่งประกวด ก็ยังเป็นประติมากรรมนูนต่ำ เทคนิคปูนปั้น ที่เป็นสีขาว ไม่มีสีสันอะไรเหมือนเดิม”
       
       จากการที่ค่อยๆสะสมข้อมูลเพื่อใช้ในการปรับปรุงนิทรรศการเรื่อยมา นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ปีที่ 4 ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ภายใต้แนวคิด “ความสุข...ที่สัมผัสได้ ท่องไปในอาเซียน”
       
       นอกจากจะเป็นผลงานศิลปะที่ผู้ส่งเข้าประกวดได้รับแรงบันดาลใจมากจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆในกลุ่มประเทศอาเซียน ผลงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อให้คนตาบอดได้สัมผัสในปีที่ ยังมีทั้งงานประติมากรรมนูนต่ำ และแบบลอยตัว รวมถึงมีการเติมสีสันให้กับชิ้นงาน
       ประติมากรรมนูนต่ำ ปั้นจากภาพถ่ายของช่างภาพมืออาชีพ

        ฝันเห็น Thailand for the Blind

       
       “ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราจัดนิทรรศการ จนกระทั่งครั้งล่าสุด เราพยายามที่จะเรียนรู้จากสิ่งที่เราจัดว่าผลตอบรับอย่างไร นิทรรศการครั้งที่ 3 มีคนตาบอดสองท่านที่มาชม ก่อนกลับบอกกับว่าพวกเขาอยากเห็นผลงานสีสัน เพราะมีคนตาบอดจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ตาบอดสนิทแต่เป็นตาบอดที่ยังมองเห็นเลือนลาง เราก็เลยเอาคำพูดเหล่านี้มาเก็บเล็กผสมน้อย จนกลายมาเป็นผลงานศิลปะในปีนี้ 
       
       นิทรรศการปีที่แล้ว(ปีที่ 3) เนื้อหาของผลงานศิลปะเกี่ยวกับ การท่องเที่ยวในประเทศไทย พอมาปีนี้(ปีที่ 4) จึงเป็นนิทรรศการที่เราชวนให้คนตาบอดมาสัมผัสว่า อาเซียนเป็นอย่างนี้ 
       
       เพราะเราก็ต้องการจะบอกกับสังคมนะครับว่า อย่าคิดว่าคนตาบอดไม่เที่ยวนะครับ ตัวอย่าง น้องโย (โยชิมิ โฮริอุจิ ผู้ก่อตั้งโครงการ คาราวานหนอนหนังสือ) ก็เพิ่งกลับจากบาหลี มีคนตาบอดหลายคนไปเที่ยวแบบอิสระ 
       
       แต่ที่ผ่านมาคนตาบอดส่วนใหญ่เวลาที่ไปเที่ยวเองหรือไปกับครอบครัว แต่ไม่มีโอกาสได้สัมผัสอะไร ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าต่อไป จิตรกรรมฝาผนัง 100 กว่าห้องในวัดพระแก้ว มีงานแบบ หนุมานอมพลับพลา ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่นำมาปั้นให้คนตาบอดได้สัมผัสในนิทรรศการครั้งที่ 4 คนตาบอดจะรู้เลยครับว่า หนุมานอมพลับพลาเป็นอย่างนี้นะ หรือแม้แต่เวลาไปวัดโพธิ์ ดอยสุเทพ หรือไปที่ไหนก็แล้วแต่ 
       
       ในอนาคตเราฝันอยากจะทำ Bangkok for the Blind และ Thailand for the Blind และวันหน้าถ้าผมยังไม่ตาย ก็คงอยากจะให้มี Thailand for All คือ ประเทศไทยที่คนทุกคนบนโลกนี้มาเที่ยวได้ อยากให้เป็นอย่างนั้น” 
       
       เมื่อถามว่าอะไรเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้อาจารย์สอนทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์คนหนึ่งที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพ รวมไปถึงเพื่อนๆ คิดจะจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอดต่อไป ผศ.ดร.สุกรี ตอบว่า
       
       “ประโยคเดียวเลยครับจากพี่ๆน้องๆที่เป็นตาบอด ...ปีหน้าเราจะมาอีก เราชอบ... มีคนตาบอดหลายคนที่เราไม่เคยนัดกันเลย แต่ทุกครั้งที่มีนิทรรศการเราจะได้เจอพวกเขาตลอด
       
       เนี่ยครับมันเป็นสิ่งที่เราคิดว่า อย่างน้อยๆ ถ้าเราไม่ทำ มันก็คือศูนย์ แต่ถ้าเราทำ เงินปีนึงไม่กี่ล้านบาท ของกรมการท่องเที่ยว ที่ใช้ไปทำอะไรก็ไม่รู้มากมายไปหมด ถ้าปีนึงจัดงบประมาณ 3 -4 ล้านบาท เพื่อให้คนตาบอดได้สัมผัสและมีความสุข และให้สังคมได้รับรู้ว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งนะลุกขึ้นมาจัดนิทรรศการแบบนี้ ขนาดเขาเป็นแค่คนธรรมดา เขายังลุกขึ้นมาจัดได้ 
       
       อยากให้มันเป็นเหมือนเมื่อตอนที่ผมดูคลิปเพลงของพี่จิก ผู้เป็นเจ้าของหินก้อนแรกที่โยนตุ้มลงไปแล้วเกิดแรงกระเพื่อมในน้ำ แล้วทำให้ผมรู้ว่า เฮ้ย ..เราก็ทำได้นี่ แล้วผมโยนหินของตัวเองลงไป เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นอีกหลายคนอยากโยนหินของตัวเองบ้าง จนมันเกิดเป็นแรงกระเพื่อมจำนวนมาก ที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมในวงกว้างต่อไป” 
 

 ชวนคนตาดี  " ปิดตา ชมศิลปะผ่านปลายนิ้ว"

       
       คนตาบอดหลายคนที่ไปชมนิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ขณะที่คนตาบอดประเภทแต่ “ตาบอดแต่กำเนิด” บอกว่า ผลงานศิลปะในนิทรรศการช่วยให้จินตนาการที่พวกเขามีต่อสิ่งต่างๆพัฒนาขึ้น ด้านคนที่ “ตาบอดภายหลัง” บอกว่า ผลงานศิลปะในนิทรรศการช่วยรื้อฟื้นความทรงจำที่พวกเขาเคยมีต่อสิ่งต่างๆ 
       
       ดังเช่น ดร.อิศวรา ศิริรุ่งเรือง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิชาฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และอาจารย์สอนวิชาอักษรเบรล์ ให้กับนักศึกษาระดับปริญญาโท ที่เป็นหนึ่งในจำนวนคนตาบอดที่มาชมนิทรรศการทุกปี และ จัดอยู่กลุ่มคนที่ตาบอดภายหลัง กล่าวว่า
       
       “ก่อนหน้านี้อาจารย์สายตาเลือนลางแต่กำเนิด แต่มองเห็นเยอะพอสมควร แล้วมาสายตามาแย่ภายหลัง
       
        ถ้าเป็นคนที่เขาตาบอกแต่กำเนิด บางทีเขาจะไม่มี Virtual Memory เวลามาชมนิทรรศการอาจต้องมีคนช่วยอธิบายให้ดูว่าตรงนี้คืออะไร
       
       แต่คนที่ตาบอดภายหลังเขาก็จะมีความทรงจำ ว่าไอ้สิ่งต่างๆที่เคยเห็นมันเป็นอย่างไรบ้าง 
       
       สิ่งที่สนใจของนิทรรศการ ถ้าเราไปตามนิทรรศการศิลปะทั่วไป เราไม่สามารถจับผลงานได้ แม้จะมีคนอธิบายให้ฟัง มันก็ไม่เหมือนกับการที่เราสัมผัสได้เอง 
       
       เพราะสำหรับคนตาบอด นิ้วเป็นเหมือนดวงตาของคนตาบอด เป็นการรับรู้ข้อมูลทางหนึ่ง 
       
       ถ้าคนตาบอดมาชมนิทรรศการ เขาจะได้สัมผัสอะไรหลายอย่าง ที่ปกติเขาไม่สามารถจับจริงๆได้ เช่น สิ่งต่างไม่ว่าจะเป็น พระปรางค์,ช่อฟ้า ฯลฯ ของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว   (ผลงานศิลปะเพื่อคนตาบอดที่รับรางวัลชนะเลิศในปีล่าสุด) แต่ถูกจำลองมาให้เราจับนิทรรศการ เราจึงได้เข้าใจมากขึ้นว่าแต่ละอย่างมันเป็นอย่างไร
       
        แม้แต่คนทั่วไปอาจารย์ก็อยากชวนให้มาดู เพราะว่าศิลปะที่เราดูทั่วไป ส่วนใหญ่จะใช้ตามอง เราลองมามองศิลปะผ่านปลายนิ้วดูบ้างว่ามันจะเป็นอย่างไร มาลองปิดตาแล้วสัมผัสดู โดยการใช้นิ้วค่อยๆไล่ดู เราก็จะได้ชมศิลปะในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ให้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง”
       
       นิทรรศการศิลปะเพื่อคนตาบอด ครั้งที่ 4 “ความสุข...ที่สัมผัสได้ ท่องไปในอาเซียน” จัดแสดงระหว่างวันนี้ - 9 ตุลาคม พ.ศ.2558 ณ อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน 
        
        รายงานโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
 
ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 7ตุลาคม 2558
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181